Farm To School เชื่อมโยงข้อมูลสินค้าเกษตรระหว่างโรงเรียนและเกษตรกร สนับสนุนการสร้างสำรับอาหารกลางวันโดยใช้ผลผลิตในพื้นที่

Facebook
Twitter

สัมภาษณ์ | ดร.นันทพร รติสุนทร ทีมวิจัยการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ (HBA) เนคเทค สวทช.
เรียบเรียง | สายพิณ ธนะศิริวัฒนา

ระบบ Farm To School เป็นระบบเชื่อมโยงผลผลิตเพื่ออาหารกลางวัน เป็นผลงานวิจัยที่พัฒนาต่อเนื่องมาจาก ระบบ Thai School Lunch หรือระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นผลงานเด่นของทีมวิจัยการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน โดยมุ่งเน้นการนำวัตถุดิบที่มีแหล่งที่มาชัดเจน มีความสดใหม่ และขยายต่อยอดไปถึงวัตถุดิบที่ปลอดภัย จากเกษตรกรภายในพื้นที่ มาป้อนเป็นวัตถุดิบหลักในสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียน

โดยระบบสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างความต้องการวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวันของโรงเรียนและความสามารถในการผลิตวัตถุดิบของเกษตรกร เพื่อสนับสนุนให้เกิดการซื้อขายกันระหว่างโรงเรียนและเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตได้อย่างเหมาะสมและตรงตามความต้องการซื้อผลผลิตของโรงเรียน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกร และเพื่อประโยชน์สำหรับโรงเรียนในการปรับสำรับอาหารกลางวันให้เหมาะสมกับผลผลิตที่มีตามฤดูกาลในพื้นที่

ในปัจจุบันระบบ Farm To Schoolมีพื้นที่นำร่องอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ และมีแผนการขยายผลเพื่อต่อยอดผลงานร่วมกันในภาคส่วนอื่น ๆ ของเนคเทค เช่น ความร่วมมือระหว่างระบบ Farm To School และระบบ HandySense ซึ่งเป็นระบบ IoT สมาร์ทฟาร์มมิ่งที่เป็นอีกหนึ่งผลงานเด่นของเนคเทค โดยมีแผนการทดสอบระบบในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและขยับต่อไปที่จังหวัดระยอง ร่วมกับพันธมิตรบริษัทเคหะสุขประชา นอกจากนี้ทางทีมยังมีแผนพัฒนาต่อยอดโมเดลธุรกิจสำหรับ blockchain ต่อเนื่องไปด้วย 

ผู้ใช้งานหลักระบบ Farm To School เป็นได้ทั้งเกษตรกรรายย่อย วิสาหกิจชุมชน และเกษตรโรงเรียน สำหรับผู้ที่สนใจและอยากจะลองใช้ระบบ Farm To School สามารถเข้ามาลงทะเบียนใช้ได้ที่ website Farm To School หรือถ้ามีข้อสงสัยอื่น ๆ ติดต่อโดยตรงกับนักวิจัย ทีมวิจัยการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ (HBA) กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ (DSARG) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ