Traffy Fondue เข้าร่วมเวทีสัมมนา “Change Change Change เมืองเปลี่ยน ประเทศเปลี่ยน” โครงการเวทีท้องถิ่นไทย ครั้งที่ 8

Facebook
Twitter

สถาบันพระปกเกล้า วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และมูลนิธิฟริดิช เนามัน แห่งประเทศไทย จัดโครงการเวทีท้องถิ่นไทย ครั้งที่ 8 ประจำปี 2565 ภายใต้หัวข้อ “Change Change Change เมืองเปลี่ยน ประเทศเปลี่ยน” ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เมื่อ 9 กันยายน 2565 โดย ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยอาวุโสและหัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (ITS) เนคเทค สวทช. ได้เข้าร่วมสัมมนา “เมืองอัจฉริยะที่ช่วยยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน” Traffy Fondue จบปัญหาเมืองในแพลตฟอร์มเดียว

เมืองอัจฉริยะ เป็นประเด็นที่มีความท้าทายกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง เพราะในยุคปัจจุบันมีความต้องการที่แตกต่างหลากหลาย อีกทั้งยังต้องสนองตอบด้วยความสะดวก รวดเร็วและทันใจ ดังนั้น ทิศทางการจัดบริการสาธารณะในปัจจุบันจึงมุ่งเน้นการออกแบบที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ร่วมกับการประยุกต์เทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของการจัดบริการสาธารณะ ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน

การสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้แก่ ผู้บริหาร สมาชิกสภา และบุคลากรองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาเมืองและความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ได้ตระหนักถึงวิธีการและแนวทางในการพัฒนาเมืองในมิติต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงเมืองในปัจจุบันสู่เมืองในอนาคต รวมถึงนวัตกรรมการบริหารจัดการเมืองสมัยใหม่ สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการบริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

นอกจากกิจกรรมการปาฐกถาพิเศษ โดยผู้ว่า กทม. แล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมการสัมมนากลุ่มย่อยที่น่าสนใจโดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มที่ 1 “เมืองอัจฉริยะที่ช่วยยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน” (Traffy Fondue)
  • กลุ่มที่ 2 “เมืองสร้างเงิน ด้วยพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์”
  • กลุ่มที่ 3 “เมืองการศึกษาเด่นเน้นการสร้างท้องถิ่นสู่เมืองแห่งการเรียนรู้” (Learning City)
  • กลุ่มที่ 4 “เมืองสิ่งแวดล้อมดีที่ท้องถิ่นทำได้ : น้ำสะอาด อากาศดี พื้นที่สีเขียว”
  • กลุ่มที่ 5 “เมืองเฮลตี้ด้วยกองทุน กปท. (ช่วยท้องถิ่นได้อย่างไรบ้าง)”
  • กลุ่มที่ 6 “เมืองเตรียมพร้อมไม่หวั่นแม้วันวิกฤต”