จับกระแสตลาดและอุตสาหกรรมหุ่นยนต์บริการ (Service robot) ในประเทศไทย

Facebook
Twitter

โดย ทีมวิเคราะห์ตลาดและเทคโนโลยี
เนคเทค สวทช.

เนื่องจากโครงสร้างประชากรในประเทศต่าง ๆ มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ค่าแรงงานในภาคการผลิตและภาคบริการสูงขึ้น ทำให้หุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมบริการ และชีวิตประจำวันของเราทุกคนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2564 International Federation of Robotics: IFR ประเมินไว้ว่าหุ่นยนต์บริการสำหรับมืออาชีพ (Professional service robot) ทั่วโลกมียอดขาย 121,000 ตัว และเติบโตถึงร้อยละ 37 มี หุ่นยนต์บริการสำหรับผู้บริโภค (Consumer service robot) ใหม่ทั่วโลก 19 ล้านตัว และเติบโตร้อยละ 9

ทั้งนี้ประเภทหุ่นยนต์บริการสำหรับมืออาชีพที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 3 อันดับแรกทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2564 คือ หุ่นยนต์ทางการขนส่งและโลจิสติกส์ (Transportation and logistics) มีส่วนแบ่งทางการตลาดคิดเป็นร้อยละ 41 หุ่นยนต์ต้อนรับ (Hospitality) มีส่วนแบ่งทางการตลาดคิดเป็นร้อยละ 17 และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Medical/healthcare) มีส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 12 ตามลำดับ IFR (2565) ยังรายงานอีกว่า ปี พ.ศ. 2564 ผู้ประกอบการหุ่นยนต์บริการทั่วโลกมีกว่า 1,010 ราย ทั้งนี้ไม่รวมผู้ประกอบการที่ให้บริการผลิตต้นแบบและรับเหมาในการวางระบบ (System integration) โดยส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา รองลงมาได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ตามลำดับ

การเติบโตการใช้งานหุ่นยนต์บริการหุ่นยนต์บริการทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ปัจจัยสนับสนุนหลัก ๆ คือ โครงสร้างประชากรโลกที่เปลี่ยนแปลง การขาดแคลนแรงงานทั้งที่มีฝีมือ และไร้ฝีมือ เทคโนโลยีที่ดีขึ้นที่ทำให้หุ่นยนต์มีรูปร่าง ลักษณะการทำงานที่ใช้งานง่าย สวยงามมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด ระดับราคาเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้งานได้ และยังมีรูปแบบธุรกิจใหม่ คือ Robot as a service (การเช่าใช้) ทำให้มีการเข้าถึงบริการหุ่นยนต์ได้ง่ายขึ้น

สำหรับประเทศไทย จากการสำรวจและวิเคราะห์โดย ทีมวิเคราะห์ตลาดและเทคโนโลยี เนคเทค พบว่าทิศทางการเติบโตของตลาดและอุตสาหกรรมหุ่นยนต์บริการทั้งแบบมืออาชีพและสำหรับผู้บริโภคทั่วไป มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ประกอบการกลุ่มหุ่นยนต์ที่ไปใช้งานเฉพาะด้านการต้อนรับ (Hospitality) การทำความสะอาด (Professional cleaning) และการขนส่งและโลจิสติกส์ (Transportation and logistics) รายหลักในประเทศราว 25-30 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่นำเข้าเทคโนโลยีต่างประเทศ และนำมาทำตลาดในประเทศ โดยอาจจะมีการปรับปรุง (Customize) เองบางส่วน ปัจจุบัน (ปี 2565) มีหุ่นยนต์กลุ่มดังกล่าวอยู่ในประเทศประมาณ 1,660 ตัว มูลค่าตลาดประมาณ 400 ล้านบาท และมีการนำเข้าหุ่นยนต์ดูดฝุ่นในประเทศในปีเดียวกันประมาณ 0.27 ล้านตัว

ยังมีผู้ประกอบการกลุ่มเล็ก ๆ 3-5 บริษัท ที่มีการพัฒนาหุ่นยนต์ของไทยขึ้นมาเอง ทั้งที่พัฒนาส่วนสมองกลหรือชุดคำสั่ง และพัฒนาส่วนฮาร์ดแวร์ โดยจะผลิตหุ่นยนต์ตามความต้องการของลูกค้า มีการพัฒนาต่อยอดให้มีระบบ ชุดคำสั่ง ภาษาในการโต้ตอบเป็นของคนไทย โดยสามารถจับกลุ่มลูกค้าที่เป็น Niche market เช่น โรงพยาบาล กลุ่มผู้สูงอายุ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ซึ่งต้องการหุ่นยนต์ที่มีลักษณะเฉพาะ ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้า

โดยรวมแล้วถือว่าแนวโน้มการเติบโตของตลาดในประเทศไทยยังไปได้อีกมาก ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น (1) การขาดแคลนแรงงานทั้งในระดับที่มีฝีมือ (Skilled labor) และไม่มีฝีมือ (Unskilled labor) (2) ราคาหุ่นยนต์อยู่ในระดับที่ผู้ใช้งานยอมรับได้ (3) มีตัวอย่างการใช้งานให้เห็น และง่ายต่อการใช้งาน (User friendly) มากขึ้น (4) สามารถสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร และ (5) ปัจจัยด้านโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงวัยมากขึ้น มีคนระดับใช้แรงงาน หรือทำงานลดลง เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังมีความท้าทายของการเติบโตของตลาดและการใช้งาน.ในประเทศอีกพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ยังไม่พอเพียง มาตรการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการใช้งานยังไม่มากพอ และบุคลากรผู้มีทักษะเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมยังมีความขาดแคลน เนื่องจากต้องใช้ทักษะหลากหลายสาขา ในขณะที่สินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ แม้จะมีราคาจับต้องได้ แต่ผู้ประกอบการก็ยัง Customized อะไรได้ไม่มาก และยังไม่มีมาตรฐานหรือข้อกำหนดรองรับเพื่อปกป้องและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน

 

สนใจรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดาวโหลดเอกสารได้ ที่นี่

รายงานตลาดและอุตสาหกรรมหุ่นยนต์บริการ (Service robot) ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2565 และแนวโน้มปี พ.ศ 2566-2567 

  • เอกสารนำเสนอตลาดและอุตสาหกรรมหุ่นยนต์บริการ (Service robot) ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2565 และแนวโน้มปี พ.ศ 2566-2567 [ ดาวน์โหลด ]
  • Executive summary (English) [ ดาวน์โหลด ]

บทวิเคราะห์โดย
ปณิตา ล่ำซำ, สิรินทร อินทร์สวาท, จิรพรรณ เชาวนพงษ์
ทีมวิเคราะห์ตลาดและเทคโนโลยี
อีเมล : miteam[at]nectec.or.th