NECTEC-ACE 2022 | กรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมเป็นสื่อกลางนำเทคโนโลยีดิจิทัลจากทุกภาคส่วน ส่งเสริมเจ้าหน้าที่ลงสู่การพัฒนาเกษตรกร

Facebook
Twitter
กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมฉายภาพบทบาทการเติมเต็มระบบนิเวศเทคโนโลยีให้เติบโต สร้างภาคเกษตรไทยให้ยั่งยืน ในงาน NECTEC-ACE 2022 งานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค ซึ่งนำเสนอเรื่องราวหลากหลายเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาภาคการเกษตร และในโอกาสพิธีเปิดงานฯ คุณปาลลิน พวงมี ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนา งานส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบายและแนวทางการส่งเสริมประยุกต์ใช้เกษตรอัจฉริยะและเทคโนโลยีดิจิทัล”
 

วางบทบาทเป็นสื่อกลางนำเทคโนโลยีสู่เกษตรกร

เทรนด์การเปลี่ยนแปลงของโลกในขณะนี้ ทั้งเรื่องของความต้องการสินค้าของผู้บริโภค เรื่องความแปรปรวนของสภาวะอากาศ เรื่องการผลิตที่ต้องรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทำให้กรมส่งเสริมการเกษตรต้องเปลี่ยนวิธีการหรือเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดสู่พี่น้องเกษตรกร “สำหรับบทบาทของกรมส่งเสริมการเกษตร จะมองว่าเราเป็น Messenger ที่จะนำองค์ความรู้จากหน่วยวิชาการ หน่วยงานวิจัยทั้งหลายลงสู่พี่น้องเกษตรกร หรือ จะมองว่าเป็นเซลล์ขายองค์ความรู้ก็ได้ แต่เราขายแล้วไม่จบ เรามีการบริการหลังการขายตลอดเวลา ตลอดชีพ โดยการติดตามให้คำแนะนำพี่น้องเกษตรกร และการช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่”
 
ปัจจุบันเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาในภาคการเกษตร อีกทั้งความต้องการการผลิตที่มีความแม่นยำสูง ยิ่งทวีความจำเป็นที่จะต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้ถ่ายทอดสู่เกษตรกร อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตของเกษตรกรนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ทำให้เกิดช่องว่างในการใช้งานเทคโนโลยี เป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับกรมส่งเสริมการเกษตรที่วางเป้าหมายในการส่งเสริมถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีดิจิทัลให้ไปถึงมือเกษตรกร

แนวทางการส่งเสริมและประยุกต์เทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล

การไปถึงเป้าหมายดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตรเริ่มต้นด้วยการพัฒนาบุคลากรเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานก่อนเป็นลำดับแรก โดยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรนั้นมีอยู่ทั่วประเทศกว่าหมื่นคน ซึ่งดูแลพี่น้องเกษตรกรตั้งแต่จังหวัดลงลึกถึงระดับตำบล เพื่อให้การถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เกษตรกรนั้นราบรื่นและมีประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจึงต้องได้รับการฝึกอบรม และเรียนรู้ไปพร้อมกันกับเกษตรกร
 
ถัดมาจึงเป็นการพัฒนาระบบการทำงานและบริการแบบดิจิทัล ที่กรมส่งเสริมการเกษตรพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง การเปลี่ยนแปลงการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่เดิมต้องทำแบบแมนนวลมากว่า 10 ปี สู่ “FAARMis” แอปพลิเคชันสำหรับใช้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผ่านมือถือ รวมถึงการพัฒนาระบบให้เกษตรกรสามารถปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้ด้วยตนเองผ่านมือถือด้วย “FarmBook”
 
ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรมีข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนอยู่ประมาณ 8 ล้านครัวเรือน โดยนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการวางแผนส่งเสริมการเกษตร วางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เป็น Big Data ข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ตั้งแต่ ชนิดพืชที่ปลูก พื้นที่ปลูก ผลผลิต แรงงาน รายได้ แหล่งน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังพัฒนาแอปพลิเคชันเชื่อมโยงเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าด้วยกัน ผ่าน “ตลาดเกษตรกรออนไลน์” แหล่งรวบรวมร้านค้าของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการขายสินค้าเกษตรในช่วงโควิด-19 อีกด้วย
 
เรื่องเงินทุน หนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรตัดสินใจใช้งานเทคโนโลยี โดยปีที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตรได้สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ขอรับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อไปจัดหาอุปกรณ์เทคโนโลยีอัจฉริยะมาปรับใช้ในการทำเกษตรให้เกิดความแม่นยำ ผลผลิตและปริมาณตรงกับความต้องการของตลาด พร้อมกับการแข่งขันในตลาดโลก

กรมส่งเสริมการเกษตร x HandySense

กรมส่งเสริมการเกษตรยังมีโครงการส่งเสริมการเกษตรดิจิทัลในหลายพื้นที่ ทั้งการนำร่องทำแปลงต้นแบบการผลิตอ้อย มันสำปะหลัง ไม้ผล การให้น้ำ ด้วยเทคโนโลยี เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรนำไปขยายผล โดยเนคเทค สวทช.ได้สนับสนุนอุปกรณ์ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ หรือ HandySense และ ร่วมกับ ธ.ก.ส. ในการติดตั้งเป็นจุดนำร่องแปลงเรียนรู้ของพี่น้องเกษตรกร หรือ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 6 ศูนย์ในปี 2564 รวมถึงศูนย์ปฏิบัติการของกรมส่งเสริมการเกษตรอีก 10 จุดทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีระบบน้ำอัจฉริยะ ให้กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและพี่น้องเกษตรกร สามารถเข้ามาเรียนรู้และเห็นว่าเทคโนโลยีเกษตรนั้นไม่ยาก ช่วยให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ประหยัดต้นทุน และเพิ่มความแม่นยำในการทำเกษตร สำหรับปีนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หริอ ดีป้า ต่อยอดการนำร่องติดตั้งระบบ HandySense โดยดีป้าสนับสนุน 200 คูปองสำหรับเกษตรกรที่ผ่านการอบรม HandySense เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรใช้งานเทคโนโลยีต่อไป

Young Smart Farmer อนาคตของชาติด้านการเกษตร

กรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุน Young Smart Farmer กว่า 12,000 ราย ถือเป็นกลุ่มอนาคตของชาติด้านการเกษตร โดย Young Smart Farmer ส่วนใหญ่ไม่ได้จบด้านการเกษตรกรรม แต่มีความรู้เฉพาะทางอื่น ๆ เช่น วิศวกรรม การตลาด ธุรกิจ โดยสภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ COVID-19 ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้กลับเข้าสู่ภาคการเกษตรพร้อมกับแนวคิด ‘ผลิตน้อย แต่ได้มาก’ กล่าวคือ มีความพร้อมในการใช้งานเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัลเป็นทุนเดิม ทำให้สามารถถ่ายทอดแนวความคิดสู่เกษตรกรให้เปิดรับเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี
 
“สุดท้ายนี้ เรามองว่าการทำงานส่งเสริมการเกษตรจำเป็นต้องมีภาคีและพันธมิตรในการร่วมกันทำงานพัฒนาภาคการเกษตรไปสู่ความยั่งยืน ในฐานะของผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ กรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมและยินดีที่จะเป็นสื่อกลางนำนวัตกรรมดิจิทัลจากทุกภาคส่วนลงสู่พี่น้องเกษตรกร” คุณปาลลิน กล่าวทิ้งท้าย