เนคเทค ร่วมกับ วช. และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา เปิดตัวแอปฯ Museum Pool

Facebook
Twitter
Museums Pool

วันที่ 31 สิงหาคม 2560 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร จัดงานแถลงข่าว เปิดตัวแอปพลิเคชัน “Museum Pool” (มิวเซียม พูล) ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

Museums Pool

“Museum Pool” (มิวเซียม พูล) เป็นแอปพลิเคชันเพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ตัวช่วยในการนำชมพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ส่วนตัว เช่น โทรศัพท์มือถือหรือแทปเล็ต ทั้งในรูปแบบการชมพิพิธภัณฑ์ในสถานที่จริง ซึ่งผู้เข้าชมสามารถดูเนื้อหาของวัตถุจัดแสดงแบบละเอียดได้ โดยการอ่าน QR code ที่ติดอยู่กับวัตถุ โดยเนื้อหาดังกล่าวประกอบด้วย ภาพ เสียง และวีดิทัศน์ ซึ่งผู้ชมสามารถรับทราบข้อมูลเบื้องต้นของวัตถุจัดแสดงได้ รวมทั้งสามารถศึกษาข้อมูลจากหลายพิพิธภัณฑ์ได้ในแอปพลิเคชันเดียว เพิ่มความสะดวก ความรวดเร็ว และตรงกับความต้องการในการวางแผนการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวยุคใหม่

museums Pool
Museums Pool

ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการเนคเทค และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ส่งมอบแอปพลิเคชัน “Museums Pool” โดยมีคุณวัญญา ประคำทอง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร เป็นผู้รับมอบและขยายผลจากการใช้ประโยชน์ต่อไป

ดร. กัลยา อุดมวิทิต เปิดเผยว่า “ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ มีความมุ่งมั่นที่จะวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการสร้างนวัตกรรมบริการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่มีความผูกพันกับโลกดิจิทัล อีกทั้งยังสนองตอบต่อนโยบายของประเทศในเรื่อง Thailand 4.0 โดย “Museum Pool” (มิวเซียม พูล) เป็นแอปพลิเคชันที่ผ่านการวิจัยและพัฒนามาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยทีมวิจัยของเนคเทคได้ริเริ่มแนวคิดในการพัฒนา “Museum Pool” (มิวเซียม พูล) ที่ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก

  • ส่วนแรก คือ ระบบหน้าบ้าน หรือ Front-end ที่ติดต่อกับผู้ชมพิพิธภัณฑ์ ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยในการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่เดินทางไปยังสถานที่จริง จนถึงการเยี่ยมชมวัตถุต่างๆ
  • ส่วนที่สอง คือ ระบบหลังบ้าน หรือ Back-end สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลระบบการจัดการพิพิธภัณฑ์นั้นๆ

โดยข้อมูลและเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์และวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่ปรากฎในแอปพลิเคชัน เป็นส่วนที่ได้มาจากความร่วมมือจากกรมศิลปากร ผ่านทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักที่ดีของเนคเทค อย่างเป็นทางการภายใต้บันทึกความร่วมมือฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ซึ่งในช่วงแรกทางทีมวิจัยได้นำเทคโนโลยี RFID มาใช้ในการพัฒนา Audio guide เพื่อช่วยนำชมพิพิธภัณฑ์ จากนั้นได้พัฒนาต่อยอดมาเป็นโมบายแอปพลิเคชัน เพื่อขยายฐานผู้ใช้บริการให้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ เนคเทคได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากพันธมิตรที่ดีอีกแห่ง คือ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ที่จัดสรรทุนสนับสนุนในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะในส่วนของการเพิ่มช่องทางการเรียนรู้และศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านองค์ความรู้ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งในปัจจุบัน ผู้ใช้บริการทั่วไปสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ่านแอปพลิเคชัน “Museum Pool” (มิวเซียม พูล) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศได้ โดยดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “Museum Pool” (มิวเซียม พูล) บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และ iOS ดังนั้น การนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความสนใจในการชมพิพิธภัณฑ์ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ง่ายและไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม สนุก แถมได้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย

Museums Pool
Museums Pool
museums Pool