5G Use Cases for Smart Factory/Manufacturing: มุมมองเชิงเทคนิคและความคุ้มค่าการลงทุน

Facebook
Twitter
เทคโนโลยี 5G เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่และยังมีการวิวัฒนาการอยู่อย่างต่อเนื่อง การทดลอง ทดสอบ การใช้งานจึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ กทปส. จึงได้จัดให้มีการสนับสนุนทุนเพื่อทำการวิจัยและพัฒนา รวมถึงทดลองทดสอบต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมในการใช้งานจริงในประเทศไทย ซึ่งในโครงการนี้เป็นการทดลองทดสอบการประยุกต์ใช้ 5G กับภาคอุตสาหกรรม
เนคเทค สวทช. โดย กลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย (CNWRG) ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาฯ ของ กสทช. (กองทุน กทปส.) ให้ดำเนินงานโครงการทดลองและถ่ายทอดการประยุกตใช้เทคโนโลยี 5G สำหรับ Smart Factory/Manufacturing โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการทดลองนำร่องการใช้เทคโนโลยี 5G สำหรับ Smart Factory/Manufacturing สำหรับประยุกต์ใช้งานในพื้นที่จริง และ สรุปบทเรียนเป็นข้อพิจารณาในการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้งานสำหรับ Smart Factory/Manufacturing สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงความเหมาะสมทางเทคนิคและความคุ้มค่าในการลงทุน
เนคเทค สวทช. จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เวทีเผยแพร่ผลการศึกษา นำเสนอผลการทดลองทดสอบ การประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี 5G ในมิติต่าง ๆ ทั้ง ในเชิงเทคนิค และความคุ้มค่าในการลงทุน 
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวรายงาน “คณะผู้วิจัยได้เริ่มดำเนินกิจกรรมในโครงการตั้งแต่ปี 2565 โดยมีสถานประกอบการร่วมให้พื้นที่และบุคลากรสนับสนุนการทดลองทดสอบดังกล่าว 3 แห่ง ได้แก่ (1) บริษัท ไดซิน จำกัด (2) บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จํากัด (มหาชน) และ(3) บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด หลังจากดำเนินงานทดลองทดสอบ และเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลการศึกษา รวมถึงส่งมอบผลการดำเนินงานให้กับหน่วยงานให้ทุน (กทปส.) โครงการฯ จึงได้จัดประชุมเพื่อนำเสนอผลการทดลองทดสอบ การประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี 5G ในมิติต่าง ๆ ทั้งในเชิงเทคนิค และความคุ้มค่าในการลงทุนขึ้น”
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า เนคเทค สวทช. เชื่อมั่นว่าผลการดำเนินงานในโครงการ และผลสรุปจากการนำเสนอจะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยพัฒนาและการประยุกต์ใช้งาน 5G ในประเทศไทย ทั้งยังทำให้เห็นโอกาสและข้อจำกัดการประยุกต์ใช้ 5G ในสภาพความเป็นจริง เพื่อให้ทั้งโรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลไปใช้ปรับปรุงนโยบายด้านนี้ของประเทศต่อไป
นอกจากโครงการนี้ เนคเทค สวทช. มีความมุ่งมั่นที่จะวิจัยและพัฒนา ส่งมอบผลงาน องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง สำหรับเรื่อง 5G ได้มีการขยายผล โดยมี Testbed 5G อยู่ที่ SMC EECi วังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยนำผลงานที่เกี่ยวข้องในโครงการไปขยายผลต่อที่นั่นเช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นสนับสนุนการเติบโต และการทดสอบใช้งานให้ 5G ให้กับประเทศได้ต่อไป
ดร.กมล เขมะรังษี ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย เนคเทค สวทช. กล่าวว่า “เครือข่าย 5G ที่มีบริการสื่อสารเปรียบเสมือนถนน ถ้ามีแต่เพียงถนนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ตอบโจทย์การนำไปใช้งาน Smart Factory/Manufacturing ได้ ผู้ประกอบการควรพิจารณากรณีใช้งานหรือ Use Case ซึ่งเปรียบเสมือนรถที่วิ่งบนถนนที่เหมาะสม” โดย เครือข่าย 5G เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถช่วยยกระดับ Thailand Industry 4.0 Index สำหรับโรงงานในประเทศได้ ดังนั้น ควรมอง 5G เป็นเครื่องมือหนึ่งในการทำ Digital Transformation สำหรับธุรกิจหรือปรับรูปแบบการทำงานธุรกิจไปจากกระบวนการทำงานแบบเดิม
ดร.กมล ยังได้ฉายภาพรวมและแนวโน้มการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี 5G รวมถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการควรรู้และทำความเข้าใจก่อน การนำ 5G มาใช้สำหรับ Smart Factory/Manufacturing ข้อเสนอแนะนโบายสนับสนุน 5G ในภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย
ด้านความท้าทายในการประยุกต์ใช้ 5G และ ความคุ้มค่าในการลงทุน คุณสิรินทร อินทร์สวาท ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเครือข่ายเชิงกลยุทธ์และประเมินผล เนคเทค สวทช. ได้นำเสนอผลการศึกษาจากการทดสอบและการหารือโรงงานที่ ร่วมทดสอบ การใช้ 5G กับ Use Case ต่าง ๆ มีโอกาสที่จะคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่า ขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมต่าง ๆ หลายด้าน โดยกรณีที่มีแนวโน้ม คุ้มค่า ได้แก่
  • พิจารณาเลือก Use Case ที่มีความสำคัญกับกระบวนการผลิต (Core Business) และมี Pain Point ที่ชัด ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่มเข้ามา ช่วยแก้ไขปัญหาของโรงงาน จะทำให้มีแนวโน้มจะคุ้มค่ามากกว่า
  • การมองเทคโนโลยี 5G ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารข้อมูลขององค์กร หรือ Network as a Service ที่ควรใช้ตอบโจทย์ Use Cases ได้หลายกรณี เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกรณีต่าง ๆ และเกิดการแชร์ต้นทุน ของโครงสร้างพื้นฐาน 5G ซึ่งข้อมูลที่รวบรวมผ่านเครือข่าย 5G ควรที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ แก้ปัญหา และวางแผนในการทำงานของโรงงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • บริการ 5G สามารถค่อย ๆ ขยายความสามารถของบริการการสื่อสารไร้สายให้กับโรงงานได้ง่าย หรืออาจจะกล่าวได้ว่า Scalability ได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับการใช้เครือข่าย Wi-Fi
อย่างไรก็ตาม คณะวิจัยพบว่ามีประโยชน์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน และการใช้ 5G ของโครงการที่ประเมินเป็นค่าทางตัวเงินไม่ ได้อีกหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น โอกาสในการเพิ่มความสา มารถในการแข่งขันขององค์กรในระยะยาว (มองเห็นแนวทางในการปรับปรุงในอนาคต) การพัฒนาความสามารถของบุคลากรให้ปรับตัวเข้ากับหรือสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ การสร้างภาพลักษณ์องค์กร การเกิดโมเดลธุรกิจใหม่ และการปรับปรุงกระบวนการใหม่ โดยลดข้อจำกัดจากเทคโนโลยีเดิม ๆ
นอกจากนี้ในการประชุม ยังได้จัดให้มี Group Talk: 5G Use Cases ในประเทศไทย และประสบการณ์ ตรงจากผู้ร่วมทดสอบ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปปรับปรุงผลการดำเนินงาน หรือปรับปรุงแนวทางการวิจัยในโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
โดย คณะวิจัย คุณประสงค์ เกรียงไกรกุล Section manager, Maintenance & Utility บริษัท ไดซิน จำกัด, คุณรณกฤษ วิบูลย์เวชวาณิชย์ (วิทยากร) วิศวกรบริหารแผนกพลังงานและดิจิทัลเทคโนโลยี บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด, คุณพลภัทร์ มาลาธรรม Incubation and Innovation Architecture Senior Manager, คุณวัชรนนท์ ลีวัฒนาพณิชย์ Logistics Analyst Supervisor บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินรายการโดย ดร. พรพรหม อธีตนันท์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาเครือข่ายเชิงกลยุทธ์และประเมินผล (SPE)

นอกจากการสัมมนาที่เป็นการรายงานผลการศึกษา ทั้งเชิงเทคนิค และความคุ้มค่าในการลงทุน ในงานนี้ยังมีผู้แทนจากหน่วยงาน/โรงงานที่ให้การสนับสนุนพื้นที่เพื่อทดสอบ มาให้ข้อคิดเห็น ข้อสังเกตจากการทดลองที่น่าสนใจ รวมถึงมีการออกบูธนำเสนอผลงานของเนคเทค และหน่วยงานพันธมิตร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีทั้ง 5G และอื่น ๆ ไปประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ (Smart Factory/Manufacturing) อีก 7 หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น AIS, TRUE, NT, Ericsson, Saisun (เซี่ยซุน), IRCT (บริษัทสมาชิก SMC)