Low Carbon Event ก้าวแรกสู่ความยั่งยืนของโลกสีเขียวในอนาคต: กรณีศึกษา SMC Open House

Facebook
Twitter

ผู้เขียน : จินตนา พัฒนาธรชัย (14 ธันวาคม 2566)

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างรุนแรง ภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จึงให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 การจัดอีเว้นต์ (กิจกรรมประชุม อบรม สัมมนา ฯลฯ) เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศ ดังนั้น การจัดอีเว้นต์แบบ Low carbon จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้

ทำความรู้จัก Low carbon event

Low carbon event คือ การจัดอีเว้นต์ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เน้นดำเนินการแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศ โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ทุกขั้นตอนจะต้องมีการวางแผน เพื่อให้เกิดการก่อคาร์บอนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยยังคงไว้ซึ่งความน่าสนใจของการจัดงานนั้น โดยอาจใช้แนวทางต่างๆ เช่น การบริหารจัดการพลังงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานหมุนเวียน การจัดการขยะและวัสดุเหลือใช้ เป็นต้น ทั้งนี้ Low carbon event ต่างจาก Carbon neutral event โดย Carbon neutral event หมายถึง การจัดงานที่มีเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยหลังจากการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการจัดงานทั้งหมด แล้ว จะชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาด้วยการปลูกต้นไม้หรือลงทุนในโครงการลดก๊าซเรือนกระจก (ซื้อคาร์บอนเครดิต) เพื่อให้ผลรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์นั่นเอง  ซึ่งทั้ง Low carbon event และ Carbon neutral event ล้วนก่อให้เกิดประโยชน์ที่หลากหลายด้าน อาทิ

ประโยชน์ของ Low Carbon event

ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม

  • ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการจัดงานอีเว้นต์ที่มีการคำนึงถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งส่วนของการจัดงาน
    การพักแรม การใช้เชื้อเพลิงสำหรับการเดินทางของผู้เข้าร่วมงาน การใช้พลังงานในการปรุงอาหาร การจัดการขยะ เพื่อให้เกิดความสิ้นเปลืองและผลกระทบน้อยที่สุด
  • ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พลังงาน น้ำ และป่าไม้ อันเนื่องจากลดการใช้แหล่งพลังงานต่างๆ ตัวอย่างเช่น ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง เพื่อเดินทาง หรือ การใช้ปริมาณไฟฟ้าลดลง ทำให้
    ลดการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ได้
  • ลดมลพิษทางอากาศ และเสียง เนื่องจากการจัดงานอีเว้นต์ มีกิจกรรมที่ต้องใช้เสียงจำนวนมาก อาทิ งานคอนเสิร์ต งานออกร้าน งานแสดงสินค้า เป็นต้น ประกอบกันการเข้าร่วมงานของผู้สนใจ หรือกลุ่มเป้าหมายของการผู้จัดงาน จำเป็นต้องอาศัยการเดินทางเข้าร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว หรือยานพาหนะอื่นๆ ล้วนจำเป็นก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศทั้งสิ้น การจัด  Low carbon event ที่มุ่งเน้นไปที่การลดกิจกรรมดังที่กล่าวมา ย่อมก่อให้เกิดการลดมลพิษต่างๆ ตามมาด้วย

ประโยชน์ต่อองค์กรหรือหน่วยงาน

  • สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่องค์กรมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ปล่อยปะละเลย หรือมุ่งเน้นแต่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ซึ่งขัดแย้งต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางของสหประชาชาติ และองค์กรต่างๆทั่วโลก
  • เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน จากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน ซึ่งในปัจจุบันแหล่งทุนต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศต่างให้ความสำคัญกับการดำเนินงาน หรือกิจกรรมในลักษณะ Low carbon ซึ่งสอดคล้องกับกิจกรรมเป้าหมายของ Sustainable Development Goals ที่สหประชาชาติกำหนดขึ้น หรือความสอดคล้องกับกองทุน SEG หรือกองทุนรวมเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสังคม (Sustainable and Environmentally Focused Fund) เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เป็นหลัก โดยกองทุนรวมประเภทนี้จะมีกลยุทธ์ในการลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) เช่น การลงทุนในบริษัทที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี การลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสังคม การลงทุนในบริษัทที่มีธรรมา
    ภิบาลที่ดี เป็นต้น
  • เพิ่มความคุ้มค่าต่อค่าใช้จ่าย จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานต่างๆ อย่างคุ้มค่า โดยคำนึงถึง ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนค่าใช้จ่ายทุกๆ 1 บาท เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น หรือการเลือกใช้พลังงานไฟฟ้า จากแหล่งผลิตจากธรรมชาติ เช่น พลังงานลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

ประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

  • สร้างแรงบันดาลใจ ทำให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม กิจกรรม Low carbon event แสดงให้เห็นว่าทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ กิจกรรมเหล่านี้สามารถสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คนเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และกระตุ้นให้ผู้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 
  • ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคม กิจกรรม Low carbon event สามารถสร้างงานและรายได้ให้กับธุรกิจและผู้ประกอบการที่ให้บริการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจการจัดการขยะและวัสดุเหลือใช้ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้จึงมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงให้กับสังคมได้

อยากจัดงานแบบ Low carbon event ต้องเริ่มอย่างไร

การจัดงานในรูปแบบของ Low carbon event เป็นการจัดงานที่มุ่งลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ลงจากระดับปัจจุบันให้ได้มากที่สุด โดยคำนึงถึงการเลือกใช้วิธีการ หรือรูปแบบการนำเสนอในลักษณะที่คำนึงถึงการลดคาร์บอนสูงสุด สำหรับหน่วยงานที่สนใจเริ่มต้นกิจกรรม Low carbon event นั้น สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ได้จัดทํา “แนวทางปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับการจัดงานอย่างยั่งยืน” ขึ้นเพื่อให้ผู้ที่มีความประสงค์จะจัดงานโดยคํานึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ สามารถใช้เป็นแนวปฏิบัติได้ง่ายในวงกว้าง โดยมีสาระสำคัญแบ่งออกเป็น 5 หมวดหลักต่อไปนี้

หมวด A การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ก่อนงาน ได้แก่ การประชาสัมพันธ์การจัดงานและแนวปฏิบัติด้านการจัดงานอย่างยั่งยืน ล่วงหน้าผ่านระบบดิจิทัลและออนไลน์ เป็นต้น

หมวด B สถานที่จัดงาน ได้แก่ เลือกสถานที่จัดงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านการ พัฒนาอย่างยังยืน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการจัดการพลังงาน  และการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะทำได้อย่างสะดวก เป็นต้น

หมวด C การตกแต่งสถานที่และจัดเตรียมอุปกรณ์ ได้แก่ การควบคุมอุณหภูมิ ณ สถานที่จัดงานอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส  เลือกใช้อุปกรณ์ตกแต่งเท่าที่จำเป็น และงดใช้ดอกไม้สดและวัสดุจากโฟม เป็นต้น

หมวด D อาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ จัดเตรียมอาหารให้ปริมาณที่เหมาะสม เลือกวัตถุดิบท้องถิ่น งดใช้หลอดและเครื่องปรุงแบบซอง และมีบริการน้ำดื่มในภาชนะรักษ์โลก เป็นต้น

หมวด E ระบบลงทะเบียน ได้แก่ เลือกใช้ระบบลงทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ใช้ QR code ในการเข้าถึงเอกสารต่างๆ เป็นต้น

หมวด F การจัดเตรียมอื่นๆ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ได้แก่ การแยกประเภทขยะ เลือกใช้ของที่ระลึกที่ผลิตจากชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวก ในท้องถิ่น  สนับสนุนให้ผู้ร่วมงานเดินทางร่วมกัน เป็นต้น

นอกจากแนวทางปฏิบัติฯ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น การคำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon footprint) เป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญที่จะยืนยันได้ว่า การจัดงานอีเว้นต์ที่ได้ดำเนินการไปนั้น สามารถลดคาร์บอนได้จริงหรือไม่ โดยในปัจจุบันเครื่องมือในการคำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นได้มีการพัฒนาขึ้นให้สามารถใช้งานได้อย่างง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถพิจารณาความสามารถในการลดปริมาณคาร์บอนเมื่อเปรียบเทียบกับค่าสำเร็จรูปที่เป็นผลลัพธ์จากการคำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ในบทความนี้จะนำเสนอเครื่องมือในการคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผ่าน “แอปพลิเคชัน Zero Carbon” ที่พัฒนาโดย Thailand Greenhouse Gas Management Organization สามารถใช้งานบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้ง iOS และ Android สำหรับผู้ประกอบการเพื่อใช้ในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการชดเชยคาร์บอนจากกิจกรรม ด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ (Mice) เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ จุดเด่นที่สำคัญของแอปพลิเคชัน คือ การเป็นแอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถชดเชยคาร์บอนผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าวได้ภายในแอปพลิเคชันเดียว ส่งผลให้สามารถสนับสนุนภาคส่วนต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ ในการวัด ลดและชดเชยคาร์บอน เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของภาคการท่องเที่ยวไทยในระดับสากล

ถอดบทเรียน SMC Open House 2023

ตัวอย่างภาคปฏิบัติของการจัดงานแบบ Low carbon event

จากกระแสการตื่นตัวในเรื่องโลกเดือด ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันลดอุณหภูมิของโลกให้ลดลงจึงเป็นสิ่งสำคัญ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) โดย ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ Sustainable Manufacturing Center (SMC) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริม สนับสนุนและเดินเคียงข้างอย่างยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการในภาคการผลิต ผู้พัฒนาระบบ นวัตกร นักวิจัยตลอดจนนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาศักยภาพของภาคการผลิตไทยได้อย่างยั่งยืน ได้จัดงาน “SMC Open House 2023” เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง โดยใช้ธีมงานว่า SMC OPEN HOUSE 2023 : SUSTAINABLE MANUFACTURING Paving the Way Towards Green Transformation การผลิตแบบยั่งยืน เส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่ “โลกสีเขียว” และได้นำเสนอรูปแบบการจัดงานในลักษณะ Low carbon event เพื่อสร้างความตระหนักทางด้านสิ่งแวดล้อมแก่ผู้เข้าร่วมงานกว่า 700 คน ควบคู่กับการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ทันสมัย รองรับการเติบโตทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ละเลยองค์ประกอบต่างๆที่นำไปสู่ความยั่งยืนต่อไป

สำหรับการดำเนินงานส่วน Low carbon event สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังต่อไปนี้ 

1. ขั้นตอนก่อนการจัดงาน

  1. จัดทำ Checklist การระบุกิจกรรมที่ดำเนินการ และผู้รับผิดชอบ สำหรับแนวปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับการจัดงานอย่างยั่งยืน
  2. มอบหมายผู้รับผิดชอบ และให้ความรู้ ตลอดจนทำความเข้าใจต่อแนวทางปฏิบัติที่ได้รับมอบหมาย
  3. จัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติฯ
  4. จัดเตรียมแบบสอบถามสำหรับการสำรวจการเดินทางฯ 
  5. จัดทำการประเมินคาร์บอนก่อนการเริ่มงานผ่านแอพพลิเคชัน Zero Carbon TH

2. ขั้นตอนระหว่างการจัดงาน

จัดเก็บข้อมูลตามหมวดต่างๆที่กำหนดไว้ในแอปพลิเคชัน Zero Carbon TH ได้แก่  แบบสำรวจการเดินทาง, การพักแรม, ของแจก / ของที่ระลึก, การขนส่งของจัดแสดง / ของตกแต่ง เป็นต้น  (ตารางที่ 1 ในเอกสารแนบ)

3. ขั้นตอนหลังการจัดงาน

  1. จัดเก็บข้อมูลตามหมวดต่างๆเพิ่มเติมตามที่กําหนดไว้ในแอปพลิเคชัน ได้แก่ อาหาร / เครื่องดื่ม, ขยะของเสีย, ไฟฟ้า ณ สถานที่จัดงาน เป็นต้น 
  2. วิเคราะห์ประมวลผลข้อมูล
  3. สรุปและนําเสนอผลการจัดงาน

โดยท่านสามารถดูข้อมูลที่ต้องจัดเตรียมในหมวดต่างๆ และการประมวลผลข้อมูลและผลลัพธ์เพิ่มเติมได้ใน “เอกสารเผยแพร่”

สนใจรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดาวโหลดเอกสารได้ ที่นี่

Low carbon event ก้าวแรกสู่ความยั่งยืนของโลกสีเขียวในอนาคต: กรณีศึกษา SMC Open House

การจัดงานในลักษณะ Low carbon event เป็นสิ่งที่หน่วยงานต่างๆ สามารถดำเนินการได้ไม่ยาก และยังแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดภาวะโลกร้อน หรือโลกเดือด  โดยอาจเริ่มต้นจากการจัดกิจกรรมหรืองานในลักษณะของLow carbon event ก่อนเป็นก้าวแรก หรือจะก้าวไปอีกขั้นด้วยการชดเชยคาร์บอนด้วยกิจกรรมในรูปแบบ Carbon neutral event เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจากกรณีศึกษา ทำให้สามารถสรุปองค์ประกอบสำคัญที่จะสามารถให้การจัดงานในลักษณะดังกล่าวบรรลุผลได้ อย่างน้อย 4 อย่างได้แก่ 1) องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแบบ Low carbon ต่างๆ ต้องทำการศึกษาและมีความพร้อม  2) นโยบายจากผู้บริหารองค์กรหรือผู้จัดกิจกรรมงานต้องชัดเจน 3) งบประมาณต้องพร้อมและเพียงพอสำหรับการจัดงาน และ 4) ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งข้อ 4 เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำให้การจัดกิจกรรมในลักษณะนี้บรรลุผล และจากจุดเริ่มต้นเล็กๆในวันนี้ จะนำไปสู่โลกสีเขียวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.micecapabilities.com/mice/uploads/attachments/25-Sustainable-Events-Basic-Guidelines.pdf สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2566
  2. https://thaicarbonlabel.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=WVhKMGFXTnNaUT09&action=WkdWMFlXbHM&param=TVRNPQ สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2566
  3. https://petromat.org/2022/carbon-neutral-events/ สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2566
  4. https://thaicarbonlabel.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=Wkc5M2JteHZZV1JmYjJabWMyVjBkR2x1Wnc9PQ สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2566