“WiMaRC” นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยุคใหม่

Facebook
Twitter
WiMaRC

 

เรียบเรียง | ศุภรา พันธุ์ติยะ

“ไวมาก” เป็นนวัตกรรมพร้อมใช้ของเนคเทคที่รวมเทคโนโลยี IoT Cloud Platform ของ NETPIE และบอร์ดสมองกล เข้าด้วยกัน เป็นตัวช่วยในการมอนิเตอร์และควบคุมสภาวะที่มีผลต่อการทำเกษตรกรรม โดยจะทำการจัดเก็บ จัดการข้อมูล อย่างเป็นระบบเพื่อให้เกษตรกรจัดการแปลงเพาะปลูกได้อย่างถูกต้อง แม่นยำและเหมาะสม

ไวมาก “WiMaRC” ย่อมาจาก Wireless sensor network for Management And Remote Control คือ ระบบตรวจวัดด้วยเซนเซอร์แบบเครือข่ายไร้สายเพื่อการจัดการและควบคุมอัตโนมัติ ทํางานภายใต้ platform IoT cloud ของ NETPIE แสดงผลแบบเรียลไทม์ผ่านเว็บแอปพลิเคชัน เป็นระบบการเก็บข้อมูลและ รูปภาพเพื่อนํามาวิเคราะห์ และบริหารจัดการพร้อมทั้งการติดตาม และสั่งการอัตโนมัติหรือด้วยตนเองแบบเรียลไทม์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต รองรับเซนเซอร์หลากหลายรูปแบบ ทั้งแอนะล็อก ดิจิทัล PWM* และ I2C พร้อมทั้งระบบเชื่อมต่อคลาวด์เซิร์ฟเวอร์ ด้าน IoT ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งระบบสร้างจากโปรแกรมโอเพ่นซอร์สทําให้ราคาย่อมเยาว์

*PWM : Pulse Width Modulation เป็นเทคนิคที่ทำให้เราสามารถอ่าน/เขียนข้อมูลแบบแอนะล็อกด้วยสัญญาณดิจิทัลได้
WiMaRC

 

ระบบไวมากดีอย่างไร

  1. สามารถติดตามผลการตรวจวัดค่าต่าง ๆ และรูปภาพผ่านเว็บแอปพลิเคชันแบบเรียลไทม์ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เพียงแค่มีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ได้ ก็สามารถดูข้อมูลได้ทันที
  2. สามารถสั่งเปิดและปิดอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ปั๊มน้ำ วาล์วน้ำ หลอดไฟ ประตูไฟฟ้า เป็นต้น ผ่านอินเทอร์เน็ตได้
  3. สามารถสร้างระบบอัตโนมัติที่ทํางานภายใต้เงื่อนไขเซนเซอร์ได้ เช่น การรดน้ำตามความชื้นดิน การเปิดและปิดไฟตามความเหมาะสมของแสง การเปิดและปิดอุปกรณ์ระบายอากาศตามอุณหภูมิและความชื้นของโรงเรือน เป็นต้น
  4. สามารถสร้างรูปแบบการเติบโตของพืช (CropPatterning) เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของพืชที่เหมาะสม สําหรับ การติดตามผลผลิตและวางแผนการตลาด
  5. สามารถติดตั้งและใช้งานได้จริงทั้งงานภายในและงานภายนอกเช่นในแปลงการเกษตร และอาคารสํานักงาน เป็นต้น
  6. สามารถถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ที่สนใจทุกภาคส่วน พร้อมทั้งสามารถพัฒนาระบบได้ โดยไม่มีลิขสิทธิ์ใด ๆ
WiMaRC

 

จุดประสงค์การพัฒนาระบบ

  1. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเก็บข้อมูลที่แท้จริงและเป็นระบบเพื่อการบริหารจัดการได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
  2. เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี IoTs ให้สามารถใช้งานได้จริงอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมกับประเทศไทย ทั้งการใช้งานและราคา
  3. เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตคลาวด์เซิร์ฟเวอร์ ทั้งส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ทําให้เกิดการสร้าง IoTs ได้ง่ายมากขึ้น
  4. เพื่อช่วยเกษตรกรในด้านการเก็บข้อมูลสิ่งแวดล้อมและความชื้นดิน สําหรับนํามาวิเคราะห์และจัดการแปลงได้อย่างเหมาะสม ทั้งด้านผลผลิตและโรคพืช

ฟังก์ชันการทํางานของระบบ

ตรวจวัดค่าต่าง ๆ ด้วยเซนเซอร์ประมวลผลด้วยไมโครคอนโทรเลอร์ส่งข้อมูล แบบไร้สายไปจัดการข้อมูลและ สั่งการด้วยคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และส่งค่าไปยังคลาวด์เซิร์ฟเวอร์เพื่อแสดงผล และจัดการแบบเรียลไทม์บนอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งส่งข้อมูลและรูปภาพไปยัง Data server ทั้งในและนอกพื้นที่เพื่อบันทึกค่า และนําค่ามาประมวลผล ย้อนหลังติดตามและดาวน์โหลดค่าต่าง ๆ แบบเรียลไทม์บนเว็บแอปพลิเคชัน

WiMaRC

 

WiMaRC

 

กลุ่มเป้าหมาย

  • ผู้ที่ต้องการเก็บข้อมูลในพื้นที่นั้น ๆ แล้วนําข้อมูลมาบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ถูกต้อง และเหมาะสม เช่น
    • การเก็บข้อมูลค่าความชื้นดินที่เหมาะสมที่พืชต้องการ ในกรณีน้ำแล้งในแต่ละรอบการปลูก แล้วนํามาวิเคราะห์จัดการควบคุมให้ได้ ผลผลิตที่ดีขึ้นหรือเท่าเดิม
    • การเก็บข้อมูลของอุณหภูมิในโรงเรือน เพื่อนําข้อมูลที่ได้มาปรับความสมดุลของระบบ ทําความเย็นให้สอดคล้องกับสภาพอากาศด้านนอก
  • ผู้ที่ต้องการระบบ IoTs เพื่อใช้ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านความปลอดภัย ด้านบริหารพลังงาน ด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ด้านธุรกิจและการศึกษา เป็นต้น

อยากใช้ระบบ ทำอย่างไร

เริ่มต้นจะต้องมีความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ในการเข้าถึงเว็บไซต์ แต่ถ้าจะเป็นผู้สร้างและดูแลระบบเองต้องมีความรู้ทั้งด้านซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ด้วย หากนอกเหนือจากนี้จะมีการทำได้ในหลายรูปแบบและมีเงินลงทุนต่างกัน ตัวอย่างเช่น

  1. สามารถทำได้เอง และใช้บริการ data server ฟรี
  2. สามารถทำได้เองแต่ต้องใช้บริการ data server เอกชน
  3. จ้างศูนย์ฯ ดูแล
  4. ทำเองได้ทั้งหมด แต่ต้องได้รับการอบรมจากศูนย์ฯ เป็นต้น

ด้วยความพร้อมของเทคโนโลยีและทีมวิจัยผู้พัฒนา WiMarC มีการนำไปใช้งานจริงในหลายแปลงเกษตร จึงการันตีคุณภาพ ได้ว่า WiMaRC : ไวมาก เป็นนวัตกรรมพร้อมใช้ที่ตอบโจทย์ประเทศด้านเทคโนโลยี 4.0 และเป็นตัวช่วยให้เกษตรกรยุคใหม่สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน รู้เท่าทันสภาพแวดล้อม และจัดการกับข้อมูลในการประมวลผลวิเคราะห์และสั่งการเพื่อจัดการกับแปลงเกษตรได้อย่างแม่นยำ

WiMaRC

 

วิจัยและพัฒนาโดย

ทีมระบบไซเบอร์-กายภาพ (CPS)
หน่วยทรัพยากรด้านการคำนวณและไซเบอร์-กายภาพ (NCCPI)
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.)

ติดต่อ

ดร.โอภาส ตรีทวีศักดิ์
อีเมล opas.trithaveesak[at]nectec.or.th
คุณมนตรี แสนละมูล
อีเมล montree.saenlamool[at]nectec.or.th
สอบถามเพิ่มเติม https://www.facebook.com/NECTEC/