วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม 2561 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารและครูทางวิชาชีพในโครงการฝึกอบรมการจัดการเรียนการสอนแบบ PLC (Professional Learning Community) ชุมชนแห่งการเรียนรู้ สถาบันอาชีวศึกษาเกษตรภาคกลาง จำนวน 100 คน เข้าเยี่ยมชมศึกษาดูงานวิจัยด้าน Smart Farm โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องเทคโนโลยี และแสวงหาความร่วมมือกับเนคเทค – สวทช. ในอนาคต โดยมีคุณเจษฎา จงสุขวรากุล รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศและประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยนักวิจัยเนคเทค นักวิชาการ สวทช. ให้การต้อนรับนำเสนองานวิจัยและนิทรรศการเทคโนโลยีด้านการเกษตร
- 1. FAARMis : ระบบขึ้นทะเบียนเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์
- โดย คุณวัชรากร หนูทอง นักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยโพรโตคอลและเครือข่ายไร้สาย
FAARMis เป็นแอพพลิเคชันสำหรับใช้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร สำหรับผู้ใช้งานที่เป็นเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรด้วยสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตแอนดรอยด์ เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลทะเบียนบุคคลของกรมการปกครอง และฐานข้อมูลที่ดินของกรมที่ดินได้ สามารถใช้งานร่วมกับเครื่องอ่านบัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด (Smart card) และวาดขอบเขตเอกสารสิทธิ์ พร้อมวาดแปลงกิจกรรมทางการเกษตรบนแผนที่กูเกิล (Google maps) ได้ และมีระบบตรวจสอบข้อมูลตามเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ปี พ.ศ. 2559 จุดเด่นของเทคโนโลยี สามารถเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลทะเบียนบุคคลของกรมการปกครอง และฐานข้อมูลที่ดิน ของกรมที่ดิน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้
- 2. FAARM series ฟาร์มเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมด้านการเกษตร
- โดย ดร.เจษฎา กาญจนะ นักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว
เนคเทคได้ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรและอาหารอย่างต่อเนื่อง ด้วยการผลักดันการเกษตรสมัยใหม่ หรือ Smart Farm ที่เน้นการบริหารจัดการและการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และยกระดับมาตรฐานเกษตรกรรมด้วย “NECTEC FAARM series : ฟาร์ม เทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมด้านการเกษตร” เป็นชุดเทคโนโลยีโดยนักวิจัยไทย พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการที่สนใจ แบ่งออกเป็น 2 ชุดเทคโนโลยีตามรูปแบบการทำงาน ได้แก่ FAARM SENSE, FAARM FiT เนคเทคพร้อมสนับสนุนเกษตรกรไทยด้วยงานวิจัยพร้อมใช้ที่หลากหลาย ภายใต้ NECTEC FAARM series ฟาร์มเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมด้านการเกษตร ที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านการเกษตรสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานบริบทของตนเองได้
- 3. การพัฒนาระบบตรวจวัดสภาพแวดล้อมแบบเครือข่าย
- โดย ดร.โอภาส ตรีทวีศักดิ์ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์
เทคโนโลยีด้านเซนเซอร์ โดยสร้างระบบควบคุมการเพาะปลูกแบบเครือข่ายเกษตรกร จำเพาะเจาะจงตามชนิดของพืช ในระยะแรกจะเน้นการติดตามและเก็บบันทึกปัจจัยการเพาะปลูก เช่น ความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ อุณหภูมิในอากาศ และปริมาณแสงในโรงเรือน ระบบจะช่วยเกษตรกรในการเก็บข้อมูล ประมวลผล และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่รู้จักใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างตลาดและโอกาสให้ผู้ประกอบการใหม่ที่สนใจเป็นผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพ
- 4. Smart Farm Kit
- โดย รศ.ดร.สุเพชร จิรขจรกุล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- 5. ภาพรวมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร
- โดย คุณศักดิ์ชัย วัฒนศรีรังกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม
- 6. การใช้สารชีวภัณฑ์ “NPV”
- โดย คุณสัมฤทธิ์ เกียววงษ์ นักวิชาการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
- 7. การใช้สารชีวภัณฑ์ “บิวเวอเรีย”
- โดย คุณธงชัย ตั้งใจดี นักวิชาการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร
- 8. การใช้โรงเรือนพลาสติกสำหรับการผลิตพืชผักอย่างมีคุณภาพ
- โดย คุณสุวิมล ทองผุย นักวิชาการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร หรือ สท. (Agricultural Technology and Innovation Management Institute: AGRITEC) หน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินงานให้บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรแบบครบวงจร (One Stop Service) ภายใต้การทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิด “การปฏิรูปภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีและพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ เชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจชีวภาพ” โดยนำผลงานวิจัยจาก สวทช. และพันธมิตรสู่การใช้งานจริงในพื้นที่ ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตรและชุมชนให้ก้าวทันเทคโนโลยี ตลอดจนเป็นแหล่งความรู้ที่เข้าถึงได้ง่ายและตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรและชุมชน
วันที่เผยแพร่ 1 มิถุนายน 2561 16:53