กุญแจสู่การสร้างกำลังคนยุค 4.0 (Key Factors for Industry 4.0 Human Capital Development)

Facebook
Twitter

สาระจากงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค ประจำปี 2564
หัวข้อ “กุญแจสู่การสร้างกำลังคนยุค 4.0 (Key Factors for Industry 4.0 Human Capital Development)”
วิทยากร : คุณปิยบุตร จารุเพ็ญ
กรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด

เรียบเรียงบทความ : ภาวิณี อุปถานา
ภาพประกอบ : ภาวิณี อุปถานา

การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่ Industry 4.0 ให้สำเร็จ ขึ้นอยู่กับแรงขับเคลื่อนที่อาจจะกระทบกับอุตสาหกรรมไทย แต่จะเป็นทั้งโอกาส หรือภัยคุกคาม ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรม และการที่จะเป็นผู้นำในยุค 4.0 นั้น จึงต้องการคนที่มีทักษะแตกต่างไปจากเดิม พร้อมส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ การทำงานที่คล่องแคล่ว เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกแบบ VUCA

ล่าสุดเนคเทค สวทช. ได้จัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค ประจำปี 2564 ในรูปแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 13-16 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยวันที่ 15 ธันวาคม มีการสัมมนาในหัวข้อ “กุญแจสู่การสร้างกำลังคนยุค 4.0 (Key Factors for Industry 4.0 Human Capital Development)” การเข้ามาของเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้การทำธุรกิจเปลี่ยนรูปแบบไป การบริหารจัดการขององค์กรก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จึงต้องการคนที่มีทักษะแตกต่างไปจากเดิม เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีตลอดเวลา บรรยายโดย คุณปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด

บีไอจี กับประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรม 4.0

บีไอจีเป็นบริษัทที่ผลิต และจำหน่ายอินดัสเทรียลแก๊สรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยธรรมชาติของก๊าซเหล่านี้มักใช้ในอุตสาหกรรม จึงถูกเรียกว่า ก๊าซอุตสาหกรรม หรืออินดัสเทรียลแก๊ส ซึ่งทำให้บีไอจี สามารถรับรู้ความเคลื่อนไหวของแต่ละอุตสาหกรรม

คุณปิยบุตร กล่าวว่า บีไอจีมีเป้าหมายและพันธกิจ ที่จะทำให้โลกของเรามีประสิทธิผล และผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ด้วยการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy-Efficient) และอย่างยั่งยืน (Sustainable) โดยนวัตกรรมที่ไร้ขีดจำกัด

บีไอจีทำเกี่ยวกับอินดัสเทรียลแก๊ส  และมี Solution เรื่องไฮโดรเจนสำหรับภาคขนส่งในอนาคต การใช้เทคโนโลยีมาทำให้คาร์บอนกลายเป็นเชื้อเพลิง พลังงานสะอาด (Green Hydrogen) และ Hydrogen for Mobility การนำไฮโดรเจนมาเสริมยานยนต์ EV เป็นตัวเสริมในภาคขนส่ง ทำให้บีไอจีถึงมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องอุตสาหกรรม 4.0 และการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรม 4.0 การที่บีไอจีเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกอุตสาหกรรม ทำให้เห็นภาพของอุตสาหกรรมในเมืองไทย 

ระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทยวันนี้ น่าจะยังอยู่ระหว่าง 2.0 กับ 3.0 ยังเน้นเรื่องการผลิตจำนวนมาก (Mass Production) รวมถึง Assembly Line หรือสายการประกอบชิ้นส่วน แต่ก็มีการขยับมาใช้ระบบออโตเมชั่นและคอมพิวเตอร์ในภาคการผลิต

4 Disruptive Forces แรงขับเคลื่อนอันท้าทายของอุตสาหกรรมไทย

เทรนด์ของอุตสาหกรรม 4.0 ไม่ใช้ความท้าทายเดียวที่ทำให้อุตสาหกรรมไทยต้องปรับตัว เพราะในวันนี้ยังมีความท้าทายอันหนึ่งที่เรียกว่า Disruptive Forces ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนที่มากระทบแล้วอาจจะทำให้เกิดการก่อกวนในวงการอุตสาหกรรมไทย แต่จะเป็นโอกาส หรือเป็นภัยคุกคาม นั้นขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรมจะพิจารณา โดย 4 แรงขับเคลื่อน ที่ต้องเจอ คือ

  1. แรงขับเคลื่อนของโลกหลังยุคโควิด -19 
    สถานการณ์ปัจจุบันโควิดยังคงมีอยู่แต่ว่าความรุนแรงน้อยลง ทางธุรกิจในอุตสาหกรรมก็เริ่มกลับมาทำงานอย่างปกติ แต่อาจจะไม่เหมือนเดิมกับโลกยุคก่อนโควิด ไม่ว่าในเรื่องของการทำงาน ไปจนถึงเรื่องของการใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้น
  1. แรงขับเคลื่อนจากการที่ประเทศไทยเข้าสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2565
    นายกรัฐมนตรีได้ประกาศในงาน COP26  Conference of The Parties ว่าประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)  ได้ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero greenhouse gas emission) ภายใน หรือก่อนหน้า ปี 2065 ความท้าทายจะไปอยู่กับภาคอุตสาหกรรม ที่จะต้องลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถ้าสามารถบริหารจัดการได้ จะเข้าใกล้เรื่องของ Net Zero (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) 
  1. แรงขับเคลื่อนจาก Digital Technology
    การนำ Digital Technology, Internet of Things, Network และข้อมูลเข้ามาใช้ แต่ในภาคอุตสาหกรรมยังนำมาใช้ได้ไม่ครบ และยังคิดว่าดิจิทัลเทคโนโลยี คือการทำ Dashboard การทำเป็นระบบอัตโนมัติ แล้วก็หยุดการนำมาใช้เพียงเท่านี้
  1. แรงขับเคลื่อนจาก Gen Z
    ในภาคอุตสาหกรรมแบ่งประชากรในการทำงานออกเป็น 4 Generation คือ Baby Boomer อายุใกล้ 60 ใกล้ก้าวเข้าสู่วัยเกษียณแบบเต็มตัว Gen X ตั้งแต่อายุ 40 กลาง ๆ จนถึง 50 กลาง ๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้บริหารกันเกือบหมดแล้ว Gen Y อายุประมาณ 35  เป็นกำลังหลักของการทำงาน และ Gen Z อายุต่ำกว่า 30 ลงไปกำลังเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแน่นอนว่าบุคลิกลักษณะทัศนคติต่าง ๆ ของ Generation ใหม่นั้นไม่เหมือนกับ Generation ก่อน ๆ เพราะฉะนั้นเขาก็จะเข้ามาสู่ตลาดแรงงาน มีการขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนวงการอุตสาหกรรมไทย

การที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม 4.0 ได้นั้น ต้องมี VUCA ซึ่งมาจาก 4 คำ คือ ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) ความคลุมเครือ (Ambiguity) เป็นสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความผันผวน ยากจะคาดเดา มีความซับซ้อนสูง และคลุมเครือเกินกว่าจะอธิบายได้ เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม 

ย้อนหลัง 5 ปี ทั้งภาคธนาคาร ภาคของการบริการ ก็มีสถานการณ์เดียวกัน ทำให้องค์กรต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิด-19 หรือหาก Net Zero เข้ามา เราต้องรับมืออะไรบ้าง แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับการส่งออก ถ้าเรายังคงมีการปลดปล่อยคาร์บอนอยู่เราจะเป็นอย่างไร ด้าน  Digital Technology จะมีผู้เล่นใหม่เกิดขึ้นไหม มีทักษะที่จำเป็นสามารถรับมือได้ หรือมีการทำอะไรใหม่ ๆ ต้องลองผิดลองถูกเมื่อรู้ว่าผิดต้องรีบกลับตัวอย่างรวดเร็ว มีไอเดียใหม่ ๆ อยู่เสมอ เป็นสิ่งที่องค์กรต้องมี  องค์กรเช่นนี้ถือเป็นลูกผสม Ambidextrous คือ สะเทินน้ำสะเทินบก คือต้องทั้ง Explore อนาคตและ Exploit คือใช้ประโยชน์ปัจจุบัน ต้องมีทั้งนวัตกรรมใหม่ ๆ นวัตกรรมของเดิมให้มีประสิทธิภาพ และต้องมีระบบอัตโนมัติเข้ามา  แล้วก็ยังต้องมีมนุษย์ มีคนที่ทำงานอยู่ในองค์กร ภาพขององค์กรควรเป็นอย่างนี้ แล้วเราจะทำอย่างไรให้บริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ได้

Human Capital Development

การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ มีอยู่ 3 เรื่อง หลัก ๆ ได้แก่

1. Winning Organisation
-วัตถุประสงค์ (Purpose) และทิศทางที่ชัดเจนขององค์กร
-วัฒนธรรม (Culture) คือ ระบบปฏิบัติการ (Operating System) กฎกติกาต่าง ๆ ของสมาชิกในองค์กร ความคิด (Mindset) พฤติกรรม (Behavior)
-ความเชื่อมั่น (Trust) คือเรื่องของความเร็ว ที่องค์กรยุค 4.0 ต้องมีความเชื่อใจ การวางระบบตรวจสอบ
-ความหลากหลายของนวัตกรรม (Diversity Innovation) คือ ความแตกต่างหลากหลาย และการยอมรับ การมีส่วนร่วมจะเป็นตัวผลักดันนวัตกรรม (Innovation) เราต้องยอมรับว่า   นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้เมื่อคนมีความแตกต่างหลากหลายในเชิงความคิด และนำความแตกต่างหลากหลายนั้นมาทำให้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
-ความคล่องตัว (Agility) องค์กรต้องมีความคล่องแคล่ว รวดเร็วต่อการปรับตัว คือ ความรู้สึก การตอบสนอง
-เพื่อนร่วมงานที่น่าทึ่ง (Stunning Colleagues) ก็คือมีความเข้มข้นความหนาแน่นของบุคลากรที่มีความสามารถ และมีพรสวรรค์อยู่ในองค์กร

2. People Capability
บุคลากรต้องมีแนวทาง ทัศนคติในทิศทางเดียวกับองค์กร เรื่องที่เป็นหัวใจหลักที่ทุกคนต้องมีคือเรื่องของความคิด (Mindset) เรื่องของการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy) เรื่องของ Growth Mindset เป็นตัวกำหนดความสำเร็จในการทำงาน ให้สามารถพัฒนาตนเองต่อไปเรื่อย ๆ และ Self-Awareness รู้จุดอ่อน รู้จุดแข็งของตนเองที่ต้องระวัง

3. Leadership
ผู้นำในยุคนี้ต้องขับเคลื่อนด้วยวัตถุประสงค์ ขับเคลื่อนด้วย Why and Where องค์กรข้างหน้าสามารถเชื่อมต่อระหว่างคนกับองค์กรด้วย Empower ได้แล้ว คือเรียนรู้ และปรับตัว

“กำไรของภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่ goal แต่กำไรของภาคอุตสาหกรรมเป็นผลลัพธ์ที่ได้จากความเป็นเลิศของผู้คน ไปสร้างความเป็นเลิศทางธุรกิจกับพาร์ทเนอร์ เพราะว่าวันนี้ทุก ๆ ธุรกิจในอนาคตเชื่อว่าต้องอยู่กับ Ecosystem แล้วจะมาทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมี People Excellence ไปสร้าง Business Excellence กับพาร์ทเนอร์ ทั้งหมดนี้ถูกขับเคลื่อนด้วย Purpose แล้วเมื่อมีความเป็นเลิศทั้ง 3 เรื่อง ดังนั้น Profit จะไม่ใช่เป้าหมายอีกต่อไปแต่จะเป็นผลของความเป็นเลิศทั้ง 3 เรื่อง” คุณปิยบุตร กล่าวทิ้งท้าย

ยกระดับอุตสาหกรรมของคุณให้ล้ำหน้าไปอีกขั้น! กับหลากหลายโซลูชัน 4.0 ที่ NECTEC-ACE2021

สามารถรับชมเสวนาย้อนหลังได้แล้ววันนี้! (คลิก)

แหล่งอ้างอิง