กระทรวงวิทย์ฯ ชู “วิทย์สร้างคน” เสนอผลงานในโครงการพัฒนาพิเศษขนาดใหญ่

Facebook
Twitter
KidBright

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. ชู “วิทย์สร้างคน” เสนอผลงานในโครงการพัฒนาพิเศษขนาดใหญ่ มุ่งขับเคลื่อนนโยบาย 3 ด้าน คือ วิทย์สร้างคน วิทย์แก้จน และวิทย์เสริมแกร่ง เพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจประเทศ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เดินหน้านโยบาย “วิทย์สร้างคน” เปิดตัว โครงการ Coding at School Powered by KidBright และโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม หรือ Fabrication Lab เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย ”

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ประกาศส่งมอบ KidBright บอร์ดสมองกลสัญชาติไทยที่ได้รับการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย พัฒนาโดย เนคเทค-สวทช. จำนวน 200,000 ชุด แก่โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นของรัฐ 1,000 แห่ง โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์ประสานงานภูมิภาค 5 แห่ง ในโครงการ Coding at School Powered by KidBright พร้อมเร่งสนับสนุนให้เกิด “Fabrication Lab” ในสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ 150 แห่งทั่วประเทศ ด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง จำนวน10 มหาวิทยาลัย ในโครงการ Fabrication Lab เพื่อช่วยส่งเสริมศักยภาพของเยาวชน ต่อยอดสู่การเป็นนักประดิษฐ์ และนักสร้างสรรค์สิ่งใหม่ นำพาประเทศสู่การเป็นประเทศโลกที่ 1 ในอนาคต พร้อมจับมือ กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมแสดงเจตจำนง ที่จะสนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

Coding at School powered by KidBright

สำหรับโครงการ Coding at School Powered by KidBright เนคเทค-สวทช. ได้จัดเตรียมบอร์ด KidBright จานวน 2 แสนบอร์ด พร้อมคู่มือการเรียนการสอน จะทยอยส่งให้โรงเรียนทั่วประเทศประมาณ1000 โรงเรียนได้ใช้งานกัน พร้อมกับการเปิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ระหว่าง นักเรียน ครู และเหล่านักพัฒนาที่เว็บไซต์ www.kid-bright.org โดยทุกโรงเรียนต้องส่งโครงงานเข้าร่วมแข่งขันอย่างน้อยโรงเรียนละ 3 โครงงาน และจะมีการแข่งขันในรอบสุดท้ายภายในเดือนตุลาคม 2561 โดยในช่วงการจัดกิจกรรมจะมีการเดินสายจัดการอบรมให้กับตัวแทนศูนย์ประสานงานแต่ละภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งบุคลากรที่ได้รับการอบรมจะสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้งานบอร์ด และการเขียนโค้ด และสามารถให้คำแนะนำแก่ครูที่เข้าโครงการเพื่อนำไปสอนเด็กให้สร้างสรรค์ผลงานในการเข้าร่วมแข่งขันได้

KidBright

Fabrication Lab

ด้าน Fabrication Lab นั้น สวทช.ได้จัดหาอุปกรณ์พื้นฐาน ในการออกแบบชิ้นงาน ที่นักเรียนสามารถจินตนาการและจัดทำชิ้นงานในรูปแบบ 3 มิติ คือ 3D printer ที่รองรับโปรแกรมออกแบบที่เป็น open source อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เช่น กล้องจุลทรรศน์ เครื่องวัดแสง เครื่องมือพื้นฐานทางวิศวกรรม รวมทั้งเครื่องตัดแบบ laser และบอร์ดสมองกลฝังตัว และอุปกรณ์ตรวจวัด หรือ sensor ให้สถานศึกษาของรัฐที่เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา วิทยาลัยเทคนิคและวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ และจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ที่เข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 150 แห่ง โดยมีบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. เป็นศูนย์กลางการอบรมครูและนักเรียน ให้กับสถานศึกษาทั่วประเทศ ไม่จำกัดทั้งภาครัฐและเอกชน โดยตั้งเป้าหมายให้มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 15,000 คน ครู 1,000 คน มีวิศวกรพี่เลี้ยงประจำสถานศึกษา 150 คน ได้ชิ้นงานที่ใช้งานได้จริง 150 ชิ้นงาน และ ชิ้นงานที่ส่งประกวดในระดับภูมิภาค ระดับชาติ และนานาชาติ 300 ชิ้นงาน เกิดการสร้าง Makers Club ในสถานศึกษาที่เข้าร่วมในโครงการ

KidBright

จากการดำเนินกิจกรรม ทั้ง 2 โครงการ ช่วยสร้างโอกาสให้เยาวชนเข้าถึงวิทยาศาสตร์ได้ง่าย และได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง นับจากนี้ ในแต่ละปีจะมีนักเรียนมากกว่า 1.5 ล้านคน เข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย มีโอกาสใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมที่ครบครัน และช่วยให้เยาวชนเหล่านี้ มีความมั่นใจ กล้าคิด กล้าลงมือทำพร้อมก้าวสู่การเป็นนักพัฒนา นวัตกรที่สร้างสรรค์ และเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำพาประเทศสู่ “Makers Nation” กุญแจสำคัญที่จะสร้างเศรษฐกิจชาติให้เข้มแข็งด้วยนวัตกรรมในศตวรรษที่ 21 ผลักดัน “ประเทศไทย 4.0” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างชาติให้เข้มแข็งด้วยนวัตกรรมอย่างแท้จริง

KidBright
KidBright
KidBright

ที่มาของคลิป : ทำเนียบรัฐบาล

วันที่เผยแพร่ 19 มิถุนายน 2561 13:45