เนคเทค สวทช. คว้า 2 รางวัลจากเวทีการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566

Facebook
Twitter

4 กุมภาพันธ์ 66 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทรงเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” (Thailand Investor’s Day 2023) และพระราชทานเกียรติบัตรให้แก่ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2566

งาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” โดยจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 24 เพื่อน้อมรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ การทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร์ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” โดยปีนี้มีผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นจากนักประดิษฐ์ไทยและนานาชาติ ร่วมนำเสนอผลงานกว่า 1,000 ผลงาน ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อีเว้นท์ ฮอลล์ 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

ในโอกาสนี้ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แสดงความยินดีกับนักวิจัย สวทช. ที่ได้รับรางวัลในสาขาต่าง ๆ รวม 16 รางวัล โดย #TEAMNECTEC และ AMED ได้รับรางวัลจาก 2 ผลงานได้แก่

รางวัลผลงานวิจัย ระดับดี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ผลงาน “ระบบวิธีการจัดสรรทรัพยากรมนุษย์โดยปัญญาประดิษฐ์” (Automatic Human Workforce Management with Artificial Intelligence)

โดย ดร. ณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล และ ดร. ชัชวาลย์ หาญสกุลบรรเทิง ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED)

รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ เรื่อง “การเพิ่มความสามารถในการเขียนโปรแกรมสำหรับหน่วยเร่งการประมวลผลผ่านรูปแบบการเขียนโปรแกรมและการเพิ่มประสิทธิภาพของโปรแกรมด้วยคอมไพเลอร์” (Improving Productivity of Accelerator Computing Through Programming Models and Compiler Optimizations) โดย ดร. ปัถย์ ศักดิ์ธนากูล ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (ThaiSC)

รายละเอียดผลงานวิจัย

ผลงาน “ระบบวิธีการจัดสรรทรัพยากรมนุษย์โดยปัญญาประดิษฐ์”  (Automatic Human Workforce Management with Artificial Intelligence)

การบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Workforce management) เป็นหัวข้อที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในหลายหน่วยงานที่จะต้องจัดสรรกำลังคนเพื่อให้บริการในช่วงเวลาต่างๆอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ ในงานหลากหลายประเภทที่มีความต้องการเทคโนโลยีการบริหารทรัพยากรมนุษย์ Call center เป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่และเกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนอย่างมาก การทำงานของ Call center  จะมีลักษณะเป็นกะ ทำงานกันเจ็ดวันต่อสัปดาห์และในบางครั้ง 24 ชั่วโมงต่อวัน สายที่โทรเข้ามาเพื่อขอรับบริการ จำเป็นต้องมีจำนวน call agent (พนักงานรับสาย) ที่สามารถให้บริการอย่างอย่างเพียงพอและในบางสถานการณ์ต้องอย่างทันท่วงที อาทิเช่น การรับเรื่องฉุกเฉิน (Emergency Call) การให้บริการภาษามือทางไกล (Relay Service) หรือ การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) 

โดยปกติการจัดการบริหารทรัพยากรมนุษย์ใน call center จะถูกรับผิดชอบโดย Call center supervisor (หัวหน้างานซึ่งอาจจะสามารถทำงานเป็น Call agent ได้ในบางกรณี)  Call center supervisor จะจัด Call agent ลงตามช่วงเวลาการให้บริการต่างๆ ตามประสบการณ์ โดยพิจารณาตัวแปรดังต่อไปนี้

  • อัตราการเปลี่ยนงานของ Call agent (High Turnover Rates) : Call center ทั่วโลกประสบปัญหาการลาออกจากงานหลังจากการทำงานได้เพียงไม่นานของพนักงาน การที่จะต้องรับ call agent ใหม่เข้ามา ทาง Call center จำเป็นต้องเสียเวลาในการหาคน และ ทำการฝึกสอนคนที่เข้ามาใหม่เพื่อให้การให้บริการมีคุณภาพเพียงพอต่อการให้บริการ ปัญหานี้ยิ่งรุนแรงมากขึ้น ถ้า call agent ที่ต้องการต้องมีทักษะที่สูง อาทิเช่น ต้องรู้ ภาษามือเพื่อทำการแปลระหว่าง คนปกติ กับคนที่มีปัญหาทางการได้ยิน หรือต้องมีความรู้ทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อใช้ช่วยชีวิตคนในเหตุฉุกเฉิน ดังนั้น ถ้าระบบการจัดการทรัพยากรมนุษย์ไม่ดี มีการจัดสรรให้  call agent ต้องทำงานหนักไป การลาออกจะตามมา และการให้บริการของ call center ก็จะกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • การทำนายภาระงาน (Workload/Traffic Forecasting): โดยปกติเมื่อจำนวน call agent ไม่เพียงพอ ความพึงพอใจของผู้รับบริการจะลดลงเนื่องจากต้องรอสายที่นานมากขึ้นก่อนที่จะได้รับการบริการ ทั้งยังส่งผลไปถึงอัตราการเปลี่ยนงานที่สูงดังได้กล่าวมาแล้วเนื่องมาจาก call agent ทำงานหนักเกินไป ในทางตรงกันข้าม ถ้าจำนวน call agent มีจำนวนมากเกินไป การใช้ทรัพยากรมนุษย์จะไม่มีประสิทฺธิภาพเนื่องมาจาก จะมี call agent ที่ว่างงาน  การที่จัดสรรจำนวน call agent ได้อย่างเหมาะสมจำเป็นต้องเข้าใจอัตราการโทรเข้ามาของผู้ใช้บริการและทำการทำนายได้อย่างถูกต้อง
  • ความผิดพลาดของมนุษย์ (Human Errors): การจัดสรรจำนวน call agent ที่ทำโดยมือรวมไปถึง การให้บริการของ call agent ที่ทำงานหนักเกินไป อาจจะส่งผลให้การให้บริการมีความผิดพลาดได้ ซึ่งจะส่งผลที่เสียอย่างรุนแรงในกรณีฉุกเฉิน 
  • ระดับการให้บริการ (Service Level Agreement): call center โดยส่วนใหญ่มีการตั้งค่า Service Level Agreement (SLA)  ซึ่งเป็นตัวเลขที่บ่งชี้ถึงคุณภาพการให้บริการ อาทิเช่น ช่วงเวลาที่ผู้รับบริการจะต้องรอจนกว่าจะได้รับบริการ

ผลงานวิทยานิพนธ์ “การเพิ่มความสามารถในการเขียนโปรแกรมสำหรับหน่วยเร่งการประมวลผลผ่านรูปแบบการเขียนโปรแกรมและการเพิ่มประสิทธิภาพของโปรแกรมด้วยคอมไพเลอร์”  ( Improving Productivity of Accelerator Computing Through Programming Models and Compiler Optimizations)

หน่วยเร่งการประมวลผล (accelerator) เช่น NVIDIA GPU และ Intel Xeon Phi ได้ถูกนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของในโปรแกรมที่ต้องการประสิทธิภาพสูงอย่างเช่นปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ high-performance computing (HPC) แต่ความสามารถนี้แลกมาด้วยการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาที่มีรูปแบบเฉพาะอย่าง CUDA และ OpenCL  ซึ่งความซับซ้อนของภาษาเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการดึงประสิทธิภาพของหน่วยเร่งการประมวลผล และการผลิตงาน (productivity) ของโปรแกรมเมอร์ ทำให้การใช้งานหน่วยเร่งการประมวลผลเหล่านี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายหรือไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่ 


ในวิทยานิพนธ์นี้พยายามแก้ปัญหาในจุดนี้ใน 3 มิติได้แก่

  1. นำเสนอ HYDRA compiler  ซึ่งใช้เทคนิค source-to-source compilation เพื่อลดความซับซ้อนของการเขียนโปรแกรมสำหรับทำงานบนหน่วยเร่งการประมวลผล
  2. ระบบสำหรับประเมินและเปรียบเทียบประสิทธิภาพและ productivity ของหน่วยเร่งการประมวลผล
  3. การใช้เทคนิคทางด้าน compiler เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโปรแกรมสำหรับหน่วยเร่งการประมวลผลโดยอัตโนมัติ โดยการปรับปรุงการใช้ทรัพยากรของหน่วยเร่งการประมวลผลโดยการแก้ไขโปรแกรมที่ระดับ assembly  ซึ่งผลลัพธ์ของวิทยานิพนธ์นี้สามารถถูกนำไปใช้เพื่อใช้ลดความซับซ้อนในการพัฒนาโปรแกรมรวมถึงทำให้โปรแกรมเมอร์ทั่วไปสามารถใช้งานหน่วยเร่งการประมวลผลเหล่านี้ได้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงยังสามารถนำไปใช้ปรับปรุงโปรแกรมที่พัฒนาสำเร็จแล้วให้สามารถทำงานได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องมีการแก้ไขโปรแกรมได้