ถอดรหัสความสำเร็จ ! เดินเกมธุรกิจด้วย IoT สัญชาติไทย

Facebook
Twitter
netpie-2020-seminar
บทความ | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์

โลกธุรกิจยุคดิจิทัล สิ่งมีค่าเทียบเท่าเงินหรือน้ำมัน คือ ข้อมูล (Data) ที่สามารถพลิกโฉมธุรกิจทุกวงการสู่ความสมาร์ตในศึก Digital Distribution แต่การได้มาซึ่งข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ทั้งปริมาณ ความเร็ว ความหลากหลาย และถูกต้องนั้น จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) หรือ อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง เสมือนไฮเวย์ที่เชื่อมโยงและส่งต่อข้อมูลสู่จุดหมาย

ปัจจุบันเกิดแพลตฟอร์มไอโอที (IoT) ให้เลือกใช้บริการจำนวนมากตอบรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีและหนึ่งในนั้นคือ เน็ตพาย (NETPIE) แพลตฟอร์ม IoT สัญชาติไทย

ล่าสุด NETPIE (Network Platform for Internet of Everything) หรือ แพลตฟอร์มสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อทุกสรรพสิ่ง ได้เปิดตัวเวอร์ชันใหม่ “NETPIE 2020” ปลดล็อคขีดจำกัด IoT เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภายในงานทีมผู้พัฒนารวมถึงพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองความท้าทายของการพัฒนาเทคโนโลยี พร้อมแชร์ประสบการณ์การเดินเกมธุรกิจด้วย IoT สัญชาติไทย

เรื่องราวก้าวแรกของ IoT สัญชาติไทย

NECTEC ไม่ได้ขายหลอดไฟ? NETPIE เป็นงานวิจัยใต้โต๊ะทำงาน?

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค เล่าว่า การพัฒนาสิ่งที่คนไม่รู้จักเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในช่วงเริ่มต้นการพัฒนา NETPIE ด้วยเทคโนโลยีไอโอที (IoT) เป็นเรื่องใหม่มากในช่วงปี 2012-2013

“เรายังจำได้ไปจัดนิทรรศการอยู่ครั้งหนึ่งเพื่อที่จะโชว์ผลงานที่เราทำ แต่ไม่รู้จะโชว์อย่างไร ด้วย IoT Platform ค่อนข้างที่จะ abstract ไม่เป็นรูปธรรมจับต้องไม่ได้ เราเลยทำหลอดไฟไปโชว์ ทุกคนก็จะเข้าใจว่า NECTEC ทำหลอดไฟ …ทำไม NECTEC ถึงทำหลอดไฟ แต่ก็อยากได้ ถามว่าหลอดไฟขายเท่าไหร่ (หัวเราะ) โดยหลังจากที่เราเปิดตัว NETPIE ในเดือนกันยายน 2015 IoT ของบริษัทต่างชาติ ก็ค่อย ๆ เกิดขึ้นมา ทำให้เรามั่นใจว่าเรามาถูกทาง”

netpie-2020-seminar

การยกระดับ NETPIE สู่การให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบนั้น ส่วนหนึ่งของทีมวิจัยและพัฒนา NETPIE ได้ก้าวออกจากเนคเทค – สวทช. และได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท เน็กซ์พาย (NEXPIE) จำกัด

netpie-2020-seminar

โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างมืออาชีพภายใต้การอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing) แพลตฟอร์ม NETPIE จากเนคเทค – สวทช. เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการในระยะยาว พร้อมตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาประเทศอย่างเต็มประสิทธิภาพ

คุณชาวีร์ อิสริยภัทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ – NEXPIE ซึ่งผันตัวจากนักวิจัยเนคเทค-สวทช. สู่การนำ NETPIE ออกสู่โลกธุรกิจ เล่าว่า

ประมาณ 7 ปีที่แล้ว NETPIE เป็นเซิฟเวอร์เล็ก ๆ ตั้งอยู่ใต้โต๊ะทำงาน ในช่วงแรกต้องยอมรับว่า NETPIE เป็นแพลตฟอร์มสำหรับนักพัฒนา (Maker) โดยยังไม่ได้คิดไปถึงการให้บริการเชิงพาณิชย์ ดังนั้น รูปแบบการออกแบบฟีเจอร์จะเป็นลักษณะทำเองและใช้เอง

“เมื่อมาถึงจุดที่ NETPIE มีการเติบโตมากขึ้น มีผู้ใช้งานมากขึ้น เราเริ่มรู้สึกว่าจำเป็นจะต้องดูแลเป็นพิเศษ ต้องมีการเติบโตที่ยั่งยืน จึงตัดสินใจออกมาตั้งบริษัทเอกชน แต่เราก็ยังมีความเป็น NETPIE อยู่และจะอยู่กับเราต่อไป

netpie-2020-seminar
เราจะคอยซับพอร์ตแพลตฟอร์มตัวนี้ เติมเต็มส่วนที่เนคเทคอาจไม่สะดวก เป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ช่วยสร้างให้แพลตฟอร์มดีขึ้นเรื่อย ๆ ไปสู่การใช้งานในวงกว้าง ตอบโจทย์การใช้งานจริงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และที่สำคัญคือเราจะพยายามทำให้ยั่งยืน สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง” คุณชาวี กล่าวเพิ่มเติม

ก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเองสู่ NETPIE 2020

ระยะเวลากว่า 5 ปี ที่ NETPIE โลดแล่นในโลก IoT ในมือของนักพัฒนา นักเรียน นักศึกษา และได้ก้าวสู่โลกธุรกิจผ่าน NEXPIE เกิดคอมมูนิตี้เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความต้องการของผู้ใช้จริงทั้งแง่บวกและลบ และพัฒนาสู่ “NETPIE 2020” เวอร์ชันใหม่ล่าสุดของ NETPIE นี้ที่จะมา ทลายทุกข้อจำกัด ด้วยคุณสมบัติที่พัฒนาขึ้นเพื่อลดภาระและตอบโจทย์ผู้ใช้งานด้าน IoT โดยเฉพาะ

โดย ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ – รองผู้อำนวยการเนคเทค ได้ขยายความคุณสมบัติเด่น ๆ ของ NETPIE 2020 ไว้ดังนี้
netpie-2020-seminar
● ใช้งานง่าย | ด้วย UI/UX ที่ปรับปรุงใหม่

“เรายอมรับว่ามีเสียงบ่นว่า NETPIE ดีนะแต่ใช้ยากนิดหนึ่ง เราก็น้อมรับและมีการปรับปรุงออกแบบ UI/UX ใหม่ทั้งหมด โดยได้มีการทดสอบกับกลุ่ม Bata User ช่วงเดือนที่ผ่านมาก็ได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดีกว่า ใช้ง่ายขึ้น เรียนรู้ง่าย” โดย NETPIE 2020 ออกแบบโดยคำนึงถึง User Experience เป็นหลัก ช่วยให้เรียนรู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ใช้งานง่ายทั้งมือใหม่และมือโปร

● ยืดหยุ่น ไร้ขีดจำกัด | Scalability

มุมมองของ ดร.พนิตาต่อแพลตฟอร์มที่รองรับการพัฒนา IoT ในเชิงพาณิชย์นั้น ต้องวัดที่ Scalability คือ ความสามารถในการขยายตัวอย่างไรขีดจำกัด อย่างไรก็ตามคำว่าขยายตัวในที่นี้ ถ้าหมายถึงการไปซื้อเซิฟเวอร์ หรือ ฮาร์ดดิสก์ใหม่เพื่อเชื่อมต่อนั้นอาจต้องใช้ระยะเวลา

“แต่คำว่าขยายตัวแบบ Scale up ของ NETPIE 2020 คือ ความยืดหยุ่นด้วยสถาปัตยกรรม Microservice ที่ได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมด ทำให้แพลตฟอร์มมีความยืดหยุ่นรองรับการขยายตัวแบบไร้ขีดจำกัด ทั้งการเพิ่มบริการใหม่ ๆ เข้าไปได้แบบไร้รอยต่อโดยไม่กระทบกับบริการที่มีอยู่เดิม และการขยายตัวเพื่อรองรับจำนวนอุปกรณ์หรือปริมาณข้อมูลมหาศาลในยุค AI และ 5G” ดร.พนิตา อธิบาย

netpie-2020-seminar
● พร้อมรองรับการผลิตเชิงพาณิชย์ | Commercial ready

“เมื่อ NEXPIE ได้ออกไปเจอโลกธุรกิจจริง เราเห็นแล้วว่าความต้องการในเชิงพาณิชย์นั้นไม่เหมือนกับตอนที่เราทำแพลตฟอร์มเพื่อนักพัฒนา แบบ Maker Style คือ ทำเอง ใช้เอง ยกตัวอย่างการผลิตหลอดไฟ กระบวนการเดิมของเรา คือ หลอดไฟแต่ละหลอดจะต้องมี ID และการตั้งโปรแกรมที่ต่างกันซึ่งมันเป็นไปไม่ได้จริงในโลก Commercial” ดร.พนิตา กล่าว

ดังนั้นในเวอร์ชันใหม่ NETPIE2020 ได้พัฒนาอำนวยความสะดวกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ IoT เชิงพาณิชย์ หรือการผลิตอุปกรณ์ IoT จำนวนมาก (Mass Production) โดยผู้พัฒนา/ผู้ประกอบการ สามารถจัดการสิทธิ์ จัดกลุ่ม ลงทะเบียนความเป็นเจ้าของอุปกรณ์ได้ภายหลังการขาย

● จัดการข้อมูลครบวงจร | Platform-Centric Features

ระยะเวลากว่า 5 ปี ที่ NETPIE และ NEXPIE ได้สัมผัสความต้องการของผู้ใช้งาน และพบว่าความต้องการหลัก ๆ ของการใช้ IoT Platform นอกเหนือจากการเชื่อมต่อแล้ว คือ การจัดการข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บข้อมูลระยะยาว การแสดงผล หรือการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อ รวมถึงการแจ้งเตือน

ดังนั้น ใน NETPIE2020 เวอร์ชันใหม่ ได้พัฒนาบริการเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลเหล่านี้รวมไว้แพลตฟอร์มเดียวเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งาน โดย ดร.พนิตา กล่าวถึงตัวอย่างของฟังก์ชันการจัดการข้อมูลที่เป็นไฮไลต์ ดังนี้

• Device Shadow
เมื่อเรามีอุปกรณ์ IoT จะมีเงาหรือฐานข้อมูลของอุปกรณ์นั้น ๆ อยู่บนแพลตฟอร์มอีกตัวหนึ่ง กล่าวคือ สถานะทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์ในโลกทางกายภาพ ยกตัวอย่าง สถานะเปิด/ปิด จะปรากฏอยู่บนแพลตฟอร์ม โดยที่เราสามารถสั่งงานกับฐานข้อมูลนี้ได้ อาจเรียกว่าเป็น Digital Twin
• Device Schema
ข้อมูลที่เกิดขึ้นจากอุปกรณ์เราสามารถกำหนดรูปแบบการจัดเก็บได้ เช่น หากเราต้องการทราบว่าหลอดไฟมีความสว่างเท่าไหร่ ในทุก ๆ 10 นาที เราสามารถกำหนดคุณสมบัติของการเก็บข้อมูลได้ นอกจากนี้ยังสามารถจัดการข้อมูลที่ได้มาจากเซนเซอร์ (Sensor) บนแพลตฟอร์มได้ ไม่ว่าจะเป็น การแปลงข้อมูล (Data Transformation) เช่น การเปลี่ยนหน่วย หรือ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลแบบง่าย ๆ
• Device Trigger
สามารถตั้งเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น เงื่อนไขเพื่อแจ้งเตือน เงื่อนไขเพื่อกำหนดการกระทำต่อไป
netpie-2020-seminar

โดยสรุป NETPIE2020 มีระบบจัดการข้อมูลที่ครบวงจร ช่วยให้การพัฒนาแอปพลิเคชันโต้ตอบกับอุปกรณ์ทำได้ง่ายยิ่งขึ้น เช่น บริการ Dashboard บริการกำหนดเงื่อนไขการแจ้งเตือนไปยังช่องทางต่าง ๆ บริการเก็บสถานะและข้อมูลของแต่ละอุปกรณ์ เป็นต้น

● อิสระในการเชื่อมต่อและการเขียนโปรแกรม

ย้อนกลับไปที่ NETPIE เวอร์ชัน 2015 จะเห็นว่ากลุ่มของอุปกรณ์และภาษาโปรแกรมที่ NETPIE รองรับ คือ Microgear โดยทีมต้องพัฒนา Microgear เพื่อรองรับเมื่อมีอุปกรณ์ใหม่ออกสู่ตลาด หรือพัฒนา Microgear Library เมื่อมีภาษาโปรแกรมใหม่ โดยกระบวนการดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาและอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของ IoT

“สำหรับ NETPIE2020 เราทลายทุกขีดจำกัด โดยรองรับอุปกรณ์ไม่จำกัดตราบใดที่อุปกรณ์ตัวนั้นมีภาคการสื่อสารที่รองรับ MQTT ซึ่งเป็นภาษา หรือ โปรโตคอล (Protocol) หลักที่โลก IoT ใช้กัน สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และไมโครคอนโทรลเลอร์ได้หลากหลายยิ่งขึ้น และส่วนของภาคการสื่อสารจะทำให้เรารองรับโปรโตคอลใหม่ ๆ เช่น Lorawan NB-IoT 3G 4G รวมถึง 5G ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต” ดร.พนิตา กล่าว

netpie-2020-seminar

ถอดรหัสความสำเร็จ ! เดินเกมธุรกิจด้วย IoT สัญชาติไทย

เทคโนโลยี Internet of things (IoT) สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายในภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวบข้อมูลเชิงลึกจากอุปกรณ์ IoT เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน การตัดสินใจ รวมถึงการพยากรณ์สิ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ นอกจากนี้ข้อมูลมหาศาลแบบ Real-time ที่เกิดจากอุปกรณ์ IoT ยังสามารถใช้พัฒนาบริการและรูปแบบทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้อีกด้วย [1]

สำหรับ NETPIE แพลตฟอร์ม IoT สัญชาติไทยได้เข้าไปเป็นหนึ่งฟันเฟืองในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความสมาร์ตตั้งแต่ปี 2015 จนถึงเวอร์ชันใหม่ล่าสุด NETPIE2020 ในปีนี้

แต่หนทางการเดิมเกมธุรกิจด้วย IoT สัญชาติไทยจะเป็นอย่างไร ติดตามพร้อมกัน ดังนี้ . . .

● ความท้าทายของการนำ IoT ยกระดับสู่ Industry 4.0

บริษัท นิเด็ค ชิบาอุระ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หนึ่งในโรงงานที่เลือกใช้ NETPIE ยกระดับสู่ Industry 4.0 สำหรับความท้าทายของการใช้ IoT ในโรงงานนั้น คุณเอกสิทธิ์ อินทร์ทอง ผู้จัดการทั่วไป – นิเด็ค ชิบาอุระฯ กล่าวว่า

“IoT ทุกคนทำได้จริง ๆ แต่ถ้าเรามองว่าไม่ต้องศึกษาอะไรเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ในโลกปัจจุบัน สิ่งที่เราเริ่มเป็นเรื่องใหม่ก็จริง เพราะทุกคนจบมาไม่ได้เรียนเรื่องนี้ ในช่วงแรกนั้น IoT ไม่มีใครเคยรู้จัก เพราะฉะนั้นเราเริ่มไปดูไปเรียนรู้ ปัจจุบันเทคโนโลยีนั้นเรียนรู้ได้ง่าย ทั้งนี้ NETPIE เป็นแพลตฟอร์มของไทย ใช้ภาษาไทยอันนี้เรียนรู้ง่ายที่สุด”

netpie-2020-seminar

นิเด็ค ชิบาอุระฯ เริ่มต้นนำ NETPIE มาประยุกต์ใช้กับเครื่องปรับอากาศสำหรับโรงงาน การควบคุมอุณหภูมิของห้องนั้นสำคัญ ด้วยวัตถุดิบที่อยู่ภายในห้อง แม้แต่ในสำนักงานซึ่งได้กำหนดอุณหภูมิไว้ที่ 28 องศาเซลเซียส เดิมการตรวจสอบอุณหภูมิของแต่ละห้องนั้นจะต้องใช้พนักงานในการจดบันทึกและทำกราฟ

“เราเริ่มต้นด้วยความต้องการไปสู่ Industrial 4.0 เมื่อได้รู้จักกับ NETPIE จึงเริ่มพัฒนามา โดยขั้นตอนแรกเราเปลี่ยนให้เครื่องจักรพูดกับเราได้ Output คือ Visualize System ยกตัวอย่าง เรื่องของยอดการผลิตในแต่ละวัน จากเดิมที่เราให้พนักงานคอยจดบันทึกซึ่งไม่ทันต่อความต้องการ ตอนนี้เราก็เปลี่ยนมาเป็นแบบ Real-time” คุณเอกสิทธิ์ อธิบาย

เช่นเดียวกันกับโรงงานด้าน Electronics Manufacturing Service (EMS) อย่างบริษัท กราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด

ซึ่งได้นำ NETPIE ประยุกต์ใช้ในโรงงาน โดย ดร.ชานนท์ ตุลาบดี ผู้ก่อตั้งบริษัท กราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด เล่าว่า

“เราเป็น Demo user ที่ได้นำ NETPIE2020 มาใช้พัฒนาระบบ management ดูเรื่อง productivity และ output ในช่วงเวลาเพียง 2 สัปดาห์ เราสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อทดลองใช้ในโรงงานตัวเอง ก่อนขยายผลออกมาทำในเรื่องของ Industrial IoT

ตอนนี้เราพยายามที่จะสนับสนุนและผลักดันนำ NETPIE2020 ไปใช้ในเชิงอุตสาหกรรมให้มากขึ้น และขอเป็นอีกหนึ่งผู้ใช้จริงที่นำ NETPIE มาต่อยอดพัฒนาใช้ในโรงงานตัวเอง”
netpie-2020-seminar

สำหรับระบบที่ ดร.ชานนท์กล่าวถึงนั้น คือ Manufacturing Resources planning Industrial Internet of Things (MRP IIoT) ระบบรายงานยอดการผลิตแบบ Real-time จากเดิมที่ใช้พนักงานจดบันทึกยอดการผลิตกว่าสองหมื่นชิ้นต่อวันบน White board โดยในอนาคตกราวิเทคไทยจะพัฒนาเชื่อมต่อกับเซนเซอร์เพื่อบันทึกอัตโนมัติอีกด้วย

● Smart Home กับการท่องโลก IoT ก่อนปักหมุดที่ IoT สัญชาติไทย

Smart Home เป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองวิถีชีวิตที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เกิดผลิตภัณฑ์เพื่อบ้านอัจฉริยะมากมายในประเทศไทยแต่ส่วนใหญ่กลับไม่ใช่แบรนด์ไทย อย่างไรก็ตามมีการเปิดตัวปลั๊กไฟ IoT ตัวแรกโดยผู้ผลิตไทยอย่าง Anitech ภายใต้บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด ที่มีเป้าหมายผลักดันให้เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) ของสินค้า Smart Home เพื่อคนไทย โดยได้ร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลาย

netpie-2020-seminar

แต่ก่อนที่สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จะเดินทางมาพบ NETPIE ผ่านบริษัท NEXPIE นั้น คุณวัชรินทร์ วิทยวีรศักดิ์ – Chief Innovation Officer แห่งสมาร์ท ไอดี กรุ๊ป เล่าว่า หลังจากที่บริษัทมีทิศทางในการพัฒนาสินค้าให้กับ Home user นั้น เริ่มต้นตอนแรกบริษัทยังไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มไทย คลาวด์ไทย หรือ เซิฟเวอร์ไทย โดยได้ทดลองนำพาร์ทเนอร์ที่มีความหลากหลายแตกต่าง เพื่อดูการทำงานร่วมกัน รวมถึงการดำเนินการในเชิงพาณิชย์ว่าติดขัดปัญหาอย่างไร

“แน่นอนว่าปัจจุบันมี Service Provider หลายราย แต่ละรายมีเงื่อนไขข้อจำกัดรวมถึงการเข้าใจผู้ใช้งานแตกต่างกัน เราเป็นผู้ผลิตไทยเป็นผู้ให้บริการฝั่งไทย เราคิดว่าการสื่อสารกับผู้พัฒนาแพลตฟอร์มสัญชาติไทยเป็นแนวทางที่ซิงค์กันได้มากที่สุดและสามารถทำงานร่วมกันในระยะยาวได้” คุณวัชรินทร์ กล่าว

ในโลกดิจิทัลที่ข้อมูลมีค่าเทียบเท่าน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในขับเคลื่อนพัฒนาเทคโนโลยีอื่น ๆ จำนวนมาก ก่อให้เกิดนวัตกรรมหลากหลาย ดังนั้น ความปลอดภัยของข้อมูล จึงเป็นหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป เลือกใช้แพลตฟอร์ม IoT สัญชาติไทย

“เราเชื่อมั่นว่าสินค้าจากผู้ประกอบการไทยไม่ใช่แค่เพียงใช้ได้ ใช้ดี แต่ยังสามารถควบคุมเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลได้ด้วย นั่นคือเหตุผลสำคัญที่เราร่วมงานกับพาร์ทเนอร์สัญชาติไทย พยายามสร้างสินค้าที่เป็นแพลตฟอร์มสัญชาติไทย เพราะความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลสำคัญมาก เราไม่อยากให้ข้อมูลเหล่านั้นรั่วไหลไปในต่างประเทศ” คุณวัชรินทร์ อธิบายเพิ่มเติม

netpie-2020-seminar
เช่นเดียวกันกับ บริษัท ธัญผลวิศวกรรม จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกมอเตอร์ประตูรีโมทอัจฉริยะสัญชาติไทยความเชี่ยวชาญกว่า 20 ปี แต่ยังคงค้นหาความโดดเด่นแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ โดยนำ IoT สัญชาติไทยเติมเต็มช่องว่างของผลิตภัณฑ์สู่ประตูรีโมทอัจฉริยะที่สามารถควบคุมจากที่ใดก็ได้

“เราเป็นโรงงานผลิตมอเตอร์ประตูรีโมทมา 20 ปี เป็นเจ้าเดียวในประเทศไทย เพราะฉะนั้นเราอยากทำให้มันแตกต่าง เริ่มต้นเราใช้ซิมการ์ดอาศัยเซิฟเวอร์ของเครือข่ายมือถือ ดังนั้นจึงควบคุมได้ภายในประเทศไทยเท่านั้น เมื่อเราได้ได้ลองใช้ NETPIE ประมาณ 3 ปีก่อน โดยเชื่อมต่อเข้ากับประตูรีโมทพัฒนาความสามารถการควบคุมมอเตอร์จากที่ไหนก็ได้ในโลก”

netpie-2020-seminar

● IoT กับ สื่อการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล

สื่อการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลมากมายหลายรูปแบบในปัจจุบันส่วนใหญ่มีเป้าหมายไปสู่กระบวนการคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์เพื่อรู้เท่าทันและอยู่รอดในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี หรือ ทักษะศตวรรษที่ 21 โดยการ Coding ฝึกคิดเชิงคำนวณก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่เพิ่มเติมเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย

NETPIE แพลตฟอร์ม IoT สัญชาติไทยได้เข้าไปเป็นฟันเฟืองหนึ่งของสื่อการเรียนรู้เพื่อการ Coding ของเด็กไทยอย่าง KidBright บอร์ดสมองกลฝังตัวที่เนคเทค-สวทช.ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐแจกจ่ายสื่อการเรียนรู้สู่โรงเรียนทั่วประเทศ นอกจากนี้บริษัทที่มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอความแตกต่างในการเรียนรู้เทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง INEX (Innovative Experiment Co., Ltd) ได้สร้างชุดการเรียนรู้และพัฒนา IoT โดยเลือกใช้แพลตฟอร์ม NETPIE อีกด้วย

คุณธีรวุฒิ จิตพรหมมา – INEX เล่าว่า “เมื่อ INEX ได้ทดลองใช้งาน NETPIE เพื่อทำคู่มือ โดยใช้เวลาทดลองไม่ถึงชั่วโมงก็สำเร็จสามารถเปิดปิดหลอดไฟได้ ผมเห็นแล้วว่ามันง่าย คนที่ไม่มีพื้นฐาน IoT เลย แต่มีพื้นฐานการทำคอนโทรลเลอร์มาก่อนต้องทำได้แน่นอน เมื่อเห็นทิศทางที่เป็นไปได้ INEX จึงทำคู่มือเกี่ยวกับ IoT พยายามเล่าให้ผู้คนได้รู้ว่าประเทศไทยเรามีคลาวด์ มีโบรกเกอร์ที่ชื่อ NETPIE เป็นของคนไทยเอง อยากให้ลองใช้ดูว่ามันง่ายและสะดวกขนาดไหน”

“ถ้าทุกคนพูดถึงเรื่องการแจ้งเตือนผ่านไลน์ ผมก็มองว่ามันไม่ว๊าวสักเท่าไหร่ เพราะผมเขียนโค้ดให้แจ้งเตือนผ่านไลน์ได้ แต่สำหรับ NETPIE 2020 คุณเขียนโค้ดเข้าไปแค่ครั้งเดียวบนแพลตฟอร์มก็แจ้งเตือนได้ทันที หรือจะยกเลิก เพิ่มสเกลขึ้นไปได้ผ่านแพลตฟอร์ม แบบนี้แหละที่ผมต้องการมานานแล้ว ในอนาคตอาจต่อยอดสู่ทวิตเตอร์ เฟสบุ๊คก็ได้” คุณธีรวุฒิ อธิบายเพิ่มเติม

netpie-2020-seminar

ก้าวต่อไปของ IoT สัญชาติไทย

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค ได้อธิบายความเชื่อมโยงของเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Smart Nation หรืออาจตกขบวนหากก้าวไม่ทันเทคโนโลยี ดังนี้

“การพัฒนา AI ต้องใช้ข้อมูลมหาศาล (Big Data) และการจะได้ข้อมูลมหาศาลนั้นจำเป็นต้องมีแพลตฟอร์ม IoT การที่แพลตฟอร์ม IoT จะทำงานได้ดียิ่งขึ้น เรารอ NETWORK ระดับ 5G” โดยตั้งแต่ปี 2015 NETPIE เป็นแพลตฟอร์ม IoT ที่เปิดให้บริการรายแรก ๆ ทั้งไทยและทั่วโลกในช่วงเวลาที่น้อยคนจะรู้จัก IoT โดยมีเป้าหมายผลักดันประเทศสู่ Maker Nation ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา NETPIE เติบโตอย่างต่อเนื่อง

netpie-2020-seminar
netpie-2020-seminar

โดย ดร.พนิตา กล่าวว่า “เรามีผู้ใช้บริการกว่า 4 หมื่นบัญชี รวมถึงอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเข้ามามากกว่าหนึ่งแสนชิ้น จริง ๆ แล้วเป้าหมายของเรา ณ ปี 2015 เราตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปี เราอยากเห็น IoT ในประเทศไทยทั้ง 1 ล้านชิ้น แม้จะยังไม่ถึงเป้า แต่ทำให้เรากลับมาทบทวน ก้าวข้ามข้อจำกัด เป็นเวอร์ชันใหม่ในวันนี้”

นอกจากนี้ คุณนิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที ได้ให้ความเห็นว่า การมีแพลตฟอร์มของประเทศก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นการโชว์ศักยภาพ ความพร้อม ความสามารถของนักวิจัยไทยแต่ในแง่ของการทำธุรกิจ เราไม่สามารถบังคับผู้ประกอบการให้ใช้แพลตฟอร์มของเรา

netpie-2020-seminar

แม้ผู้ได้ทดลองใช้งาน NETPIE2020 จะกล่าวเป็นเสียงเดียวกันถึงการก้าวข้ามข้อจำกัดสู่แพลตฟอร์มการพัฒนา IoT ที่ใช้งานง่าย เรียนรู้ง่าย รองรับการขยายตัวเชิงพาณิชย์ แต่วงการ IoT ยังคงต้องพัฒนาต่อไปเพื่อตอบโจทย์ใหม่ ๆ ของเทคโนโลยี

“ตอนนี้หลายเสียงบอกว่า NETPIE ง่ายขึ้น แต่ไม่อยากให้หยุดที่ตรงนี้ โดยทฤษฎีของญี่ปุ่นที่ผมได้รับการหล่อหลอมมา ต้องคิดเสมอว่ามันสามารถพัฒนาต่อไปได้ เพราะฉะนั้นถ้าง่ายแล้วมันต้องง่ายขึ้นไปอีก” คุณเอกสิทธิ์ อินทร์ทอง – ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นิเด็ค ชิบารุระฯ กล่าว

สำหรับเป้าหมายของ NETPIE ในอนาคตนั้น ดร.พนิตา กล่าวว่า จะเตรียมการรองรับการเชื่อมต่อแบบ 5G เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเป็นตัวกลางขนส่งข้อมูล พร้อมแผนในการผนวกความสามารถด้านการประมวลผลข้อมูลด้วย AI อีกด้วย พร้อมกันนี้จะเพิ่มเติมบริการที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมของประเทศที่เพิ่มขึ้น

“การเป็น IoT Platform สัญชาติไทยในบทบาทของเนคเทคเราคิดว่าสิ่งนี้เป็นสาธารณูปโภคหลักของประเทศ เรายืนหยัดให้บริการฟรีเพื่อเป็นเครื่องมือให้ภาคการศึกษา นักพัฒนา รวมถึง Start up ที่ต้องฝึกฝนบ่มเพาะฝีมือและไอเดียโดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมเป็นสปริงบอร์ดสร้างนวัตกรรมและนวัตกรให้กับประเทศ ผลักดัน Makers Nation ไปสู่การเป็น Smart Nation ในอนาคตอันใกล้” ดร.พนิตา กล่าวทิ้งท้าย
 

เชิญชม ! บทบาทของ IoT Platform กับการพัฒนาประเทศ

อ้างอิง

[1] Frost and Sullivan. (2562). การคาดการณ์อนาคต เทคโนโลยีดิจิทัลประเทศไทย 2035. สืบค้นจาก https://www.depa.or.th/storage/app/media/file/Second%20Deliverable%20RevVer%20TH%20V12%20140819%20FIN.pdf

บทความที่เกี่ยวข้อง