เนคเทค สวทช. ร่วมผลักดันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านมาตรฐานเปิดโอกาสสู่ตลาดสากล

Facebook
Twitter
สวทช. โดย เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park Thailand) ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) และห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ (SQUAT) เนคเทค (NECTEC) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เปิดตัว “โครงการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการ (Service Robot) และผลิตภัณฑ์ Internet of Things (IoT) ของไทยสู่อาเซียน” ด้วยการอบรมทั้งด้านเทคนิคและธุรกิจพร้อมรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทั้งทางเทคนิคและธุรกิจและการให้ทุนสนับสนุนรวมมูลค่ากว่า 3,000,000 บาท ณ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย วันที่ 23 มีนาคม 2566
 
ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสวทช. เป็นประธานเปิดกิจกรรม โดยกล่าวถึง ความสำคัญของการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรม Service Robot & IoT ความว่า ปัจจุบันเราอยู่ในช่วงที่เทคโนโลยีเติบโตแบบทวีคูณ (Exponential Growth) ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านทรัพยากรเชิงพลังงาน อีกมุมหนึ่งก็เป็นโอกาสที่จะนำเทคโนโลยีไอโอทีและปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้มาพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด หากย้อนกลับไปถ้าประเทศไทยไม่เริ่มต้นพัฒนาซอฟต์แวร์ ประเทศจะเสียโอกาสในการพัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นอย่างมากเนื่องจากในอดีตอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์อาจจะไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ดีนัก ปัจจุบันเมื่อมีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ และ ฮาร์ดแวร์ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ไอโอทีในประเทศไทยมีปริมาณมากกว่า 50% หากเราไม่พัฒนาผลิตภัณฑ์ไอโอทีให้เกิดขึ้นโดยคนไทย เราจะเป็นเพียงผู้นำเข้า ซึ่งจะเสียประโยชน์อย่างมาก
 
การยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรม Service Robot & IoT สวทช. มองความสำเร็จใจภาพรวมของประเทศ คือ ไม่ใช่ผู้ประกอบการบางรายที่จะสามารถสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมนี้ แต่เราต้องสร้างรายได้ร่วมกันโดยมีการควบคุมคุณภาพการผลิต เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสังคม โดย สวทช. จะมุ่งเน้นลงทุนเครื่องมือ ทรัพยากร และบุคลากร ในการสนับสนุนพัฒนาให้อุตสาหกรรมด้านหุ่นยนต์และไอโอทีเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและสากล
 

ส่องเทรนด์การเติบโตของตลาดหุ่นยนต์โลกและไทย

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่กำลังมาแรงในระดับสากล ในปี 2021 ทั่วโลกมีการติดตั้งหุ่นยนต์มากที่สุดในรอบ 10 ปี ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ กรรมการบริหาร บริษัท เลิศวิลัย แอนด์ ซันส์ จำกัด กรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอดราเทคโนโลยี จำกัด และ นายกสมาคม Thai Automation and Robotics Association (TARA) เล่าถึงข้อมูลจากรายงาน World Robotics Report 2022 โดย IFR International Federation of Robotics ในปี 2021 ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 12 จากทั้งหมด 15 ประเทศที่มีการติดตั้งหุ่นยนต์สูงสุด โดยนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านยานยนต์ (Automotive) ด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Eletricals/Electronics) และ ด้านโลหะและเครื่องจักร (Metal and machinery) จากความเติบโตอย่างเป็นประวัติการณ์ของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของทั่วโลกและไทย ทำให้ความท้าทายต่อประเทศไทยว่าทำอย่างไรให้เปลี่ยนสถานะจากผู้นำเข้ามาเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุนการลงทุนมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบันมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 27,000 ล้านบาท รวมถึงมาตรการรับรองเพื่อการยกเว้นด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกด้วย
 
นอกจากนี้ ดร.ประพิณ ยังได้แลกเปลี่ยนตัวอย่างการนำ หุ่นยนต์ขนย้ายสินค้าอัตโนมัติไปใช้ในโรงงาน (Autonomous Mobile Robots หรือ AMRs) รวมถึงอธิบายแนวคิด Thailand Industry 4.0 ที่ทุกสิ่งเชื่อมโยงถึงกัน (Everything Connected) ด้วย Quadra Technology ซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นตัวกลางที่ทำให้ระบบทุกอย่างภายในโรงงานสื่อสารและทำงานร่วมกัน โดยการเชื่อมต่อข้อมูลของระบบทุกอย่างทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในส่วน OT และ IT เข้าด้วยกัน ต้องมีมาตรฐานเชื่อมต่อ Interoperability for Industrie 4.0 ซึ่งหนึ่งในมาตรฐานที่มีอยู่ขณะนี้คือ IEC 62541 ที่รับมาจาก OPC Unified Architecture (OPC UA) เพื่อให้เครื่องจักรสื่อสารและส่งต่อข้อมูลถึงกันโดยไม่ติดปัญหาเรื่องอุปกรณ์ต่างชนิด ต่าง PLC ต่างแพลตฟอร์ม และทำให้เกิดเป็นระบบ IIoT ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม
ด้านหุ่นยนต์บริการ (Service Robots) ในประเทศไทย คุณสิรินทร อินทร์สวาท ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงสร้างพื้นฐาน (IMD) เนคเทค สวทช. และทีมวิเคราะห์ตลาดและเทคโนโลยี ได้ศึกษาและวิเคราะห์ตลาดและอุตสาหกรรมหุ่นยนต์บริการในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2565 และแนวโน้มปี พ.ศ 2566-2567 พบว่า ตลาดหุ่นยนต์บริการในประเทศไทยเติบโตกว่า 140% โดยมีหุ่นยนต์บริการใช้งานจริงในประเทศกว่า 1,660 ตัว ผู้ประกอบการด้านหุ่นยนต์บริการของไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ Professional Service Robots และ Consumer Service Robots ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นผู้นำเข้า แต่ก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาบางองค์ประกอบให้เป็นของไทย โดยผู้ประกอบการทั้งสองกลุ่มนี้มีมูลค่าการตลาดและการใช้งานค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการใช้หุ่นยนต์บริการในโรงงานอุตสาหกรรมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในกลุ่ม Consumer Service Robots ประเภทเครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติ มีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 80 ล้านบาท จำนวนมากกว่า 2 แสนตัวในปี 2565 มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาปีละ 16% นอกจากนี้ยังมีโมเดลธุรกิจทั้งขายขาด และเช่าซื้อ สำหรับหุ่นยนต์ขนส่ง (Delivery Robots) นิยมเช่าซื้อ ราคาเช่าประมาณ 15,000-18,000 บาท/เดือน ใกล้เคียงกับค่าจ้างพนักงานหนึ่งคนรวมสวัสดิการ ซึ่งโมเดลธุรกิจที่หลากหลาย ในราคาที่เข้าถึงได้และยุคที่ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นเรื่อย ๆ นี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ตลาดหุ่นยนต์บริการในประเทศไทยเติบโต ประกอบกับมี used case ในประเทศมากขึ้น นอกจากนี้การใช้หุ่นยนต์บริการยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของธุรกิจอีกด้วย สำหรับปัจจัยที่ประเทศยังต้องพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ ได้แก่ การสร้างบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสากรรมหุ่นยนต์ มาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับหุ่นยนต์ที่ใช้ในบริบทเฉพาะ เช่น โรงพยาบาล การดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการทำงานของหุ่นยนต์ เช่น การทำถนน เส้นทาง สภาพแวดล้อมภายในอาคาร สำหรับการใช้งานหุ่นยนต์ในพื้นที่ เป็นต้น

การพัฒนามาตรฐานและโอกาสในการแข่งขันของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในไทย

ในช่วงท้ายของกิจกรรมยังมีการอภิปราย “โอกาสในการแข่งขันของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการ และผลิตภัณฑ์ Internet of Things (IoT) และประโยชน์ที่ผู้ใช้งาน จะได้รับจากการใช้ผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการ และผลิตภัณฑ์ IoT โดยมีดร.ภัทราวดี พลอยกิติกูล ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สวทช. เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
เนื้อหาการอภิปรายเริ่มต้นจากมุมมองด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการและผลิตภัณฑ์ไอโอที โดยในมุมมองของ ดร.มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ไฮฟ์กราวนด์ จำกัด เห็นว่ามาตรฐานดังกล่าวเปรียบเสมือน “กำแพงทางการค้า” จากประสบการณ์การส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นที่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานเรื่องนี้ ซึ่งการมาทดสอบมาตรฐานหลังจากที่สร้างผลิตภัณฑ์เรียบร้อยแล้วเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ใช้เวลา และเงินเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น หากมีการสนับสนุนการทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล่านี้ โดยให้ผู้ประกอบการเริ่มต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยคำนึงถึงเรื่องมาตรฐานไปพร้อม ๆ กัน จะช่วยทลายกำแพงการส่งออกผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการและไอโอทีของไทยสู่สากลได้
 
อย่างไรก็ตามในมุมมองของ ดร.นิพัทธ์ รัศมีโกเมน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท พีทีที เรส จำกัด นั้น เรื่องมาตรฐานเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่จำเป็นจะต้องมีกระบวนการทำให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค กล่าวคือ ในมุมมองของมาตรฐานสามารถแบ่งผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการและไอโอทีออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ (1) กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็น หรือ ข้อบังคับว่าต้องมีมาตรฐาน อย่างผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสุขภาพ และการแพทย์ (2) กลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการทั่วไป ที่หากมีมาตรฐานจะถือว่าเป็นความโดดเด่นหรือข้อได้เปรียบของผลิตภัณฑ์ ดังนั้น การสร้างความสมดุลในเรื่องของมาตรฐานสำหรับ 2 กลุ่มนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อไม่ให้เรื่องของมาตรฐานไปกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจในขณะเดียวกันก็ต้องคุ้มครองผู้บริโภคด้วย
 
สอดคล้องกับความคิดเห็นของ ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ที่มองว่าการพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการและไอโอทีต้องปกต้องผู้ประกอบการและผู้บริโภคไปพร้อมกัน เรื่องจากการทดสอบมาตรฐานมีค่าใช้จ่ายที่สูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการส่งออกที่ต้องผ่านการทดสอบในศูนย์ทดสอบที่สากลยอมรับเท่านั้น
 

ด้านเนคเทค สวทช. ที่ได้มีการจัดตั้ง ห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ SQUAT : Software Quality Testing Laboratory ดร.พนิตา เมนะเนตร นักวิจัย ห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ SQUAT กล่าวว่า SQUAT ถือเป็นห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ แห่งแรกของประเทศไทย ที่ผ่านการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ ตาม มาตรฐาน มอก.17025 (ISO/IEC 17025) โดยอธิบายบทบาทของ SQUAT ในด้านการทดสอบซอฟต์แวร์ง่าย ๆ ใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1) ด้านการทำงานเชิงหน้าที่ (Functional Suitability) ว่าสามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ตรงตามที่ระบุไว้ในเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์ (2) ด้านประสิทธิภาพ (Performance) ว่าระบบมีการตอบสนองและสามารถรองรับจำนวนผู้ใช้งานได้ตามที่ระบุไว้ และ (3) ด้านความมั่นคงปลอดภัย (Security) มาตรการการจัดการข้อมูลตาม PDPA เป็นต้น อีกทั้ง SQUAT ยังเก็บรวบรวมข้อผิดพลาดด้านมาตรฐานของที่พบบ่อยเพื่อนำมาแลกรูปแบบในรูปแบบ public training รวมถึงจัดทำ check lists คุณภาพของผลิตภัณฑ์ซอฟแวร์ตามมาตรฐานเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยต่อไป

คุณอัครพล สุขตา กรรมการบริหารสมาคมไทยไอโอที ยังได้กล่าวเสริมว่าจะสมาคมไทยไอโอทีจะสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมนี้ โดยเน้นการดาวน์สเกลต้นทุนของการพัฒนาหุ่นยนต์ให้กับ SME สร้างเครือข่ายการพัฒนาองค์ความรู้ด้านไอโอทีให้กับเยาวชน ร่วมถึงเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์ไอโอทีอีกด้วย
 
นอกจากนี้ ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสวทช. ยังได้เยี่ยมชมบูธนิทรรศการจากผู้ประกอบการ และบริษัทชั้นนำ ที่มาจัดแสดงผลิตภัณฑ์ Service Robots & IoT มาใช้งานจริง รวมถึงบูธของศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ SMC โดยมี คุณอุดม โกมินทร์ และ คุณ อภิสิทธิ์ ตันตระวรศิลป์ ทีมวิจัยสมองกลอัจฉริยะและความจริงเสมือน (SMR) กลุ่มวิจัยไอโอทีและระบบอัตโนมัติสำหรับงานอุตสาหกรรม (IIARG) เนคเทค สวทช. นำเสนอชุดควบคุมสมองกลฝังตัวสำหรับหุ่นยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Embedded Mobile Robot Controller หรือ eMR)
 
ด้าน ดร.ภัทราวดี พลอยกิติกูล ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สวทช. กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งมั่นพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการเพื่อยกระดับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการ และผลิตภัณฑ์ IoT สู่อาเซียน เริ่มตั้งแต่การให้บริการพัฒนานวัตกรรม ที่มุ่งเน้นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเข้มข้น การให้คำปรึกษาทั้งทางด้านเทคโนโลยีและด้านธุรกิจ การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น ห้องปฏิบัติการเพื่อสร้างต้นแบบ โรงประลอง สนามพัฒนาทักษะการนำเสนอ และจัดหาที่ปรึกษาด้านคุณภาพมาตรฐานให้เพียงพอต่อความต้องการ ตลอดจนการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการ และ ผลิตภัณฑ์ IoT ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากลแบบครบวงจรให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)