แพลตฟอร์ม IoT เทคโนโลยียกระดับอุตสาหกรรมสมัยใหม่

Facebook
Twitter
งานวิเคราะห์ตลาดและเทคโนโลยี (MIIT) ฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี เนคเทค-สวทช.
เรียบเรียงและภาพประกอบ | ศศิวิภา หาสุข , วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
แพลตฟอร์ม IoT มีความสำคัญต่อการขยายขอบเขตการทำธุรกิจต่าง ๆ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ นอกจากนั้นยังช่วยยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อรองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ Industry 4.0 อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต
 

การเติบโตของตลาดแพลตฟอร์ม IoT

ตลาดแพลตฟอร์ม IoT คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2563 – 2568 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากกว่า ร้อยละ 28 ต่อปี และในปี พ.ศ. 2566 จะมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 10 ล้านล้านบาท โดยพบว่าภูมิภาคอเมริกาเหนือ จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยี Cloud แข็งแรง และมีความก้าวหน้าในการใช้เทคโนโลยี AI ทำให้สามารถขยายขอบเขตการทำธุรกิจไปได้ทั่วโลก นอกจากนั้นยังมีบริษัทชั้นนำที่เป็นผู้เล่นหลักในตลาด อาทิ Microsoft Corporation, IBM Corporation, Amazon Web Services, PTC Inc., และ Oracle Corporation โดยบริษัทเหล่านี้มีการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานของแพลตฟอร์ม IoT ส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่ามีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากแต่ละประเทศเริ่มมีโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยเฉพาะประเทศจีนและอินเดียที่มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน และประยุกต์ใช้งาน IoT ในอุตสาหกรรมกันอย่างแพร่หลาย

iotplatform-smartindustry

 

ภาพที่ 1 อัตราการเติบโตของตลาดแพลตฟอร์ม IoT ในปี พ.ศ. 2562 – 2567
 

Cloud & 5G เทคโนโลยีขับเคลื่อน Platform IoT

ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม IoT คือ ระบบการจัดเก็บข้อมูลบน Cloud และ เทคโนโลยี 5G

สำหรับระบบการจัดเก็บข้อมูลบน Cloud นั้น เนื่องจากมีอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อกันเป็นจำนวนมาก และมีการถ่ายโอนข้อมูลตลอดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่จะมีองค์กรที่ทำหน้าที่เป็น Data Center ให้บริษัทต่าง ๆ สามารถจัดการข้อมูลได้สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนั้นเทคโนโลยี 5G ก็เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญเช่นกัน ด้วยการหลั่งไหลของข้อมูลมหาศาลจาก 5G จะช่วยให้มีการขยายตัวของ Data Center และผลักดันให้เกิดบริการหรือธุรกิจใหม่ ๆ ที่เน้นการใช้ข้อมูลมากขึ้น

iotplatform-smartindustry

 

ภาพที่ 2 การใช้งานระบบการเชื่อมต่อแบบอัจฉริยะ (5G AI และ IoT)
 

การใช้งานแพลตฟอร์ม IoT ในภาคอุตสาหกรรม (Industrial Internet of Things: IIoT)

การใช้งานแพลตฟอร์ม IoT ในภาคอุตสาหกรรม (Industrial Internet of Things: IIoT) จะช่วยปรับปรุงการเชื่อมต่อในกระบวนการผลิต สามารถติดตามสถานะของเครื่องจักร (Monitor) และหลีกเลี่ยงการ Downtime ของระบบได้ ซึ่งเครือข่าย IIoT จะเชื่อมต่อข้อมูลขนาดใหญ่ของแต่ละหน่วยงาน ตั้งแต่ไลน์การผลิตไปจนถึงระดับออฟฟิศอย่างเป็นระบบ ทำให้ผู้บริหารสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับแนวโน้ม ตลาด IIoT คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในปี พ.ศ. 2563 – 2568 มากกว่าร้อยละ 18 ต่อปี และจะมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 35 ล้านล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2568

โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด เนื่องจากมีความต้องการใช้งาน IoT ในหลายอุตสาหกรรม ทั้งในประเทศจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ ซึ่งความต้องการนี้มาจากการเติบโตของตลาดผู้บริโภค การขยายตัวของสังคมเมือง ปริมาณอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศ และความต้องการใช้งานแอปพลิเคชันในเชิงพาณิชย์

สำหรับในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตโลก จากงานศึกษาของ McKinsey ประเมินว่าการนำเอา IIoT มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้สูงถึงร้อยละ 10 – 50 โดยส่วนใหญ่เป็นการลดต้นทุนในกระบวนการผลิตและช่วยเรื่องการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์

iotplatform-smartindustry

 

ภาพที่ 3 องค์ประกอบของตลาด IIoT
สำหรับตลาด IoT ในประเทศไทย มีการเติบโตทั้งในส่วนของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ โดยคาดการณ์ว่า จะมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 9,520 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2566

2566 ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงการใช้งานดิจิทัล การส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐผ่านนโยบายและโครงการต่าง ๆ และความต้องการใช้งาน IoT ในภาคอุตสาหกรรม

โดยผู้ประกอบการมีความต้องการใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับผู้เล่นในตลาดโลก และตอบสนองความต้องการที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์จำพวก อาหาร เครื่องดื่ม รถยนต์ และปิโตรเคมี ทั้งนี้คาดว่าผู้ประกอบการไทยในภาคการผลิตประมาณครึ่งหนึ่ง จะมีการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในการดำเนินงานในระยะไม่กี่ปีข้างหน้านี้

 

แพลตฟอร์ม IoT และระบบวิเคราะห์ข้อมูลในอุตสาหกรรม (Industrial IoT and Data Analytics Platform: IDA)

จากความต้องการใช้งาน IoT ในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับกระทรวงพลังงานต้องการทราบข้อมูลภาพรวมการใช้พลังงานของอุตสาหกรรมภายในประเทศ ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีนโยบายส่งเสริมโรงงานประหยัดไฟเบอร์ 5 เพื่อให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็ต้องการส่งเสริม Digital Transformation เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมมีกระบวนการที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

สวทช. โดย EECi ARIPOLIS จึงได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) เพื่อผลักดันการประยุกต์ใช้งานวิจัย ลดช่องว่างของการพัฒนาอุตสาหกรรม และยกระดับการผลิตสู่ Industry 4.0 โดยพัฒนาโครงการนำร่องคือ

แพลตฟอร์ม IoT และระบบวิเคราะห์ข้อมูลในอุตสาหกรรม (Industrial IoT and Data Analytics Platform: IDA) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเครื่องจักร และช่วยในการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์

โดยระยะแรกจะนำเทคโนโลยี IoT และเซนเซอร์มาตรวจจับสัญญาณต่าง ๆ จากเครื่องจักรในกระบวนการผลิต และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อให้ทราบถึงสถานภาพของเครื่องจักรได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการใช้งานและดูแลรักษาเครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

iotplatform-smartindustry

 

ภาพที่ 4 แพลตฟอร์ม IoT และระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม

แพลตฟอร์ม IoT และระบบวิเคราะห์ข้อมูลในอุตสาหกรรม เป็นการนำผลงานวิจัยและชุดอุปกรณ์ IoT ที่เนคเทคพัฒนาขึ้น มาติดตั้งในโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งประกอบด้วย

เทคโนโลยี uRTU (Universal Remote Terminal Unit)
มีจุดเด่นในการเพิ่มหรือลดจำนวน Input/Output ทั้งสัญญาณ Analog และ Digital ผ่านทาง Expansion Module
เทคโนโลยี NETPIE
Cloud Platform ที่ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อให้เกิดการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ในเครือข่าย IoT

โดยการจัดตั้งแพลตฟอร์ม IoT และระบบวิเคราะห์ข้อมูลในอุตสาหกรรม (IDA Platform) มีเป้าหมายให้ประเทศไทย มีแพลตฟอร์มการยกระดับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิตอย่างเป็นระบบ สามารถเห็นภาพรวมประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโรงงานอุตสาหกรรม และนำข้อมูลไปใช้วางแผนด้านพลังงานได้อย่างแม่นยำ ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมจะสามารถตรวจจับการใช้พลังงานในระดับเครื่องจักรได้แบบ Real-time และนำข้อมูลที่ได้ไปใช้วางแผนการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถต่อยอดไปสู่การวัดประสิทธิภาพการผลิตของเครื่องจักร และการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ในอนาคต

iotplatform-smartindustry

 

ภาพที่ 5 การเปรียบเทียบ Solution/Feature ของแพลตฟอร์ม IDA กับ Solution ในตลาดปัจจุบัน
 

SWOT Analysis ของแพลตฟอร์ม IoT และระบบวิเคราะห์ข้อมูลในอุตสาหกรรม (IDA Platform)

การวิเคราะห์ทางธุรกิจ หรือ SWOT Analysis ของแพลตฟอร์ม IoT และระบบวิเคราะห์ข้อมูล ในอุตสาหกรรม พบว่า เนคเทค มีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาชุดอุปกรณ์ IoT และเทคโนโลยีบน Cloud มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับอุตสาหกรรม มีโรงงานต้นแบบสำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และที่สำคัญมีเทคโนโลยี uRTU และ NETPIE ซึ่งเป็น จุดแข็ง ที่สามารถนำไปใช้งานกับสถานประกอบการที่ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมได้

ในระยะต่อไปแพลตฟอร์มจะมีการพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะด้านบน dashboard อาทิ ข้อมูลพลังงาน ข้อมูลประสิทธิภาพของเครื่องจักร เป็นต้น ซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องโดยตรงมาให้คำปรึกษา รวมถึงการพัฒนาคนให้มีความเชี่ยวชาญทางด้าน IoT เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมได้

สำหรับการจัดตั้งศูนย์รับบริการและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี IoT น่าจะสำเร็จได้จากโอกาสหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการที่ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุน Industry 4.0 และปัจจุบันเริ่มมีผู้ประกอบการ SI ภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น ปัจจัยที่เอื้อ ต่อการขยายขอบเขตการใช้งานแพลตฟอร์มในเชิงธุรกิจได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามการดำเนินงานดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูล พื้นที่การจัดเก็บบน Cloud Server ที่เพียงพอต่อปริมาณข้อมูล การรั่วไหลของข้อมูลออกนอกประเทศ เมื่อมีการใช้ Cloud Server ของต่างชาติ และความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ SI ที่ยังอยู่กับแบบกระจัดกระจายภายในประเทศ

ดังนั้นแพลตฟอร์ม IoT และระบบวิเคราะห์ข้อมูลในอุตสาหกรรม (IDA Platform) ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่มีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรม และมีโอกาสที่จะเข้าสู่ตลาดทางธุรกิจ โดยแพลตฟอร์มนี้จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้กับสถานประกอบการ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มากกว่านั้นประเทศไทยจะได้ข้อมูล Industrial Big Data เพื่อใช้ในการวางแผนจัดการพลังงานในอนาคต
iotplatform-smartindustry

 

ภาพที่ 6 SWOT Analysis ของแพลตฟอร์ม IoT และระบบวิเคราะห์ข้อมูลในอุตสาหกรรม
_________________
หมายเหตุ:
เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชนที่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามข้อคิดเห็นที่ปรากฏเป็นความคิดเห็นของทีมงาน MIIT ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงความเห็นหรือประมาณใดๆตามความเหมาะสมกับสถานการณ์โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า
 

เอกสารอ้างอิง

[1] ข่าวประชาสัมพันธ์ เนคเทค-สวทช. จับมือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยขับเคลื่อน EECi ARIPOLIS ด้วยโครงการ IDA, 2563
[2] บทสรุปผู้บริหาร ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน Sustainable Manufacturing Center (SMC) ARIPOLIS, EECi, สวทช.
[3] สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล. (2562). Thailand Digital Technology Foresight 2035.
[4] AISOMA AG. (2562). The Fusion of 5G, IoT and AI. Retrieved from https://www.aisoma.de/promising-marriage-the-fusion-of-5g-iot-and-ai
[5] MarketsandMarkets. (2563). Internet of Things (IoT) in Retail Market by Platform (Device Management and Application Enablement), Hardware, Service, Application (Smart Shelf, Asset Management, Customer Experience Management, and Geomarketing), and Region – Global Forecast to 2025. Retrieved from https://www.marketsandmarkets.com/Market-Reports/retail-iot-market-43188550.html
[6] McKinsey & Company. (2018). Industry 4.0:Reinvigorating ASEAN Manufacturing for the Future. Retrieved from
[7] Mordorintelligence. (2562). INDUSTRIAL INTERNET OF THINGS (IIOT) MARKET – GROWTH, TRENDS, AND FORECAST (2020 – 2025). Retrieved from https://www.mordorintelligence.com/industry-reports/industrial-internet-of-things-market
[8] Mordorintelligence. (2562). INTERNET OF THINGS (IOT) PLATFORM MARKET – GROWTH, TRENDS, AND FORECAST (2020 – 2025). Retrieved from https://www.mordorintelligence.com/industry-reports/internet-of-things-platform-market
[9] SUMIPOL CORPORATION LIMITED. (2561). IoT สู่ยุคการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม. สืบค้นจาก https://www.sumipol.com/knowledge/transformation-iot