เนคเทค สวทช. ต้อนรับอาจารย์และนักศึกษา KMITL เข้าศึกษาดูงานด้านอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์

Facebook
Twitter

วันพุธที่ 21 กันยายน 2565  เนคเทค สวทช. ต้อนรับคณะอาจารย์และนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมศึกษาดูงาน กลุ่มวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)  จำนวน 19 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาดูงานทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมเปิดโลกทัศน์ของนักศึกษานำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนในห้องเรียนเพื่อให้เกิดประโยชน์สำหรับการประกอบวิชาชีพต่อไป  โดยมีหัวข้อผลงานมานำเสนอ ดังนี้

1. การบรรยายในหัวข้อ Localized surface plasmon resonance (LSPR) optical-based biosensor for biomolecules detection โดย ดร.อัสมา สาธุการ ทีมวิจัยเทคโนโลยีเซนเซอร์แสงไฟฟ้าเคมี (OEC)

ในปัจจุบันการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณสารชีวโมเลกุล (Biomolecules) เช่น ดีเอ็นเอ (deoxyribonucleic acid, DNA) หรือ แอนติบอดี (antobody) หรือกรดไรโบนิวคลิอิก (ribonucleic acid, RNA) เพื่อใช้ในการระบุชนิดของโรคต่างๆทั้งในคนและสัตว์ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบุชนิดของโรคในสัตว์เศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น การตรวจวัดเชื้อไวรัสทิลาเปียเลค (TiLV) ในปลานิล จึงเริ่มมีการศึกษา วิจัย พัฒนาการวัดสัญญาณการเปลี่ยนแปลงเชิงแสง เนื่องจากสามารถวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว และมีความจำเพาะต่อสารที่ต้องการที่จะตรวจวัด จึงส่งผลต่อความแม่นยำในการวิเคราะห์ได้ดี อีกทั้งยังสามารถลดต้นทุนในการตรวจวัดแต่ละครั้งได้อีกด้วยเมื่อเทียบกับวิธีมาตรฐาน ซึ่งสารชีวโมเลกุลดังกล่าวจำเป็นต้องผ่านกระบวนการเพิ่มจำนวน (amplification) ด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส (polymerase chain reaction, PCR) เป็นต้น

2. การบรรยายในหัวข้อ “Ultrathin optical devices with geometric metasurfaces” โดย ดร.ยุทธนา อินทรวันณี ทีมวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ (PHT)

เป็นการพัฒนาอุปกรณ์ทางแสงด้วยโครงสร้างในระดับนาโนเมตรจากทอง โดยโครงสร้างดังกล่าวมีขนาด 80 x 220 x 40 ลูกบาศก์นาโนเมตร (กว้าง x ยาว x หนา) และมีการจัดเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบในระนาบ 2 มิติ แต่มีองศาของการเรียงตัวที่แตกต่างกันตามหน้าที่ของอุปกรณ์นั้น ๆ ซึ่งถูกเรียกว่า เมตะเซอร์เฟซ (metasurface) เมตะเซอร์เฟซถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้อุปกรณ์สามารถมีฟังก์ชันการทำงานที่ซับซ้อนซึ่งไม่สามารถทำได้หรือทำได้ยากจากอุปกรณ์ทางแสงโดยทั่วไปในปัจจุบัน และด้วยความหนาของโครงสร้างขนาด 40 นาโนเมตร จึงทำให้อุปกรณ์ทางแสงที่พัฒนาขึ้นมีความบางมาก ๆ (ultrathin) เหมาะแก่การนำไปพัฒนาอุปกรณ์แบบพกพาที่มีขนาดเล็กกะทัดรัด เช่น ระบบ AR/VR กล้องถ่ายภาพ กล้องจุลทรรศน์ กล้องถ่ายภาพหลายความยาวคลื่น หรือ เครื่องสเปกโตรมิเตอร์ เป็นต้น

3. การบรรยายในหัวข้อ “เทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์ หลักการ และการประยุกต์ใช้งาน” โดย ดร.รุ่งโรจน์ จินตเมธาสวัสดิ์ จากทีมวิจัยเทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์ (TRT)

โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับคุณลักษณะของคลื่นเทระเฮิรตซ์ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานด้านต่างๆ ได้ และได้กล่าวถึงงานวิจัยที่ทีมวิจัยฯ ได้ดำเนินการอยู่

4. การบรรยายในหัวข้อ “เทคโนโลยี Raman-SERS (OnSpec) และงานประยุกต์ในด้านต่าง ๆ” โดย ดร.ฐิตพัฒน์ เงินสุทธิวรกุล และดร.ราจู บอตต้า จากทีมวิจัยเทคโนโลยีเชิงแสงไฟฟ้าเคมี (OEC)

และหลังเสร็จสิ้นการบรรยายแล้ว วิทยากรจากทีมวิจัย OEC และ TRT ได้พาคณะอาจารย์และนักศึกษาเยี่ยมชมเครื่องมือวิจัยต่างๆ ในห้องปฎิบัติการของทีมวิจัย