NECTEC-ACE 2022 | กรมพัฒนาที่ดิน ประกาศวิสัยทัศน์ “เป็นองค์การอัจฉริยะทางดิน เพื่อขับเคลื่อนการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม”

Facebook
Twitter

กรมพัฒนาที่ดิน หนึ่งในพันธมิตรร่วมจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค หรือ NECTEC-ACE 2022 ซึ่งนำเสนอเรื่องราวหลากหลายเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน ด้วยการชวนพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมเติมเต็มระบบนิเวศการใช้งานเทคโนโลยีด้านการเกษตรให้เติบโตถึงมือเกษตรกร และในโอกาสพิธีเปิดงานฯ คุณเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ได้ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ดิน อัจฉริยะ : แม่น & Match” โดยมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับบทบาทและวิสัยทัศน์ของกรมพัฒนาที่ดินที่มุ่งเป็นองค์การอัจฉริยะทางดินเพื่อขับเคลื่อนการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม

การไปสู่เกษตรอัจฉริยะ ข้อมูลดินต้อง “แม่น & Match”

จากแนวคิดของ NECTEC-ACE 2022 “เติมเต็ม Ecosystem ให้เติบโต สร้างภาคการเกษตรไทยให้ยั่งยืน” คำว่า เกษตรยั่งยืน นั้นเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย สำหรับปัจจุบันหากจะพูดถึงเรื่องความยั่งยืนทางการเกษตรนั้นหนีไม่พ้นที่จะต้องหันมาในเรื่องของการใช้เทคโนโลยี

ดิน เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก ซึ่งล่าสุดกรมพัฒนาที่ดิน ได้ประกาศตัวมุ่งสู่การเป็น “องค์การอัจฉริยะทางดิน” ที่ข้อมูลดินต้อง “แม่น & Match” กล่าวคือ ข้อมูลดินต้องแม่นยำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้งาน เดิมข้อมูลดินของกรมที่ดินจะเป็นแผนที่ในลักษณะเอกสาร ซึ่งปัจจุบันได้ปรับสู่ข้อมูลที่พร้อมใช้ อัปเดตแบบเรียลไทม์ ปรับมาตราส่วนต่าง ๆ ให้มีเกิดความแม่นยำ และสามารถเข้าถึงได้ผ่านดิจิทัลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ข้อมูลลักษณะดินทางเคมีและกายภาพ ข้อมูลการใช้ที่ดินในปัจจุบัน การจัดการดินและปุ๋ย ข้อมูลเชิงพื้นที่จัดเก็บในระบบภูมิสารสนเทศมีขอบเขตอ้างอิงได้กับตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ การจัดลำดับความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจ รวมถึงงานวิจัยและนวัตกรรมที่รองรับ

ตัวอย่าง Soil Series ระบบนำเสนอข้อมูลชุดดิน ข้อมูลชุดดินของกรมที่ดินเกิดขึ้นจากการสำรวจลึกลงไปตั้งแต่ผิวดินจนถึงชั้นใต้ดินที่สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของพืช คือ ลึกลงไปประมาณ 150 เซนติเมตร ยกตัวอย่างชุดดิน อาทิ

  • ชุดดินบางกอก (Bangkok series) เป็นดินที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับการปลูกข้าว ด้วยเนื้อดินที่เป็นดินเหนียวมีความอุดมสมบูรณ์สูงจากการพัดพาของตะกอนลำน้ำ พบมากในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง มีเนื้อที่ประมาณสี่แสนไร่

  • ชุดดินปากช่อง (Pak Chong series) เป็นดินที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ด้วยเนื้อดินที่เป็นดินเหนียวสีแดง ระบายน้ำได้ดี พบมากในพื้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่ประมาณสี่แสนไร่

  • ชุดดินท่าใหม่ (Tha Mai series) เป็นดินที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับปลูกผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง ด้วยเป็นดินที่เกิดจากการสลายตัวผุพังของหินภูเขาไฟ ทำให้เนื้อเป็นดินเหนียวสีแดง ระบายน้ำได้ดี มีความอุดมสมบูรณ์สูง พบมากในพื้นที่ภาคตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณสี่หมื่นไร่เท่านั้น

เปิดเผยข้อมูลดิน สู่ Open Data

ปัจจุบันกรมพัฒนาที่ดินได้เปิดเผยข้อมูลดินทั้งหมดในรูปแบบ Open Data ผ่าน ldd on Farm ซึ่งเป็นเว็บแอปพลิเคชันที่เกษตรกรสามารถลงทะเบียนเพื่อวางแผนการใช้ที่ดินเกษตรกรแบบรายแปลง สามารถตรวจสอบตำแหน่งพื้นที่ต้องการเพาะปลูก เพื่อวางแผนการใช้ที่ดินเกษตรกรรายแปลง โดยระบบจะแสดงข้อมูลประจำแปลงนั้น ๆ เช่น ข้อมูลดิน ความเหมาะสมของดินในการปลูกพืช ข้อมูลแหล่งน้ำ ข้อมูลการใช้ที่ดิน และแสดงข้อมูลภูมิอากาศปัจจุบัน ณ ตำแหน่งที่ตั้งของแปลง เป็นต้น

“น้องดินดี”เอไอแชทบอท ดูแลเกษตรลงลึกรายคน

ล่าสุด กรมพัฒนาที่ดินได้เปิดตัว ‘น้องดินดี’ เอไอแชทบอทที่เกษตรกรสามารถลงทะเบียนพูดคุยกับน้องดินดีสอบถามเรื่องราวของดินและบริการของกรมพัฒนาที่ดินได้ง่าย รวดเร็ว และสะดวกยิ่งขึ้นผ่านไลน์แอปพลิเคชัน ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลดิน ติดต่อขอรับบริการต่าง ๆ ของกรมพัฒนาที่ดิน เช่น จุลินทรีย์ พด. บริการวิเคราะห์ดิน วิเคราะห์แผนที่ เป็นต้น สื่อความรู้ แอปพลิเคชัน และช่องทางการติดต่อต่าง ๆ ของกรมพัฒนาที่ดิน “น้องดินดี”เอไอแชทบอท เป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นความก้าวหน้าของกรมพัฒนาที่ดินนอกเหนือจะพัฒนาข้อมูลให้แม่นยำลงลึกถึงระดับรายแปลงยังมุ่งดูแลเกษตรกรรายคนอีกด้วย

“Match” สร้างข้อมูลให้เชื่อมโยง ส่งเสริมกับแหล่งอื่นนำไปสู่เกษตรอัจฉริยะ

กรมพัฒนาที่ดินมองว่าข้อมูลดินแม่นอย่างเดียวไม่พอต้องเชื่อมโยงถูกใจผู้ใช้ด้วย ซึ่งผู้ใช้งานข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินมีหลายกลุ่ม ถ้าข้อมูลไม่ไปเชื่อมโยง หรือ Matching กับผู้ใช้ ข้อมูลก็จะไม่ได้รับการใช้งานเปรียบเสมือน “ข้อมูลตาย” ไม่อัปเดต
 
ปัจจุบันความแม่นยำของข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินเชื่อมโยง (Match) กับ 3 กลุ่ม ได้แก่
 
1) พืช: ทั้งระดับความเหมาะสมในการเพาะปลูก 13 พืชเศรษฐกิจ การจัดการเพื่อลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพและผลผลิต ไปจนถึงการประเมินผลผลิต ซึ่งถ้าเราสามารถลดต้นการผลิตด้วยเทคโนโลยีได้ เชื่อว่าเรื่องการเพิ่มผลผลิต และเพิ่มคุณภาพในการผลิต ไทยเราไม่แพ้ใคร
 
2) ลูกค้า: เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจทั้งระดับการผลิต นักวิจัย นักการตลาด นักจัดการทรัพยากร หรือ นำไปประกอบการถ่ายทอดองค์ความรู้
 
3) สถานการณ์การเปลี่ยนแปลง: ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะเห็นปัจจุบันเรื่องของใครนะคะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงตอนนี้กรมพัฒนาที่ดินเราก็พยายามปรับตัวนะคะเทรนด์ความต้องการอาหาร พฤติกรรมการบริโภคและการตลาด เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี เป็นต้น
 
นอกจากนี้กรมพัฒนาที่ดินยังเชื่อมโยงข้อมูล และบูรณาการทำงานกับหน่วยงานพันธมิตรมากมายในด้ารข้อมูลเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เนคเทค สวทช. คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐ ศูนย์ข้อมูลการเกษตรแห่งชาติ ศูนย์สารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดิน ระบบสืบค้นและบริการภูมิสารสนเทศกลางของประเทศ เป็นต้น