ปิดฉากลงแล้วกับงาน “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 17”

Facebook
Twitter
IT2018

ปิดฉากลงแล้วกับงาน “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 17” (The Seventeenth Thailand IT Contest Festival: IT 2018) ซึ่งจัดโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ Intel Foundation ได้กำหนดให้การพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอีกพันธกิจหนึ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะเทคโนโลยีในสาขาอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ ซึ่งทางเนคเทคได้จัดมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 2 ทศวรรษ โดยประกอบด้วยโครงงานที่สำคัญใน 3 ด้าน ได้แก่ โครงงานด้านวิทยาศาสตร์ โครงงานด้านการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์และโครงงานด้านวงจรอิเล็กทรอนิกส์และยังเป็นเวทีนำเสนอผลงานที่ได้มีการพัฒนาต่อยอดไปสู่สังคมและใช้งานจริงในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ จัดประกวด ณ ไอส์แลนด์ฮอลล์ ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ ระหว่างวันที่ 14-16 มีนาคม 2561 ภายใต้แนวคิด “YOUNGSTER’S POWER! พลังคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนไทยด้วยไอที” สนับสนุนให้เด็กไทยได้นำความรู้มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาผลงานตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งภายในงานประกอบด้วย 4 กิจกรรมคือ

  • การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 20” (The Twentieth National Software Contest : NSC 2018) ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 20 (The Twentieth Young Scientist Competition : YSC 2018) เพื่อเฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมชิงชัยในงาน Intel International Science and Engineering Fair ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ณ เมืองพิตส์เบิร์ก มลรัฐเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • การประกวดวงจรอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 17 (The Seventeenth Youth’s Electronics Circuit Contest : YECC 2018) เพื่อค้นหาสุดยอดนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์จากทั่วประเทศ
  • โครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนงบประมาณให้แก่เยาวชนที่มีความตั้งใจที่จะต่อยอดผลงานเพื่อนำไปใช้งานจริงในอนาคต

ผลการแข่งขันที่น่าสนใจ

การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 20 (NSC 2018)
ประเภทโปรแกรมเพื่อความบันเทิง ระดับนิสิต นักศึกษา จากทั้งหมด 11 โครงการ
รางวัลที่ 1 : การผจญภัยของข้าวเหนียวมะม่วง จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหกรรมไอที 2018

“The Adventure of Khao Neeo Mamuang : การผจญภัยของข้าวเหนียวมะม่วง” เป็นเกมแนว Platformer ที่มีการเล่าเนื้อเรื่องเป็นภาษาอังกฤษอีกทั้งบทพูดของตัวละครและคำอธิบายต่างๆ ในเกมจะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด โดยตัวเกมจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของผู้เล่นเพื่อไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยเริ่มแรกผู้เล่นคนแรกจะได้รับบทเป็น “ข้าวเหนียว” ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านทักษะการต่อสู้สามารถสร้างความเสียหายให้กับศัตรูได้เป็นอย่างดี ส่วนผู้เล่นคนที่สองได้รับบทเป็น “มะม่วง” ซึ่งมีไหวพริบดีสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ ซึ่งทั้งคู่จะมีอุปกรณ์บางอย่างเชื่อมต่อกันไว้ทำให้ไม่สามารถแยกจากกันและมีพลังชีวิตร่วมกัน ทั้งสองจึงต้องอาศัยความสามัคคีเพื่อผจญภัยไปในด่านต่างๆ ทำให้ผู้เล่นได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างผู้เล่นด้วยกันเองและยังมีปริศนา Puzzle ที่ทั้งคู่ต้องช่วยกันแก้ไขในเกมอีกด้วย

ประเภทโปรแกรมเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ ระดับนิสิต นักศึกษา จากทั้งหมด 14 โครงการ
รางวัลที่ 1 : รหัส ลิขิต ชะตา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหกรรมไอที 2018

“Code.Destiny()”เป็นสื่อการสอนในรูปแบบของเกมที่เน้นให้ผู้เล่นแก้ไขปัญหาต่างๆ ผ่านการเขียนโปรแกรมโดยผู้เล่นสามารถเขียนโปรแกรมในขณะที่เล่นเกมเพื่อบังคับสิ่งต่างๆ ในเกมให้เป็นไปตามแผนของเรา ตัวอย่างเช่นเมื่อผู้เล่นต้องการข้ามหน้าผาไปอีกฝั่งแต่หน้าผานั้นอยู่ห่างเกินไป ผู้เล่นสามารถเขียนโปรแกรมเพื่อปรับขนาดของก้อนหินให้มีขนาดใหญ่พอที่จะเป็นสะพานให้ตัวละครเดินข้ามไปได้ หรือสถานการณ์ที่ผู้เล่นไม่สามารถเปิดประตูได้เพราะถูกล็อค ผู้เล่นสามารถเขียนโปรแกรมแก้ไขให้ประตูปลดล็อคได้ โดยในแต่ละปัญหาจะฝึกให้ผู้เล่นได้วิเคราะห์และคิดหาวิธีแก้ไขผ่านการเขียนโปรแกรม ซึ่งสื่อการสอนนี้ยังมีระบบอื่นอีกเช่น ระบบเนื้อเรื่องที่จะแทรกความรู้ในด้านการเขียนโปรแกรมผ่านการดำเนินเรื่องของตัวละคร ระบบภารกิจระบบสัตว์เลี้ยงต่อสู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้เขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมสัตว์เลี้ยงเพื่อต่อสู้หรือจำลองการเขียน AI เพื่อใช้ต่อสู้แทนตัวเรา

ประเภทโปรแกรมเพื่อความบันเทิง ระดับนักเรียน จากทั้งหมด 19 โครงการ
รางวัลที่ 1 : Wall 23 จากโรงเรียนหัวหินวิทยาลัย
มหกรรมไอที 2018

เกม Wall -23 เป็นเกมแนว Action Survival ที่จะให้ผู้เล่นได้เดินทางเข้าสู่โลกที่ล่มสลายหลังสงคราม และหาอาหารกับอุปกรณ์ยังชีพ เพื่อเอาชีวิตรอดใน The wall จากพวกกลายพันธุ์ โดยเกมนี้ใช้โปรแกรม Unreal Engine 4 ในการพัฒนาเป็นระยะเวลา 7 เดือนและต้องใช้คอมพิวเตอร์สเปคสูงในการเรนเดอร์ โดยในอนาคตผู้พัฒนาอยากให้เกมสามารถเล่นได้หลายคน อีกทั้งจะนำเทคโนโลยี AR + Motion capture เข้ามาใช้ในเกมเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้เล่นด้วย โดยคาดว่าจะวางจำหน่ายบน Steam ภายในปีหน้า

ประเภทโปรแกรมเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ ระดับนักเรียน
รางวัลที่ 1 : สวนสนุกสู่โลกเสมือนพันธะเคมี จากโรงเรียนปรินส์รอแยลส์วิทยาลัย
มหกรรมไอที 2018
มหกรรมไอที 2018

สวนสนุกสู่โลกเสมือนพันธะเคมี เป็นสื่อการสอนที่เป็นการผสมผสานระหว่าง Game Play + Virtual Reality + 3D Animation โดยเนื้อเรื่องจะให้ผู้เล่นรับบทเป็น “จัมโบ้” ที่เข้าไปในสวนสนุกแล้วได้รับการร้องขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาของเครื่องเล่นที่หยุดทำงานเนื่องจากอุปกรณ์ได้รับสารเคมีบางชนิดทำให้โมเลกุลเปลี่ยนแปลงไป ภารกิจคือต้องทำการแก้ไขเพื่อให้เครื่องเล่นกลับมาทำงานได้

โดยผู้เล่นสามารถใช้มือชี้โมเลกุลซึ่งจะทำให้เห็นโครงสร้างและคำอธิบายแต่ละสสารผู้เล่นสามารถตั้งปัญหา สมมติฐาน เตรียมอุปกรณ์การทดลอง โดยสามารถทดลองได้เหมือนการทดลองจริงด้วยการหยิบจับอุปกรณ์มาทดลองทำให้ผู้เล่นเกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้นโดยใช้โปรแกรม Unity 3D ในการพัฒนาเสนอภาพ 3D ในมุมมอง 360 องศาทำให้ผู้เล่นรู้สึกสนใจที่จะเข้ามาเรียนรู้ทำให้ผู้เล่นจดจำชื่อและคุณสมบัติต่าง ๆ ของธาตุได้รวดเร็วขึ้น

นอกจากนี้ “สวนสนุกสู่โลกเสมือนพันธะเคมี” ยังได้รับรางวัล หัวข้อพิเศษ Smart Education Award by Unicef Thailand อีกด้วย

หัวข้อพิเศษ การแข่งขันสุดยอดโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Application) จากทั้งหมด 6 โครงการ
รางวัลที่ 1: ระบบสนทนาโต้ตอบอัตโนมัติสำหรับช่วยเหลือผู้ใช้บริการโรงพยาบาล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
มหกรรมไอที 2018

โปรแกรมสนทนาโต้ตอบอัตโนมัติ หรือ Chatbot เป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำมาทดแทนการใช้ทรัพยากรบุคคลได้ในหลายบริบท รวมถึงบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายต้อนรับ หรือฝ่ายประชาสัมพันธ์ในองค์กรต่างๆ ซึ่งการทำงานของกลุ่มบุคคลที่มีหน้าที่ดังกล่าว มักจะเป็นการให้ข้อมูลกับบุคคลอื่นในเรื่องที่มีอัลกอริทึมต่างๆ เช่น การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing), การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning), การใช้เครื่องมือค้นหา (Search Engine), การประมวลผล (Image Processing) เพื่อให้สามารถทดแทนกลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายต้อนรับ หรือฝ่ายประชาสัมพันธ์ขององค์กร โดยให้ความสำคัญกับองค์กรในกลุ่มโรงพยาบาลที่มีผู้จำเป็นต้องมาให้บริการในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก และมีปัญหาบุคลากรที่ทำหน้าที่ดังกล่าวไม่เพียงพอ

หัวข้อพิเศษ โปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งานสำหรับสื่อสารระหว่างสรรพสิ่ง (Internet of Things) จากทั้งหมด 15 โครงการ
รางวัลที่ 1: รังผึ้งอัจฉริยะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
มหกรรมไอที 2018

โครงการ “รังผึ้งอัจฉริยะ” มีวัตถุประสงค์เพื่อการนำเทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างสรรพสิ่งมาช่วยดูพัฒนาการของรังในกล่องเลี้ยงผึ้งและช่วยแจ้งเตือนถ้าผึ้งเลี้ยงถูกโจมตีหรือถูกรบกวนจากศัตรูในธรรมชาติ เป็นสาเหตุที่ส่งผลทำให้ประชากรผึ้งเลี้ยงลดน้อยลง ย่อมส่งผลทำให้ผลผลิตลดลงตามไปด้วย เพื่อให้ผู้เลี้ยงผึ้งสามารถรับทราบข้อมูลและปัญหาที่เกิดกับรังเลี้ยงผึ้งได้อย่างรวดเร็ว ผู้พัฒนาเลือกใช้ Raspberry pi zero w ร่วมกับ Sensor เพื่อเก็บข้อมูลอุณหภูมิ ความชื้น น้ำหนัก ภาพถ่ายภายในรังเพื่อดูพัฒนาการรังและนำเสียงมาวิเคราะห์เพื่อหาสัญญาณเสียงที่ผิดปกติ จากนั้นนำไปวิเคราะห์ด้วยเทคนิคการเรียนรู้เชิงลึกสังวัฒนาการ สุดท้ายนำข้อมูล ผลการวิเคราะห์และการแจ้งเตือนแสดงผ่านเว็บแอปพลิเคชันทำให้สามารถเข้าผ่านได้ทั้งคอมพิวเตอร์และมือถือ

การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 20 (YSC 2018)
สาขาชีววิทยา
รางวัลชนะเลิศ และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน Intel ISEF 2018
ผลงานการพัฒนาถ้วยน้ำผึ้งเทียมเพื่อการขยายรังของชันโรง จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์
มหกรรมไอที 2018
มหกรรมไอที 2018

เป็นโครงการที่คิดค้นขึ้นเพื่อช่วยเกษตรกรในการเพิ่มผลผลิตด้วยการนำถ้วยน้ำผึ้งเทียมมาใส่ไว้ในรังของชันโรงเพื่อเป็นการลดภาระของผึ้งงานที่ต้องทำหน้าที่สร้างรัง เมื่อผึ้งงานว่างก็จะออกไปผสมเกสรข้างนอกและหาอาหารมาให้นางพญา เมื่อทดลองนำถ้วยน้ำผึ้งเทียมไปวางไว้ในสวนแล้ว พบว่ามีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการที่ชันโรงช่วยผสมเกสรให้ โดยจำนวนถ้วยเทียมที่เหมาะกับการขยายรังที่สุดคือ 21 ถ้วยและเมื่อนำถ้วยไปวางแต่ละครั้งจะต้องหยดน้ำผึ้งลงไปจำนวนเล็กน้อยซึ่งตัวถ้วยจะทำจากไขผึ้ง เพราะสามารถขึ้นรูปและคงรูปถ้วยได้อีกทั้งยังยับยั้งการเกิดเชื้อรา Rhizopus spp. ได้ดี

สาขาคอมพิวเตอร์
รางวัลชนะเลิศ และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน Intel ISEF 2018
ผลงานการทำนายผลอัตโนมัติโรคมะเร็งปอดจากภาพถ่ายเอกซเรย์ จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์
มหกรรมไอที 2018

ในปัจจุบันการวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดเบื้องต้นต้องใช้สายตาในการหารอยของโรคจากภาพถ่ายเอกซเรย์ แต่ด้วยคุณภาพของภาพเอกซเรย์ที่มีคุณภาพตํ่าทําให้การตรวจรอยของโรคด้วยตาเปล่าต้องใช้ความชํานาญและทักษะทางการแพทย์สูง ดังนั้นการใช้คอมพิวเตอร์ในการค้นหารอยของโรคจึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่า โดยโครงการนี้ใช้เทคนิคโครงข่ายประสาทเทียมซึ่งเป็นวิธีการรู็จําด้วยการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) เพื่อค้นหาตําแหน่งของเนื้องอกกระบวนการวิจัยเริ่มต้นด้วยการนําโครงข่ายประสาทเทียมที่มี 50 ชั้น มาฝากบนชุดข้อมูล ChestX-ray14 ซึ่งเป็นชุดข้อมูลภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกที่เปิดให้ใช้สาธารณะ โดยอาศัยหลักการ transfer learning หานํ้าหนักจากชุดข้อมูลที่มีลักษณะคล้ายๆ กันที่สามารถทดแทนข้อมูลรูปมะเร็งปอดจาก JSRT และ Indiana dataset ได้โดยผลที่ได้มีความแม่นยําสูง

สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
รางวัลชนะเลิศ และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน Intel ISEF 2018
นวัตกรรมอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำจากเนอสเซอรีอนุบาลโกงกางใบใหญ่ จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา
มหกรรมไอที 2018

เนอสเซอรี่อนุบาลโกงกางเป็นโครงการที่สร้างขึ้นเพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของต้นโกงกางและลดปัญหา น้ำเสียซึ่งเป็นสาเหตุทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำลดลง โดยโครงการจะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ

  • ส่วนแรกทําหน้าที่ปกป้องตันอ่อนไม้ให้ถูกพัดด้วยคลื่นลม ซึ่งใช้วัสดุคอมพาวด์ที่มีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทานและย่อยสลายได้ โดยนำกระดาษใช้แล้ว ปูนซีเมนต์ แกลบเผาออกแบบรูปทรงเป็น กรวยควํ่าปลายตัดเลียนแบบโครงสร้างรากคํ้าจุนของโกงกางเพราะการปลูกต้นอ่อนของโกงกางจะฝังฝักโกงกางลงในดินหนึ่งในสี่ของความยาวฝัก
  • ส่วนที่สองเป็นส่วนแคปซูลที่จําเป็นที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของต้นอ่อน ซึ่งประกอบด้วยดินเลนนากุ้งผสมกับดินเลนป่าชายเลนเพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้กับต้นโกงกางส่งผลทําให้มีอัตราการงอกของต้นโกงกางวัยอ่อนสูงถึง 100 % สูงกว่าวิธีการปลูกด้วยการระดมคนปลูกถึง 55.87 %
การประกวดวงจรอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 17 (YECC 2018)
ประเภทนักเรียน
รางวัลที่ 1 : ค่ายมหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้พัฒนา นางสาวชวิศา ทรัพย์พ่วง นางสาวนภัสสร เตชะสมบูรณากิจ
มหกรรมไอที 2018
ประเภทนิสิตนักศึกษา
รางวัลที่ 1 : เรือรดน้ำอัจฉริยะ จากมหาวิทยาลัยมหิดล
มหกรรมไอที 2018

วันที่เผยแพร่ 16 มีนาคม 2561 20:00