ติดอาวุธเด็ก Gen R ด้วยทักษะโรงงานอัจฉริยะ ในเวที IoT Hackathon 2022 พร้อมส่งต่ออุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC

Facebook
Twitter

5 เมษายน 2565 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เนคเทค สวทช. โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด  (มหาชน) จัดการแข่งขัน IoT Hackathon 2022 Gen R Data Analytics for Factory 4.0 เพื่อส่งเสริมทักษะ ด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) ให้แก่นักเรียนอาชีวศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

สำหรับพิธีเปิดการแข่งขันฯ ในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการ EECi คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวเปิดการแข่งขัน พร้อมด้วย คณะกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ผู้อำนวยการเทคนิคบ้านค่าย ผู้แทนจากวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี คณะครูอาจารย์ที่ปรึกษา และ ทีมเนคเทค สวทช. นำโดย นักวิจัยระบบไซเบอร์กายภาพ (CPS) งานพัฒนากำลังคนด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ ร่วมกิจกรรมฯ ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน จ.ชลบุรี

ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการ EECi

ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการ EECi  กล่าวถึงการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) ให้แก่บุคลากรด้านอาชีวศึกษามุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมไทย และเป็นการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทยในภาพรวม ด้วยการนำงานวิจัยพัฒนาไปสู่การลงทุน ในรูปแบบการพัฒนาแพลตฟอร์มต่าง ๆ   ประกอบด้วยโรงงานต้นแบบ สนามทดสอบและการเตรียมพร้อมด้านกำลังคนรับรองอุตสาหกรรมเป้าหมายผ่านการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นให้สอดคล้องกับความต้องการการยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ต้องนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศโดยคาดหวังว่าจะสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างอาชีพสร้างประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจและยกระดับอุตสาหกรรมไทยด้วยกำลังคนที่มีคุณภาพพร้อม

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช.

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวถึงการจัดกิจกรรมแข่งขันในครั้งนี้เป็นกิจกรรมครั้งที่ 2 หลังจากจัดครั้งแรกเมื่อต้นปี 2564 มีนักเรียนผ่านการอบรมของโครงการ ฯ กว่า 100 คน  มี 38 คนผ่านเกณฑ์การคัดเลือกตามเงื่อนไขและเข้าร่วมแข่งขัน หลังจบการแข่งขันโครงการ ฯ ได้สนับสนุนนักเรียน จำนวน 30 คน เข้ารับการฝึกงานยังสถานประกอบการต่างๆ และจากการติดตามผลของโครงการ ฯ มากกว่า 50% ได้รับการตอบรับที่ดี 

ในปีนี้ เนคเทค สวทช. ร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วนสนับสนุนการดำเนินโครงการทั้งด้านการให้ทุนสนับสนุนจาก EEC และความเอื้อเฟื้อในการจัดกิจกรรมจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประสานความร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา 16 แห่ง สถานประกอบการในเขตพื้นที่ EEC ดำเนินงานในโครงการ ฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์สร้างทักษะเตรียมกำลังคนรองรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ได้พัฒนาหลักสูตรร่วมกับวิทยาลัย และถ่ายทอดองค์ความรู้ ภาคปฏิบัติที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี Industrial IoT ให้ครูและนักเรียนของสถาบันอาชีวศึกษาในเขตพื้นที่ EEC ดำเนินการจัดอบรมหลักสูตร Internet of Things ทั้งแบบ Online และ Onsite ให้อาจารย์ที่สนใจ เพื่อมาช่วยสอนในโครงการฯ และได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรในโครงการฯ ให้สอดรับการความต้องการจากสถานประกอบการ

คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

การจัดกิจกรรมการแข่งขัน IoT Hackathon 2022 Gen R ภายใต้แนวคิด Data Analytics for Factory 4.0 เปิดรับสมัครนักเรียนจากสถาบันอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ วุฒิการศึกษา (ปวช.) และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)  ในเขตพื้นที่  EEC ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 มีนักเรียนจำนวน 103 คน จาก 8 วิทยาลัยเข้าร่วม และเข้าอบรมพัฒนาทักษะด้าน IIoT แบบเข้มข้น โดยใช้ชุดอบรม I – Kit จัดในรูปแบบ Online เป็นระยะเวลา 8 วัน หลังจากนั้นได้มีการจัดสอบคัดเลือกนักเรียนเพียง 45 คน ให้เข้ารับการอบรมต่อเนื่อง อีก 5 วัน เพื่อเรียนรู้ทักษะภาคปฏิบัติที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีโดยใช้ชุดอบรม I2 – Starter Kit และจัดวัดผลผู้เรียนเกี่ยวกับเนื้อหาที่จัดอบรมผ่านการแข่งขัน IoT Hackathon 2022 Gen R ในหัวข้อ Data Analytics for Factory 4.0 ระหว่างวันที่ 5-7 เมษายน 2565 โดยผู้แข่งขันจะได้ตัวอย่างข้อมูลจริงจากโรงงาน นำมาวิเคราะห์และสร้าง Dashboard และสามารถเลือกใช้แพลตฟอร์มตามความเหมาะสมที่สามารถนำข้อมูลมาสร้างรายงาน เพื่อชิงรางวัลรวม 70,000 บาท แบ่งเป็นรางวัลชนะเลิศ 30,000 บาท รองชนะเลิศ 20,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 10,000 บาท และชมเชย 2 รางวัล ๆ ละ 5,000 บาท