เนคเทค สวทช. ร่วมเสวนาออนไลน์ “Metaverse & Digital Solutions (MDS) Thailand 2022

Facebook
Twitter

ทรู ดิจิทัล โซลูชัน x เนคเทค สวทช. พร้อมหน่วยงานพันธมิตร จัดเสวนาออนไลน์ “Metaverse & Digital Solutions (MDS) Thailand 2022” ในด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse และ Digital Solutions ในอุตสาหกรรมหลัก อาทิ อสังหาริมทรัพย์ การแพทย์ และหุ่นยนต์ ที่จะมาแชร์มุมมองและวิสัยทัศน์ พร้อมอัปเดตเทรนดิจิทัลล่าสุด เมื่อ 26 เม.ย. 65 

โดย ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (AINRG) เนคเทค สวทช. และอุปนายกสมาคม AIAT ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “Robotics” ร่วมกับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 2 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหาร หลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ (ISE) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย (TRS) ดร.มหิศร ว่องผาติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮฟ์กราวนด์ จำกัด ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองถึงความแตกต่างระหว่าง AI Robot กับ Metaverse ว่ามีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไร

วิทยากรแต่ละท่านได้ให้มุมมองและคำจำกัดความคำว่า “Metaverse” ในวงการวิชาการหุ่นยนต์ไทย ศาสตร์ทางด้านนี้มีมานาน โดยเริ่มทำงานวิจัยเกี่ยวกับการสร้างโลกเสมือนจริง (Virtual Reality) เป็นการจำลองความรู้สึกเสมือนจริงจากสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น สายตา เสียง สัมผัส ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ในสภาพแวดล้อมจริง ซึ่งสร้างได้หลายรูปแบบ จนเทคโนโลยีพัฒนาก้าวหน้าขึ้นมาเรื่อย ๆ ความเสมือนจริงสัมผัสได้มากขึ้น เทคโนโลยีในการนำเสนอรูปแบบต่าง ๆ ดีขึ้นทำให้ประสบการณ์เติบโตอย่างก้าวกระโดด 

รวมถึงความรวดเร็วของเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์เข้ากับสภาพแวดล้อมเสมือนได้อย่างน่าตื่นเต้น รู้สึกเหมือนจริงในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หุ่นยนต์ (Robotics) ที่มีการสัมผัส การเคลื่อนที่ จึงเป็นการถ่ายทอดระหว่างโลกกายภาพและโลกเสมือน ฉะนั้น หุ่นยนต์ (Robotics) มีส่วนสำคัญทำให้การถ่ายทอดระหว่างโลกเสมือนกับโลกจริงมีความใกล้กันมากขึ้น เช่น การทำ Digital Twins สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม

ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (AINRG) เนคเทค สวทช. และอุปนายกสมาคม AIAT ไได้ให้มุมมองว่า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์สามารถใช้ประโยชน์จาก Metaverse ได้ในหลายรูปแบบ เช่น ผู้ประกาศข่าวที่เป็น Virtual หรือ Robot Virtual ทำให้เกิดโลก Metaverse ในลักษณะจำลองโลกกายภาพไปสู่โลกเสมือนในส่วนนี้เริ่มเห็นเยอะขึ้น ในกลุ่ม Simulation ก็สามารถทำได้แล้วเช่นกัน ในทางกลับกัน การถ่ายทอดจากโลกเสมือนไปสู่โลกกายภาพนั้น ยังต้องอาศัยระยะเวลาในการพัฒนาอีกมาก เพราะเป็นเรื่องความปลอดภัยมนุษย์ โดยในกลุ่มความบันเทิงและการศึกษา จะเห็นการใช้ Real Simulation เพื่อให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น

ทั้งนี้ Robot x Metaverse จะมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศพัฒนายิ่งขึ้น สำหรับโครงการที่เนคเทค สวทช. กำลังพัฒนาอยู่จะเน้นไปในด้านของ AI เช่น Natural Language Processing, Speech, Chatbot และ Virtual Agent อีกโจทย์ที่สำคัญ คือ การใช้กล้องไปตรวจสอบการกัดเซาะชายฝั่ง ออกแบบเซนเซอร์เพื่อตรวจสอบแรงของน้ำที่มากัดเซาะ โดยใช้ทฤษฎีอุทกศาสตร์เข้ามาช่วยในส่วนนี้