ผนึกกำลังความร่วมมือแพลตฟอร์ม AI สัญชาติไทย (CiraCore x AI for Thai x AI9)

Facebook
Twitter

บทความ | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
ถ่ายภาพ | พงศ์ศธร วิศลดิลกพันธ์

เนคเทค สวทช. จัดเวทีเสวนาผนึกกำลังความร่วมมือแพลตฟอร์ม AI สัญชาติไทย (CiraCore x AI for Thai x AI9) ในงาน NAC2022 โดยมี ดร.อลิสา คงทน รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวเปิดการเสวนา ความว่า หัวข้อเสวนาจะกล่าวถึงความก้าวหน้าของแพลตฟอร์ม AI สัญชาติไทยของ 3 ทีมวิจัย ซึ่งเป็นกลุ่มสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัยของภาครัฐ และบริษัทสตาร์ตอัพทางด้าน AI ของไทย เห็นตัวอย่างการนำเทคโนโลยี AI ไปประยุกต์กับโจทย์จริงในภาคอุตสาหกรรม ทั้ง AI ทางด้านภาพ (Image Processing) และ AI ทางด้านภาษา (Natural Language Processing, Text to Speech, Speech to Text) เป็นต้น ตลอดจนแนวทางความร่วมมือพัฒนาแพลตฟอร์ม AI สัญชาติไทยระหว่าง 3 ทีมวิจัยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยต่อไป

แนะนำ3ผลงานปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย

AI for Thai แพลตฟอร์มให้บริการปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผอ.กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค สวทช. กล่าวว่า AI for Thai เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมงานวิจัยด้าน AI ของเนคเทค สวทช. มาให้บริการในรูปแบบ API และ Services ใน 3 ด้าน ภาษา รูปภาพ และการสนทนา โดยมีเป้าหมายเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ เพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมและบริการเทียบเท่าสากล รวมถึงสนับสนุนการสร้างและพัฒนาความรู้ด้าน AI ให้กับเยาวชน

CiRA CORE แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย รศ.ดร.ศิริเดช บุญแสงหัวหน้าโครงการ CiRA CORE KMITL และ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อธิบายว่า CiRA CORE มี concept “LOW-CODE NO-CODE AI Platform” เพื่อให้การพัฒนา AI เป็นไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เปรียบเสมือนการมีชิ้นส่วนเลโก้ชิ้นสำคัญเตรียมรอไว้ให้นักพัฒนาประกอบต่อยอดเป็นชิ้นงานได้

AI9 เป็น AI Deep Tech Startup ที่เกิดจากแนวคิดของเนคเทค สวทช. ที่ต้องการส่งต่องานวิจัยโดยคนไทยให้ถึงมือภาคธุรกิจเอกชน ดร.ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท AI9 จำกัด เล่าว่า AI9 โฟกัสเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ในด้านการสนทนา (Speech) และภาษา (Language Technology) เพื่อให้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าใจภาษาของมนุษย์ ตอบโจทย์ความต้องการภาคเอกชนที่ต้องการยกระดับ workflow การทำงานให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไปสู่การนำความสามารถของ AI มาเป็นหนึ่งในแรงงาน หรือที่เรียกว่า “Cognitive Automation”

การพัฒนา AI ต้อง Make it Simple

ในช่วงท้ายของการเสวนาวิทยากรทั้ง 3 ท่านข้างต้นได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองแนวทางความร่วมมือพัฒนาแพลตฟอร์ม AI สัญชาติไทย ร่วมกับดร.เชิดศักดิ์ กิ่งก้าน กลุ่มวิจัยไอโอทีและระบบอัตโนมัติสำหรับงานอุตสาหกรรม เนคเทค สวทช. ผศ.ดร.สันทัด ชูวงค์อินทร์ หัวหน้าศูนย์ CiRA AMI (Advanced Manufacturing Innovation) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ ดร.รังสันต์ จอมทะรักษ์ หัวหน้าศูนย์ CiRA Educations มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

โดยได้กล่าวถึงความสำคัญของการสร้างความเข้าใจถึงบทบาทของการเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม ไม่ใช่ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน นอกจากการพัฒนาเครื่องมือให้พร้อมใช้ ง่าย สะดวก และรวดเร็วอย่างตามแนวคิดของ AI for Thai และ Cira Core นั้น การเทรนด์ให้ผู้ใช้สามารถใช้งานแพลตฟอร์มด้าน AI ได้อย่างคล่องแคล่วเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชัน บริการ หรือเสริมประสิทธิภาพการทำงานของตน ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เกิดการขยายผลได้อย่างรวดเร็ว โดยมีบริษัทอย่าง AI9 เข้ามาปิดช่องว่างในการนำงานวิจัยไปใช้เชิงธุรกิจ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ให้ผู้ใช้งานเข้าใจข้อจำกัดของเทคโนโลยี ด้วยการพัฒนา AI ให้เก่งนั้นจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการเก็บข้อมูล การเรียนรู้ของโมเดล การใช้งานและปรับไปพร้อม ๆ กัน

ในเรื่องความง่ายของการใช้งาน “โปรแกรม necML” เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่เนคเทค สวทช. ได้พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ให้สามารถพัฒนาโมเดลได้ โดยไม่ต้องยุ่งยากกับการเขียนโค้ด (Coding)

จินตนาการสำคัญกว่าการ Code

เมื่อกล่าวถึงการพัฒนาบุคลากร CiRA EDUCATION ได้ส่งเสริมให้เด็ก ๆ เรียนรู้เรื่องของ AI ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล โดยเน้นการสร้าง “แรงบันดาลใจ” ให้เด็ก ๆ ได้เห็นถึงความสนุก ประโยชน์ รวมถึงตัวอย่างความสำเร็จของการประยุกต์ใช้ AI เพื่อกระตุ้นให้ความอยากเรียนรู้ โดยสนับสนุนในเรื่องของการเรียนรู้อย่างสนุก ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการเป็นหลัก ก่อนเข้าสู่การเขียนโปรแกรม รวมถึงการสอนเรื่องจริยธรรมด้าน AI ให้เด็ก ๆ ได้มีแนวคิดการประยุกต์ AI ในบริบทที่ถูกต้องเหมาะสม และส่งต่อโอกาสในการเรียนรู้เรื่อง AI ให้ทุกโรงเรียนอย่างทั่วถึงกัน

AI จะยั่งยืนต้องไปในเชิงธุรกิจโดยไม่ลืมประโยชน์สาธาณะ

ความท้าทายในปัจจุบัน คือ การนำผลงานวิจัยด้าน AI ออกจากหิ้งไปสู่ห้าง บริษัท AI9 เป็นตัวอย่างหนึ่งของเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ มีการเชื่อมโยงกันระหว่างภาครัฐไปสู่เอกชน สิ่งสำคัญ คือ ต้องไม่ลืมประโยชน์สาธารณะ
 
ในมุมของเนคเทค สวทช. AI for Thai ต้องเจอกับความท้าทายเรื่องทรัพยากรและการจัดการในการเปิดแพลตฟอร์มให้ผู้ใช้งานได้ฟรี แม้จะมีขีดจำกัด แต่ปริมาณการขอใช้งานก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันมียอดรวมกว่า 27 ล้านการใช้งาน (Request) จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในการสนับสนุนทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สามารถบริการสาธารณะได้อย่างต่อเนื่อง

อยากเข้าวงการ AI ต้องมีใจเป็นอันดับแรก

“แรงบันดาลใจ” คือ กุญแจสำคัญในการเริ่มต้นเข้าสู่วงการ AI รวมถึงรักษาคนที่ทำงานด้าน AI เอาไว้ แน่นอนว่า AI ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าที่จะเรียนรู้ แต่หากปราศจากใจรักแล้ว ก็อาจจะยอมแพ้ออกไปได้ง่าย ๆ ดังนั้น รุ่นพี่ที่เป็นผู้เล่นในวงการ AI ในปัจจุบันจะต้องฉายภาพประโยชน์ ความสนุก ความสำเร็จของ AI ออกไปเพื่อให้น้อง ๆ ได้เกิดแรงบันดาลใจในการที่จะเริ่มต้นเรียนรู้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ในการเป็นผู้พัฒนาเสมอไป เริ่มต้นจากการเป็นผู้นำแพลตฟอร์มไปประยุกต์ใช้ แล้วขยายผลต่อไปถึงฝั่งนักพัฒนา หรือ สายอาชีพอื่น ๆ ในด้านปัญญาประดิษฐ์