สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย x 5 หน่วยงานวิจัยใต้ อว. ร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม AI ส่งเสริมการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์เส้นทางการค้าสุวรรณภูมิ

Facebook
Twitter

13 มิถุนายน 2566 : ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ร่วมลงนามความร่วมมือดําเนินการวิจัยและพัฒนาในโครงการ “การพัฒนาแพลตฟอร์มด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์สู่จักรวาลนฤมิตร (AI-MHT)” ร่วมกับสมาคมปัญญาประดิษฐ์ไทย (AIAT) และ 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งถือเป็นการผนึกกำลังของหน่วยงานวิจัยภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ร่วมทำงานกับสมาคม AIAT เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ สนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากเทนโนโลยี AI พัฒนาขึ้นเป็นแพลตฟอร์มด้านปัญญาประดิษฐ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์เส้นทางการค้าดินแดนสุวรรณภูมิ (จ.ชุมพร จ.ระนอง) เส้นทางการค้าระหว่างคาบสมุทรที่มีประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน มีข้อมูล ร่องรอยทางวัฒนธรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งในเชิงการศึกษาประวัติศาสตร์ การค้าขาย และการท่องเที่ยว รวมถึงต่อยอดไปสู่การพัฒนาขึ้นเป็นระบบอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้โครงการฯ เพื่อเป้าหมายสำคัญในการนำเทคโนโลยี AI เข้าไปช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ พัฒนาให้เกิดชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้วยข้อมูลทางวัฒนธรรม สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สู่การยกระดับเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว เนคเทค สวทช. ได้มีส่วนร่วมในการสร้าง “แพลตฟอร์มสกัดความรู้จากข้อความเป็นกราฟความรู้ สําหรับข้อมูลประวัติศาสตร์เส้นทางการค้าสุวรรณภูมิ เพื่อสร้างสารานุกรมออนไลน์ (KGen for historical data)” เริ่มดําเนินการจากกระบวนการนําข้อมูลวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องจากโครงการการศึกษาเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรภาคใต้ตอนบน นําร่องจังหวัดระนองและชุมพร รวมถึงจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ที่เชื่อถือได้ โดยแพลตฟอร์ม KGen for historical data มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ

1. การนําเสนอข้อมูลเชิงการท่องเที่ยวบนนวนุรักษ์แพลตฟอร์ม(https://www.navanurak.in.th/Chumphon_Ranong_Official)
2. การสร้างความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างทางความหมายของข้อมูลทั้งหมด เพื่อเชื่อมโยงเรื่องราววัฒนธรรมและการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องด้วยสารานุกรมออนไลน์ (https://lstpedia.org/)
3. การสกัดความรู้จากข้อความออกมาเป็นกราฟความรู้ DBpedia ภาษาไทย (https://lstpedia.org/dbpedia)

KGen for historical data

ดร.กาญจนา แสงทองพัฒนา หัวหน้าโครงการพัฒนาแพลตฟอร์ม KGen for historical data

ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการฯ จะทําให้เกิดองค์ความรู้ที่มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ มีโครงสร้างการนําเสนอข้อมูลในรูปแบบกราฟความรู้ DBpedia ภาษาไทย ที่ผู้ใช้งานเข้าถึงได้ง่าย สามารถนําไปต่อยอดใช้ประโยชน์กับระบบคอมพิวเตอร์อื่นๆ ได้อย่างสะดวก รวมถึงโครงการย่อยต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ การพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ถาม-ตอบอัจฉริยะ (AI Chatbot) เพื่อช่วยเหลือในค้นหาข้อมูลประวัติศาสตร์ การพัฒนาต้นแบบจําแนกข้อความประวัติศาสตร์ให้ผู้ใช้งาน การนำข้อมูลจากสารานุกรมออนไลน์ของแพลตฟอร์ม KGen for historical data ไปใช้ประกอบในการศึกษาความรู้ ต่อยอดพัฒนาแอปพลิเคชันแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สร้างเรื่องราวพัฒนาขึ้นเป็นเกมออนไลน์ที่สนุกสนานสําหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนให้เป็นที่รู้จัก ได้รับความสนใจ ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวตามเส้นทางวัฒนธรรม รวมถึงยังเป็นต้นแบบขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ ได้อีกทางหนึ่ง