การใช้งาน NETPIE ของภาคอุตสาหกรรม : นิเด็ค ฯ มุ่งสู่เป้าหมาย industry 4.0 ภายในปี 2561

Facebook
Twitter

หลังจาก NETPIE เปิดให้บริการแก่นักพัฒนาและผู้ที่สนใจมาร่วมใช้งาน เกิดการสรรค์ผลงานและสิ่งประดิษฐ์ทางด้าน IoT ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์และอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันอย่างหลากหลาย วันนี้เนคเทคขอพาทุกท่านไปดูตัวอย่างการนำ NETPIE ไปใช้พัฒนางาน IoT ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตกันบ้าง โดยเราจะไปเยี่ยม บริษัท นิเด็ค ชิบาอุระ อีเลคโทรนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งคุณคาซูโยชิ ฮิโร ประธานบริษัท พร้อมด้วยพี่ๆ เจ้าหน้าที่จากนิเด็คฯ ได้ให้เกียรติต้อนรับและพาพวกเราเยี่ยมชมโรงงานอย่างอบอุ่น

เรามาดูกันว่านิเด็คฯ นำ NETPIE มาช่วยพัฒนาโรงงานเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายของการเป็น Smart Factory อย่างไร?

กรณีศึกษา : การใช้งาน NETPIE ของภาคอุตสาหกรรม

ภาระกิจหลักของนิเด็คฯ คือการผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนมอเตอร์ในเครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่อบริษัทต้นสังกัดที่ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศนโยบายนำองค์กรก้าวสู่ Industry 4.0 นิเด็คฯ จึงได้วางเป้าหมายของการยกระดับองค์กรไปสู่การเป็น Smart Industry ภายในปี 2561 ไว้ 3 ขั้นตอน ดังนี้

IoT Smart Factory NECTEC
แผนการยกระดับองค์กรสู่ Smart Industry ของ นิเด็คฯ

NETPIE แรกพบ

คุณเอกสิทธิ์ อินทร์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปของนิเดคฯ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนา IoT ของโรงงาน ได้เล่าถึงที่มาของการนำ NETPIE มาใช้งานว่า “หลังได้รับโจทย์ IoT มาจากสำนักงานใหญ่ก็ได้ทดลองศึกษาด้วยตนเอง รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรเพราะใช้เวลาศึกษามาระยะหนึ่งแล้วแต่แทบไม่มีความคืบหน้า”

“ขณะที่กำลังคิดหาทางออก วันหนึ่ง…ผมกลับถึงบ้านแล้วเปิดโทรทัศน์เจอรายการหนึ่งกำลังแนะนำ NETPIE ก็ลองเข้าไปศึกษาการใช้งานแล้วลงมือทำดู รู้สึกว่าสะดวกและใช้งานได้ง่าย จึงได้ชักชวนน้องๆ พนักงานที่เป็นเมกเกอร์และสนใจการพัฒนา IoT มารวมกลุ่ม แชร์ไอเดียกันและทำอุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นมาใช้เองในโรงงานเรา ทุกคนล้วนเป็นอาสาสมัคร เสียสละเวลาหลังเลิกงานมาช่วยกันทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา”

นิเด็ค NETPIE
คุณเอกสิทธิ์แนะนำสมาชิกนักพัฒนา IoT ของนิเด็ค

ทั้งนี้กิจกรรมของกลุ่มนักพัฒนา IoT ของนิเด็คฯ ทำงานภายใต้โจทย์ LCA (Low-Cost Automation and IoT Activities) มีจุดมุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน ช่วยลดกำลังคนและความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ภายใต้งบประมาณที่จำกัด โดยประกอบเครื่องจักรที่ใช้ทำงานด้วยตัวเองแล้วใช้ NETPIEเป็นตัวกลางเชื่อมต่อของ IoT ขณะเดียวกันซอฟต์แวร์ที่ใช้ควบคุมการทำงานรวมถึงหน้าแสดงผลรายงานพวกเขาก็พัฒนาขึ้นมาด้วยตนเองเช่นกัน

การใช้งาน NETPIE ที่นิเด็คฯ

นิเด็ค NETPIE
การประยุกต์ใช้งาน NETPIE

ตลอดเส้นทางการเดินชมโรงงาน เราได้เห็นว่าทีมนักพัฒนา IoT ของนิเด็คฯ นำ NETPIE และเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ มาประยุกต์ใช้งานอย่างหลากหลายและน่าสนใจมากทีเดียว อาทิ

  • ระบบควบคุมการเปิด / ปิดไฟในห้องและบริเวณทางเดินด้วยเว็บแอปพลิเคชั่นบนมือถือ
  • ระบบรายงานสถานะห้องประชุม
  • ระบบการเบิกจ่ายอุปกรณ์ในคลังสำนักงาน เพื่อลดการใช้กระดาษในสำนักงาน โดยให้พนักงานชำระค่าสินค้าที่ต้องการเบิกผ่านเครดิตการ์ด ระบบจะรายงานและส่งการแจ้งเตือนไปยังผู้บริหาร เมื่อพนักงานเบิกเกินวงเงินที่กำหนด
  • E-Employee Service ระบบบันทึกการเข้างาน / ขาด / ลา / มาสาย
นิเด็ค NETPIE
ระบบแสดงสถานะห้องประชุม
นิเด็ค NETPIE
เว็บแอปพลิเคชั่นควบคุมการเปิด / ปิดไฟ
  • ระบบ Location Mapping โดยอาศัย RFIDบันทึกข้อมูลสินค้ามาทำงานร่วมกับNETPIE ระบุตำแหน่ง ช่วยให้หาชิ้นส่วนอุปกรณ์ หรือ ผลิตภัณฑ์ง่ายขึ้น
  • ระบบตรวจสอบอุณหภูมิน้ำมันหล่อลื่นในเครื่องจักร
  • ระบบตรวจสอบอัตราการไหลของน้ำหล่อเย็นในเครื่องจักร
  • ระบบสั่งการ Robotic Machine
  • ระบบตรวจสอบย้อนกลับ โดยใช้ RFIDบันทึกข้อมูลสินค้า ทำงานร่วมกับNETPIE ช่วยให้พนักงานสามารถตรวจสอบข้อมูลสินค้าได้ทันที แต่เดิมนิเด็คฯ ใช้แรงงานคนในการตรวจสอบข้อมูลสินค้าและข้อมูลการผลิตแบบย้อนกลับ กว่าจะทราบผลต้องใช้เวลานาน 4-5 เดือน
  • ระบบควบคุมอุณหภูมิในห้องตรวจสอบคุณภาพสินค้า เดิมพนักงานจะต้องเข้าไปจดบันทึกอุณหภูมิในห้อง ทุกๆ 2 ชั่วโมง ทำให้อาจได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากการวัดที่ไม่ตรงเวลา ปัจจุบัน นิเด็คใช้ NETPIE เข้ามาช่วยในการวัดอุณหภูมิและบันทึกข้อมูลตามเวลาที่กำหนด อีกทั้งยังทำให้สามารถเรียกดูข้อมูลย้อนหลังได้
นิเด็ค NETPIE
ระบบควบคุมอุณหภูมิในห้องตรวจสอบคุณภาพสินค้า
  • ระบบจัดการคลังสินค้า ทำการบันทึกข้อมูลสินค้าด้วย RFID ติดตั้งชุด IoT ไว้ที่ชั้นวางสินค้า มีระบบ Location Mapping ทำให้ทราบข้อมูลของสินค้าว่าเป็นสินค้าใด จำนวนเท่าไหร่และเก็บไว้ตรงไหนบ้าง
  • ระบบ Smart Weight สำหรับชั่งน้ำหนักวัตถุดิบ ทำให้สามารถลดการสูญเสียวัตถุดิบจากกระบวนการผลิตได้ 50% และประหยัดกำลังคนที่ใช้ทำงานขั้นตอนนี้ถึง 2 คน
  • ระบบ Smart Connector รายงานจำนวนชิ้นงานที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพทางไฟฟ้า
  • ระบบ Smart Delivery สำหรับจัดการเส้นทางการวิ่งและรายงานตำแหน่งรถขนส่ง
นิเด็ค NETPIE
กล่องระบบ Location Mapping ติดตั้งไว้ที่ชั้นวางสินค้าในคลัง

รวมทุกการแสดงผลไว้ที่จุดเดียว

ห้องทำงานของชาวนิเด็คฯ ไม่ได้แยกตามแผนกหรือฝ่ายงานอย่างหลายๆ องค์กร ที่นี่…ทุกคนจะทำงานอยู่ในห้องเดียวกัน (ห้องทำงานกว้างและใหญ่มากก! แถมยังมีมุมสำหรับพักผ่อนและทำกิจกรรมนันทนาการอยู่ห้องข้างๆ ด้วย) พนักงานทุกคนรวมถึงผู้บริหารจะได้รับข้อมูลเดียวกัน โดยจะเห็นสถานะการทำงานของระบบทั้งหมดจากจอรายงานผลที่ติดตั้งไว้ในออฟฟิศ

นิเด็ค NETPIE
จอแสดงผลที่ห้องทำงาน

นิเด็คฯ ได้อะไรจากการพัฒนา IoT?

หลังนิเด็คฯ พัฒนาระบบ IoT ใช้ในโรงงานด้วยระยะเวลาเพียง 3 เดือน (มิ.ย. – ส.ค. 59) พบว่า โรงงานสามารถลดต้นทุนทางอ้อมได้ 9.7% และลดค่าใช้จ่ายได้ 7.4% ทั้งนี้ นิเด็คฯ ตั้งเป้าหมายในการติดตั้งอุปกรณ์ IoT ทั้งหมด 1500 ชิ้น ปัจจุบันเชื่อมต่อ NETPIE ไว้กับอุปกรณ์ 330 ชิ้นซึ่งคิดเป็น 22%

คุณคาซูโยชิ ฮิโร ประธานบริษัทกล่าวว่า ขณะนี้ความก้าวหน้าของการนำ IoT มาพัฒนาโรงงานถือว่าประสบความสำเร็จ 30% ในระหว่างนี้ยังคงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ต้องการพัฒนาให้ดีขึ้นคือเวลาและความเร็วในการดำเนินงาน เนื่องจากการที่จะก้าวไปสู่ Industyr 4.0 นิเด็คต้องพัฒนาให้รวดเร็วจึงจะสามารถแข่งขันกับคนอื่นได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งองค์ความรู้จากการพัฒนาที่นี่จะถูกนำไปถ่ายทอดให้กับองค์กรในเครืออีกหลายสาขาและบริษัทต่างๆ ที่สนใจ

นิเด็ค NETPIE
คุณคาซูโยชิ ฮิโร ประธานบริษัทนิเด็ค ชิบาอุระ อีเลคโทรนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด

Smart Factory & Smart Person

การใช้งาน IoT ในภาคอุตสาหกรรม ของบริษัท นิเด็ค ชิบาอุระ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด แสดงให้เห็นว่านอกจากนโยบายและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารแล้ว ปัจจัยต่างๆ เช่น พื้นฐานองค์ความรู้ ความพร้อม รวมไปถึงความใฝ่รู้ของบุคลากร เป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนให้โรงงานยกระดับสู่ Smart Factory

จากประสบการณ์ของทีมนักพัฒนา NETPIE ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือในการให้คำปรึกษากับกลุ่มอุตสาหกรรมไทยพบว่า มีโรงงานหลายแห่งต้องการใช้ประโยชน์จาก IoT แต่ยังขาดบุคลากรดำเนินงาน ในปี 2560 ทีม NETPIE ได้วางเป้าหมายที่จะสร้างพันธมิตรด้าน System Integration หรือ SI เพื่อผสานกำลังส่งต่อคุณค่าของเทคโนโลยี IoT และ NETPIE ไปสู่การใช้งานจริงในโรงงานภายในประเทศ และช่วยกันผลักดันอุตสาหกรรมไทยให้เข้าสู่ Industry 4.0 ได้เร็วยิ่งขึ้น

ผู้สนใจร่วมเป็นพันธมิตรด้าน SI และเจ้าของโรงงานที่ยินดีนำเทคโนโลยี NETPIE-IoT ไปทดสอบ สามารถเข้าไปดูข้อมูลและลงทะเบียนร่วมเป็นพันธมิตรกับ NETPIE ได้ที่ https://netpie.io/partner

บทความ โดย ศศิวิภา หาสุข / ภาพประกอบโดย วรัชยา ขวัญสุข

วันที่เผยแพร่ 1 มีนาคม 2560 16:50