เนคเทคเปิดตัว AI for Thai แพล็ตฟอร์ม AI สัญชาติไทยในงาน NECTEC-ACE 2019

Facebook
Twitter

วันที่ 9 กันยายน 2562 รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเปิดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค 2562 ภายใต้แนวคิด “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” และร่วมเปิดตัวแพลตฟอร์มเอไอสัญชาติไทย AI for Thai จัดโดย เนคเทค-สวทช. เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัยพัฒนาที่มีการนำไปใช้ในภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และความคิดเห็นระหว่างนักวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับชาติและนานาชาติ นักวิชาการในภาครัฐและผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผลงานและเทคโนโลยีของศูนย์ฯ ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สรนิต ศิลธรรม

ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึง การจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้ มีความหมายต่อประเทศไทย โดยเฉพาะนโยบายของรัฐมนตรี นโยบายรัฐบาล นโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษาศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งมีความชัดเจนใน 4 เรื่อง เรื่องแรก เรื่องของการสร้างคน ในศตวรรษที่ 21 เรื่องที่สองเป็นสร้างองค์ความรู้การวิจัย เรื่องที่สาม คือการสร้างองค์ความรู้ทางด้านนวัตกรรม และเรื่องที่สี่เป็นเรื่องของการ Reinventing the University ภารกิจของเนคเทคสามารถเข้าได้กับทุกๆ ยุทธศาสตร์ ทุกประเด็นของกระทรวงอุดมศึกษา ที่สำคัญคือเรื่องของการสร้างคน เนคเทค มีองค์ความรู้ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งในยุคที่กำลังจะก้าวข้าม Device ไปสู่เป็นยุคของ Big Data และ AI (Artificial Intellgence) ทุกหน่วยงาน จะต้องสนใจและพัฒนาเรื่อง AI ในทุกๆ มิติ ตั้งแต่เรื่องของการสอนเด็กให้รู้จัก AI มิติที่จะทำให้คนเข้าใจว่าข้อมูลทั้งหลายที่อยู่รอบตัวถูกนำไปใช้ด้วย AI และสามารถนำไปใช้ในงานได้หลากหลายรูปแบบ AI และ Big Data จึงเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยเสริมความการพัฒนาและการทำงานของมนุษย์ แต่การพัฒนาควรอยู่หลัก Ethics หรือจริยธรรมด้วย

NECTEC-ACE2019

การจัดงานประจำปีนี้ เนคเทค-สวทช. ได้จัดงานภายใต้แนวคิด “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” จะช่วยตอบโจทย์ของสังคมไทยโดยนำเสนอ TOPs หรือ Targeted Output Profiles แบ่งเป็น 8 TOPs ช่วยตอบโจทย์ Demand-side หรือความต้องการของประเทศ ภารกิจของ เนคเทค-สวทช. ในฐานะที่เป็นองค์กร ในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง จึงเป็นเหมือนเครื่องจักรสำคัญในการสร้างรากฐานทางเทคโนโลยีสร้างงานวิจัย และพัฒนาสร้างบุคลากร สร้างความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยี ทำให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน ต่อไป

Ai for Thai

ในงานได้มีการประกาศเปิดตัว AI for Thai โดยได้รับการสนับสนุนจาก CAT, INET, pantip.com และ KBTG ร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงาน AI for Thai: Thai AI Service Platform หรือแพลตฟอร์มเอไอสัญชาติไทย เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาที่เนคเทค-สวทช.สะสมองค์ความรู้มาเป็นเวลากว่า 20 ปีมุ่งหวังให้เป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมและบริการยกระดับประสิทธิภาพของภาคเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ เป็นแพลตฟอร์มสําหรับเศรษฐกิจในอนาคต และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน รวมถึงการสร้างอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูล และ ปัญญาประดิษฐ์ อันจะเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค-สวทช. กล่าวในโอกาสประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์มเอไอสัญชาติไทยว่า “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” เป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง เนื่องจากได้เข้ามามีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านต่างๆ ผนวกรวมกับข้อมูลในรูปแบบจำนวนมากและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลเสียง รูปภาพ ข้อความ แผนผังข้อมูล ซึ่งมีการเก็บรวบรวมอย่างเป็นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้พัฒนาการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ภายใต้กระบวนการที่เรียกว่า Machine Learning ในโอกาสนี้จึงขอเชิญนักพัฒนา ผู้ประกอบการบริษัท SME ที่มีจินตนาการสร้างสรรค์ อยากพัฒนาแอปพลิเคชันด้านเอไอได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีค่าใช้จ่าย กับการประมวลผลภาษาไทย เช่น ตัดคำ วิเคราะห์ไวยากรณ์ วิเคราะห์คำอ่าน วิเคราะห์ความคิดเห็น วิเคราะห์ภาพและวิดีโอ เช่น ภาพข้อความ ภาพวัตถุ ภาพใบหน้า เข้าใจและสร้างเสียงพูดภาษาไทย ตลอดจนสร้าง Chatbot ทั้งนี้ AI for Thai หรือ แพลตฟอร์มเอไอสัญชาติไทย สามารถใช้งานได้ที่ https://www.aiforthai.in.th

AI for Thai
AI for Thai
AI for Thai

ภายในงาน มีห้วข้อสัมมนาและนิทรรศการที่จัดแสดงผลงานวิจัยที่จะสามารถนำไประยุกต์ใช้งานก่อนนำไปสู่ความเป็นเลิศเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายหลัก ทั้ง 8 ด้าน (TOPs : Targeted Output Profiles) ได้แก่ ด้านบูรณาการข้อมูลประชากร อุตสาหกรรมอัจฉริยะ เซนเซอร์คุณภาพสูง การศึกษาอัจฉริยะ เกษตรแม่นยำ เอไอสัญชาติไทย ไอทีเพื่อสุขภาพ และ เมืองอัจฉริยะ รวมทั้งริเริ่มให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะมีความสำคัญในอนาคตในสัดส่วนที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เนคเทคได้ดำเนินงานวิจัยร่วมกับพันธมิตร เพื่อผลักดันให้เกิดระบบนิเวศน์ของการใช้เทคโนโลยีที่วิจัยและพัฒนาขึ้นให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้าง ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาผลงานวิจัยร่วมกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ในทุกๆ ปี เนคเทคจึงจัดให้มีงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ เพื่อนำเสนอผลความก้าวหน้าในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงเป็นเวทีในการพบปะ รับฟัง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และร่วมหารือเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยให้ดียิ่งขึ้น มีการนำเสนอผลงานวิจัยที่สามารถตอบสนองความต้องการของภาคส่วนต่างๆ ด้วยงานวิจัยพร้อมถ่ายทอด และแสวงหาพันธมิตรร่วมวิจัย ขยายผลการใช้งานกว่า 50 ผลงาน โดยมีผลงานที่น่าสนใจ อาทิ

  • ด้านระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อตอบยุทธศาสตร์ประเทศ (Strategic Big Data) นำเสนอผลงาน ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP)
  • ด้านเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) นำเสนอผลงาน แอปพลิเคชันตรวจโรคข้าว แอปพลิเคชันชาวเกษตร
  • ด้านโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) นำเสนอผลงาน ระบบระบุตำแหน่งภายในอาคาร (UNAI) และหน่วยตรวจวัดระยะไกลยูนิเวอร์แซล (uRTU)
  • ด้านเซนเซอร์ยุทธศาสตร์ (Strategic Sensor Process and Device) นำเสนอผลงาน ชิปขยายสัญญาณรามาน (NECTEC SERS Chips series)
  • ด้านบริการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Service) นำเสนอผลงานตัวอย่างการประยุกต์ใช้ AI ในหลายๆ ด้าน เช่น Thai Celeb Detection, โปรแกรมทายรูปอาหารไทย, ระบบ JibJib for smart home เป็นต้น
  • ด้านเมืองอัจฉริยะ (Smart City) นำเสนอ ผลงาน Traffy series (Waste/Fondue/Transit), โปรแกรม Big Stream และระบบรักษ์น้ำ
  • ด้านนวัตกรรมเพื่อการศึกษา (Innovative Education Platform) นำเสนอผลงานนวัตกรรมทางการศึกษาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Kidbright และการต่อยอดผลงาน KidBright การนำเสนอผลงานครูจากโครงการ KruKid Education จำนวน 20 ผลงานและระบบ Museum Pool นอกจากนั้น ยังมีผลงานอันเกิดจากความร่วมมือของเนคเทคและหน่วยงานภายนอกภายใต้โครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” จำนวน 14 ผลงาน
  • ด้านสุขภาวะดิจิทัล (Digital Wellness Platform) นำเสนอผลงานและนวัตกรรมสนับสนุนด้านสุขภาพได้แก่ เครื่องช่วยฟัง และระบบคัดกรองการได้ยินในเด็ก

ซึ่งผลงานต่างๆ ที่นำเสนอนั้น ล้วนเป็นผลงานที่พัฒนาขึ้นจากทีมวิจัยของคนไทย เตรียมพร้อมสำหรับถ่ายทอดการใช้งาน และสามารถตอบโจทย์ทั้งในมิติของผู้ประกอบการที่ต้องการนำเทคโนโลยีไปต่อยอดธุรกิจ ภาครัฐเพื่อนำไปเป็นเครื่องมือกำหนดนโยบาย ตลอดจนผู้บริโภคปลายทางได้อย่างดี

NECTEC-ACE2019
NECTEC-ACE2019
NECTEC-ACE2019
NECTEC-ACE2019