‘Open-D Platform’ ปลดล็อกข้อจำกัด ตอบโจทย์ Open Data ภาครัฐครบวงจร

Facebook
Twitter
‘Open-D Platform’ ปลดล็อกข้อจำกัด ตอบโจทย์ Open Data ภาครัฐครบวงจร

สาระจากการเสวนาออนไลน์ Data Platform Technology for Open Data
โดย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช.
และ ดร.มารุต บูรณรัช กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์เนคเทค สวทช.

บทความ | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
ภาพประกอบ | ศศิวิภา หาสุข

การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data) เป็นนโยบายสำคัญของประเทศในการยกระดับการทำงานภาครัฐให้มีความทันสมัย เปิดเผย เชื่อมโยง และโปร่งใส ส่งเสริมธุรกิจของภาคเอกชน สร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ตลอดจนเป็นฐานในการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

อย่างไรก็ตาม กระบวนการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐนั้นไม่ง่าย Data Governance หรือ ธรรมาภิบาลข้อมูล จึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการกำกับและดูแลข้อมูล ตั้งแต่กระบวนการสร้าง การจัดเก็บ การวิเคราะห์ การเข้าถึง ไปจนถึงการทำลายข้อมูล เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย รองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างยั่งยืน

ล่าสุดเนคเทค สวทช. ได้มีการประกาศเปิดตัว “Open-D” เทคโนโลยีแพลตฟอร์มข้อมูลสำหรับข้อมูลแบบเปิด ที่จะมาช่วยปลดล็อกข้อจำกัดของการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data) ให้เป็นไปตามมาตรฐานโดยง่าย สะดวก ครบวงจร และไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านการเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ Data Platform Technology for Open Data โดย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. และ ดร.มารุต บูรณรัช กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์เนคเทค สวทช.

เนคเทค สวทช. นำประสบการณ์ด้านข้อมูลตอบรับนโยบายประเทศ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เนคเทค สวทช. ได้รับโอกาสและความเชื่อมั่นในการนำประสบการณ์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านข้อมูลเข้าไปสนับสนุนการดำเนินงานด้านข้อมูลของหลายหน่วยงาน ยกตัวอย่าง TPMAP ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า ที่ได้บูรณาการข้อมูลประชากรในมิติต่าง ๆ เพื่อชี้เป้าและพัฒนากลุ่มคนเป้าหมาย การบูรณาการข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สู่ระบบดูแลสุขภาพเขื่อน การบูรณาการข้อมูลจากการประปานครหลวง สู่ระบบพยากรณ์และจำลองเหตุการณ์เพื่อการบริหารจัดการปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็ม หรือ ระบบรักษ์น้ำ เป็นต้น

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า “จากประสบการณ์ที่เนคเทคมีโอกาสพัฒนาฐานข้อมูลให้กับหลายหน่วยงาน ผมเชื่อว่าการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำให้เกิดประสิทธิภาพต่อประเทศมากขึ้น เช่น เราอยากรู้ข้อมูลคนจน เราไปที่ TPMAP ถ้าเราอยากรู้ข้อมูลแปลงเกษตร เราไปที่ Agri-Map แต่หากอยากรู้ข้อมูลเกษตรกรที่ยากจนว่ามีแปลงปลูกอยู่ที่ไหน เราต้องนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกัน

มันเหมือนง่ายแต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะข้อมูลทั้งหมดถูกพัฒนาขึ้นจากหน่วยงานที่มีพระราชบัญญัติกำกับ เพราะฉะนั้นการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากันจะต้องมีการปรับตั้งแต่ระดับกฎหมาย ไปจนถึงความรู้ความเข้าใจของหน่วยงาน นำไปสู่การพัฒนาระบบต่อไป ”

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ได้ฉายภาพหัวใจหลักของการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ คือ Public Government Data หรือ ข้อมูลที่สามารถเปิดเผยได้ตามพระราชบัญญัติของกระทรวง โดยมีเว็บ Data.go.th ที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เป็นเจ้าภาพในการดำเนินงานให้บริการข้อมูลเปิดภาครัฐ การทำให้ข้อมูลเปิดในระดับหน่วยงานสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้ จึงต้องมีมาตรฐานสำหรับระบบบัญชีข้อมูล หรือ Government Data Catalog ซึ่งปัจจุบัน DGA ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติได้พัฒนามาตรฐานของเมทาดาตาของข้อมูลภาครัฐเพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ทั่วประเทศ เมื่อข้อมูลทั้งหมดสามารถเชื่อมโยงกันในระดับกระทรวงหรือหน่วยงาน รวมถึงข้อมูลเปิดภาครัฐ จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ของประเทศมากขึ้น

จากนโยบายของประเทศที่สนับสนุนให้มีการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government Data) เนคเทค สวทช.ได้วางเป้าหมายในการเป็น “Data Tool” ให้กับประเทศ ปัจจุบันเครื่องมือด้านข้อมูลที่เนคเทคได้พัฒนาขึ้น ได้ถูกนำไปใช้ในหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ ( https://data.go.th) ระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐ ( https://gdhelppage.nso.go.th) ฐานข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อสนับสนุนการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ( https://opendata.nesdc.go.th) เป็นต้น

“จะเห็นได้ว่าเครื่องมือเหล่านี้เป็นประโยชย์อย่างยิ่ง เนคเทค สวทช. ถือไว้คนเดียวไม่อาจขยายการใช้งานได้อย่างกว้างขวางมากนัก เราจึงตั้งใจส่งมอบเครื่องมือเหล่านี้สู่สาธารณะในรูปแบบ Open Source คือ Open-D Platform เพื่อสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูล ที่จะเป็นประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรมของประเทศต่อไป” ดร.ชัย กล่าว

‘Open-D Platform’ ปลดล็อกข้อจำกัด ตอบโจทย์ Open Data ภาครัฐครบวงจร

Open-D หรือ เทคโนโลยีแพลตฟอร์มข้อมูลสำหรับข้อมูลแบบเปิด เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปิดเผยและให้บริการข้อมูลเปิดภาครัฐที่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยง่าย สะดวก ครบวงจร ก้าวข้ามข้อจำกัดของการเปิดเผยข้อมูลที่ผ่านมา โดย ดร.มารุต บูรณรัช กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ เนคเทค สวทช. ได้ฉายภาพประสบการณ์ข้อจำกัดการพัฒนาข้อมูลแบบเปิดประเทศไทยในมุมมองของเนคเทค ใน 3 ประเด็นหลัก ๆ ได้แก่

1. ขาดซอฟต์แวร์สนับสนุนการดำเนินการอย่างครบวงจร
การจัดทำ Open Data ให้มีประสิทธิภาพจะต้องดูแลและอัปเดตข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการควบคุมคุณภาพ ความปลอดภัยของข้อมูล จึงเป็นภาระงานของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน ด้วยคุณภาพของข้อมูลที่เปิดเผยออกไป ส่งผลโดยตรงต่อภาพลักษณ์ต่อองค์กร ซึ่งปัจจุบันการพัฒนา Open Data ในประเทศไทย ยังขาดเครื่องมือที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การนำเข้า การตรวจสอบ การเปิดเผยข้อมูล ที่เป็นกึ่งอัตโนมัติ รวมถึงขาดซอฟต์แวร์ที่จะทำให้ผู้ใช้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้โดยง่าย

2. ความต้องการเทคโนโลยีแพลตฟอร์มข้อมูลที่สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
เมื่อความต้องการของภาครัฐในการจัดทำ Open Data มีมากขึ้น ภาคเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยพัฒนามากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามซอฟต์แวร์ที่เอกชนจะสามารถนำมาใช้ต่อยอดได้ คือ CKAN ถึงแม้จะเป็นซอฟแวร์ระบบจัดการข้อมูล (Data Management System) ชนิดโอเพนซอร์ส ที่ได้รับความนิยมในการนำไปให้บริการเว็บไซต์บัญชีข้อมูล (Data Catalog) สำหรับ Open Data ทั่วโลก แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้ (Learning Curve) ค่อนข้างมาก ประกอบกับปัจจุบันประเทศไทยมีมาตรฐานเมทาดาตาของข้อมูลภาครัฐ ซึ่งมีความท้าทายในการทำความเข้าใจและพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับมาตรฐานดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่จะมาเสริมภาคเอกชนให้สามารถปรับระบบให้สอดคล้องตอบโจทย์บริบทภาครัฐได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

3. ขาดการบูรณาการเชื่อมโยงเว็บข้อมูลเปิดในระดับหน่วยงาน จึงเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงข้อมูลเปิดภาครัฐ
เทรนด์การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐในระดับสากล มักเป็น Open Data ในระดับหน่วยงาน หรือ ระดับเมือง เช่น Open Data ของเมืองใหญ่ หน่วยงาน มหาวิทยาลัย ห้องสมุด เป็นต้น จึงจำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มที่ช่วยสนับสนุนให้หน่วยงานสามารถเปิดเผยและบริหารจัดการข้อมูลเปิดได้ด้วยตัวเอง ในขณะเดียวกันการจัดทำ Open Data ในระดับหน่วยงาน ทำให้ข้อมูลเปิดภาครัฐไม่สามารถเข้าถึงได้จากแหล่งเดียว ผู้ใช้สืบค้นไม่เจอ ทำอย่างไรจึงจะสามารถบูรณาการข้อมูลเปิดภาครัฐที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศให้สามารถสืบค้นร่วมกันในที่เดียวได้

จากข้อจำกัดของการพัฒนาข้อมูลแบบเปิดของประเทศไทยในอดีต วันนี้เนคเทค สวทช.พัฒนา Open-D เทคโนโลยีแพลตฟอร์มข้อมูลสำหรับข้อมูลแบบเปิดขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อทลายข้อจำกัดเหล่านี้ ช่วยให้การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเป็นเรื่องง่าย ด้วย 4 ฟีเจอร์หลักดังนี้

1. Data Catalog หรือ CKAN Open-D
เป็นการผนวกความสามารถของ Open-D เข้าไปใน CKAN ในรูปแบบส่วนขยาย (CKAN Extension) โดย CKAN Open-D พัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง เนคเทค สวทช. ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) โดยมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • การปรับเมทาดาตา (Metadata) ให้เป็นไปตามมาตรฐานคำอธิบายข้อมูลหรือเมทาดาตาสำหรับชุดข้อมูลภาครัฐโดยอัตโนมัติ เพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลในระดับประเทศ ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวกำหนดขึ้นภายใต้โครงการระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐ (Government Data Catalog)
  • รองรับการเชื่อมโยงข้อมูล Data Catalog (Data Catalog Harvesting) กับระบบบัญชีข้อมูลกลางภาครัฐ (Government Data Catalog) และเว็บ Data.go.th
  • รองรับการทำ Data Visualization ชุดข้อมูลเปิด โดยผ่านแพลตฟอร์ม Open-D
  • รองรับการ Tag และ Search ภาษาไทย (ซึ่งเดิม CKAN จะไม่รองรับภาษาไทย)

“การพัฒนา CKAN Open-D เกิดจากประสบการณ์ และการศึกษา เรียนรู้ของทีมนักวิจัย ที่ได้พยายามปรับแต่ง CKAN ให้ตอบโจทย์การใช้งานต่างๆ เรียกได้ว่า เราเจ็บตัวมาก่อน ต้องใช้เวลากว่า 5-6 เดือนกว่าจะเริ่มปรับแต่งระบบ CKAN ให้ทำงานได้อย่างที่เราต้องการได้ เราจึงได้ถอดบทเรียนดังกล่าวนำมาพัฒนาเป็น CKAN Open-D ซึ่งใน CKAN Open-D เราได้จัดการปรับแต่งส่วนยาก ๆ ในเชิงลึกให้แล้ว เช่น การปรับเมทาดาตา การปรับ User Interface สำหรับนำเข้าชุดข้อมูล ให้สอดคล้องกับมาตรฐานภาครัฐ แล้วพัฒนามาเป็นส่วนขยายของ CKAN ให้สามารถนำไปติดตั้งใช้งานได้ทันที” ดร.มารุต กล่าวเสริม

2. Data Playground
สนับสนุนให้ผู้ใช้งานใช้ประโยชน์จากข้อมูลแบบเปิดได้ง่ายขึ้น โดยปกติสิ่งที่ผู้ใช้จะได้รับจากเว็บไซต์ Open Data คือการดาวน์โหลดชุดข้อมูล ซึ่งต้องนำไปประมวลผลต่อ แต่ใน Open-D Data Playground จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถพรีวิวข้อมูลได้ทันทีโดยไม่ต้องดาวน์โหลด รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูล (Data Visualization) ในรูปแบบตาราง แผนที่ กราฟ ตลอดจนรองรับการ embedd และ แชร์แผนภาพไปใช้งานในเว็บต่าง ๆ ได้ต่อไป

3. Data Governance
สนับสนุนการจัดทำข้อมูลแบบเปิด ที่สอดคล้องกับกรอบธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance Framework) ด้วยไม่ใช่การนำข้อมูลไปอัปโหลดขึ้นเว็บไซต์เพียงเท่านั้น แต่ต้องมีกระบวนการกำกับดูแล โดยทีมบริกรข้อมูลของหน่วยงาน (Data Steward) Open-D จึงสร้างเครื่องมือที่รองรับกระบวนการเหล่านี้ เช่น กระบวนการจัดการระดับชั้นความลับของชุดข้อมูล กระบวนการควบคุมคุณภาพข้อมูล ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนา และได้มีการวางนโยบายนำเครื่องมือนี้มานำร่องใช้งานในองค์กรก่อนที่เปิดให้ใช้งานสำหรับหน่วยงานภายนอกเร็ว ๆ นี้่

4. Data Connect
สนับสนุนการนำเข้าข้อมูลที่เป็นไดนามิค ต้องอัปเดตบ่อย โดยผนวก “BigStream” แพลตฟอร์มสําหรับการจัดการข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real Time Data Platform) ที่โดดเด่นด้วยความสามารถในการนำเข้าข้อมูลจากแหล่งข้อมูลอย่างอัตโนมัติ ทั้งจากฐานข้อมูล API และข้อมูลจากเซ็นเซอร์ เป็นต้น สามารถประยุกต์ในงานด้าน Big Data จากแหล่งข้อมูลหลากหลาย ทั้ง Open Data และ Internet of Things ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีส่วน User Interface ในการจัดการโดยผู้ใช้เข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนา

นอกจากนี้ Open-D จะช่วยให้หน่วยงานตอบโจทย์ตัวชี้วัดการพัฒนาระบบบัญชีข้อมูล (Data Catalog) เพื่อนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data) ที่กำหนดโดยสำนักงานกพร.ได้อีกด้วย

การบูรณาการข้อมูลแบบเปิดให้รวมเป็นหนึ่งนั้น จะเกิดขึ้นได้เมื่อเมทาดาทาของข้อมูลเปิดจากเว็บไซต์ข้อมูลแบบเปิดของหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศมีมาตรฐานเดียวกัน โดย Open-D จะสามารถช่วยให้ข้อมูลเปิดที่หน่วยงานจัดทำผ่านระบบ จะสอดคล้องตามมาตรฐานบัญชีข้อมูลภาครัฐ สามารถเชื่อมโยงกับบัญชีข้อมูลอื่นๆ ได้ต่อไป ทำให้ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐและระบบอื่นๆ ที่เป็นแพลตฟอร์มในระดับประเทศสามารถดึงข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น นำไปสู่การสร้าง National Data Platform ให้เกิดขึ้นได้จริงต่อไป

“ถ้าท่านมีความต้องการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานให้ตอบโจทย์บริบทของประเทศ โดยต่อยอดจาก CKAN อาจต้องใช้เวลามาก เปรียบเป็นบันได 10 ขั้นเพื่อไปสู่ปลายทาง แต่ถ้าท่านใช้ Open-D จะช่วยประหยัดเวลาเหลือเพียง 2 ขั้นเท่านั้น ซึ่งจะช่วยลดภาระของหน่วยงานได้เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ทางเนคเทคต้องขอขอบคุณหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ DGA สำนักงานสถิติแห่งชาติ สภาพัฒน์ฯ รวมถึง Government Big Data Institute (GBDI) ที่ได้ให้โจทย์ และแนวทางในการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลเปิดเพื่อสนับสนุนนโยบาย Open Data ในระดับประเทศ และช่วยสนับสนุนให้หน่วยงานต่าง ๆ มาใช้งาน ดร.มารุต กล่าวเสริม

Open-D ไม่ได้มีดี แค่ตอบโจทย์ภาครัฐ

เมื่อความต้องการในการจัดทำข้อมูลเปิดภาครัฐมีมากขึ้น เอกชนอาจได้รับหน้าที่เข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ได้เช่นกัน ซึ่ง Open-D เป็นแพลตฟอร์ม Open Source ที่ใช้งานได้ฟรีสนับสนุนการใช้งานของทั้งภาครัฐและเอกชน

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย กล่าวว่า เป้าหมายของ Open-D ณ วันนี้ คือ การสนับสนุนให้ภาครัฐเปิด Open Data ได้โดยเร็ว ง่าย และไม่มีค่าใช้ง่าย หรือบริษัทเอกชนที่เข้ามารับหน้าที่ในส่วนนี้ กระบวนการเหล่านี้จะทำให้เกิด Ecosystem ขึ้นได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากการลงทุนมากมาย สุดท้ายงานวิจัยก็ไปถึงมือประชาชนได้ด้วยตัวงานวิจัยเอง

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เนคเทค สวทช. พยายามผลักดันงานวิจัยและพัฒนาส่งมอบเป็นแพลตฟอร์มกลางให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็น “AI For Thai” แพลตฟอร์มบริการปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย “NETPIE” แพลตฟอร์มไอโอที “HandySense” ระบบเกษตรแม่นยำฟาร์มอัจฉริยะ โดยหวังให้แพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีในมิติต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการต่อยอดพัฒนาประเทศโดยการลงทุนที่ไม่สูง

จนมาสู่วันนี้ . . . เป็นอีกครั้งที่เนคเทค สวทช. ได้ส่งมอบ Open Platform ให้กับประเทศ และเชื่อว่า Open-D จะสามารถขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Data Economy ได้อีกมากมาย” ดร.ชัย กล่าวทิ้งท้าย

เข้าสู่เว็บไซต์ Open-D พร้อมดาวน์โหลดใช้ฟรี ! CKAN Open-D

สอบถาม / แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง Open Data ที่
https://www.facebook.com/groups/thaiopendataplatform

วิจัยและพัฒนาโดย
ทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์
กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ศูนย์
เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.)
อีเมล: open-d@nectec.or.th