เด็กไทยประชันไอเดียนวัตกรรม ! คว้ารางวัล YETI2021 เฟ้นหานักเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรุ่นเยาว์

Facebook
Twitter

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ได้จัดการประกวดนักเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรุ่นเยาว์ (Young Electronics Technologists and Innovators: YETI) ประจำปี 2564 แข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ชิงทุนพัฒนาผลงานและเงินรางวัลมูลกว่า 1.5 แสนบาท ในรูปแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน ภายใต้ธีม: พลังงานและสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนในประยุกต์องค์ความรู้ด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ให้สามารถพัฒนาเป็นสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม โดย ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานในการเปิดงาน พร้อมหน่วยงานพันธมิตร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และมหาวิทยาลัยศูนย์ประสานงาน 12 แห่ง โรงเรียนกว่า 50 แห่ง ที่ร่วมสนับสนุนการจัดประกวดในปีนี้

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา สวทช. ได้กำหนดให้การพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นพันธกิจหนึ่งที่สำคัญของ สวทช. โดยกิจกรรมหนึ่งที่ สวทช. เนคเทค ร่วมสนับสนุนในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา คือ การจัดค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นเยาว์ หรือ eCamp ตลอดจนการประกวดสำหรับเยาวชนที่ผ่านค่าย eCamp เพื่อเฟ้นหาเยาวชนยอดนักอิเล็กทรอนิกส์ไทย ในเวทีประกวดนักเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรุ่นเยาว์ ซึ่งเป็นเวทีการประกวดโครงงานสำหรับกลุ่มเยาวชน นักเรียน ครู นิสิต และนักศึกษา ที่ได้บูรณาการความรู้จากค่ายฯ ด้านวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ผนวกความคิดสร้างสรรค์ Creative Thinking มาประยุกต์พัฒนาเป็นขึ้นเป็นผลงานที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง หรือเป็นจุดเริ่มต้นของผลงานที่สามารถนำไปต่อยอดขยายผลให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม และเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนไทยเกิดความตื่นตัวและหันมาพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกันมากขึ้นอีกด้วย

ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า การจัดประกวดผลงานเยาวชนที่ผ่านค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์    รุ่นเยาว์ หรือ eCamp ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 19 ปี  โดยได้ปรับเปลี่ยนชื่อ และรูปแบบกิจกรรมตามสถานการณ์ จาก การแข่งขันประกวดประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ YECC  การประกวดนักเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรุ่นเยาว์ YETI  ในระยะ 2 ปีให้หลังนี้ แต่อย่างไรก็ดี เป้าหมายสำคัญของกิจกรรมนี้ คือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และครู ที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้นำความรู้ และประสบการณ์ด้านฮาร์ดแวร์ อนาล็อก และดิจิทัล มาประยุกต์กับซอฟต์แวร์ เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการคิด และดำเนินการอย่างเป็นระบบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังได้มีโอกาสนำผลงานมาเผยแพร่สู่สาธารณชน ซึ่งเป็นการสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการพัฒนาบุคลากรสู่อุตสาหกรรมภาคอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง

นางสาวตติยา สาครพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์การ (กฟผ.) กล่าวว่า ทาง กฟผ.มีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมที่สนับสนุนเยาวชนได้พัฒนาทักษะการเป็นนักคิด นักประดิษฐ์ สร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ ที่จะสร้างประโยชน์แก่โลกของเรา โดยเฉพาะนวัตกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่ง กฟผ. เองกว่า 52 ปีที่เราได้เป็นผู้ดูแลความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ก็ได้มุ่งมั่นพัฒนาการดำเนินงานและนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพและเทคโนโลยีโรงไฟฟ้า การพัฒนานวัตกรรม EV ต่าง ๆ เช่น รถ/เรือ สถานีชาร์จ ร่วมกับพันธมิตรมากมาย ยินดีอย่างยิ่งที่เรามีพันธมิตรที่เหนียวแน่นเพิ่มขึ้น และได้พลังจากน้อง ๆ เยาวชนมาช่วยกันรวมพลังขับเคลื่อนประเทศ พร้อม ๆ ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับภารกิจของ กฟผ. เพื่อไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพื่อลมหายใจแห่งอนาคตของเราทุกคน

ประกาศผล ! ไอเดียนวัตกรรมเด็กไทยคว้ารางวัล YETI2021

ในปีนี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รวมกว่า 500 คน ส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์เข้าร่วมประกวด 21 ทีม และผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ 15 ทีม รวม 60 คน เป็นนักเรียน 30 คน ครู 15 คน และนิสิต นักศึกษา 15 คน

โดยผู้แข่งขันจะต้องสร้างสรรค์โครงงานอิเล็กทรอนิกส์ โดยนำความรู้ หลักการ ทฤษฎีทางอิเล็กทรอนิกส์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์หรือความรู้ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์มาประยุกต์ เพื่อให้เกิดการนำอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ สำหรับการพัฒนาท้องถิ่น โดยในปีนี้ ได้กำหนดหัวข้อการแข่งขันเรื่อง พลังงาน และ สิ่งแวดล้อมรอบตัว

พลังงาน เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์มาพัฒนาผลงานเพื่อ “การผลิตพลังงานทางเลือก” “เพื่อลดการใช้พลังงาน” หรือ “เพื่อบริหารจัดการ พลังานให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

สิ่งแวดล้อมรอบตัว  เป็นการนำเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศ ได้แก่ การแก้ปัญหา PM 2.5 หรือตรวจสภาพสิ่งแวดล้อมในการทำนายพฤติกรรมบางอย่าง เช่น สถานีวัดอากาศที่ทำให้สามารถคำนวณการจัดการเรื่องน้ำในการเกษตรได้ เป็นต้น

การประกาศผลรางวัลนักเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรุ่นเยาว์ (Young Electronics Technologists and Innovators: YETI) ประจำปี 2564 จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ ในวันที่ 10 กันยายน 64 โดย คุณสิรินทน อินทร์สวาท ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงสร้างพื้นฐาน เนคเทค สวทช. และ คุณศิริลักษณ์ ศรีมลฑล ฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์การการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้กล่าวแสดงความยินดีและมอบรางวัล

รางวัลชนะเลิศ

โครงการ GreenWaste : make microgarden happen จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผู้พัฒนา | ด.ญ.ภิญญดา แก้วเกตุ และ ด.ช. องอาจ ศุภรัศมี
อาจารย์ที่ปรึกษา | นายอภิรัตน์ เบญจวรรณ

เครื่องทำปุ๋ยจากเศษอาหาร ที่ใช้เวลา 20 ชั่วโมง “GreenWaste” ผู้พัฒนาได้เห็นถึงความสำคัญในการที่จะช่วยกันลดขยะจากเศษอาหาร แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทางเราได้มองเห็นซึ่งจะนำไปใช้ในครัวเรือน เริ่มต้นจากตัวเรา เพื่อช่วยลดการเกิดขยะ ช่วยในการลดต้นทุนในการปลูกผักสวนครัว และลดเรื่องเวลาได้มาก เราอยากให้เศษอาหารที่ทานเหลือในแต่ละมื้อ แต่ละวัน สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงได้เริ่มที่จะสร้างโปรเจคนี้ขึ้นมา ที่มีชื่อว่า GreenWaste ซึ่งมีต้นทุนต่ำ และนำไปใช้ได้ทุกที่ มีขนาดเล็ก กะทัดรัด โดยเทคโนโลยีที่มาใช้ Internet of Thing มาควบคุมการทำงานและแสดงผล อยู่ที่ไหนก็สามารถตรวจสอบได้ ง่ายต่อการใช้งาน

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1

โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพถังหมักก๊าซชีวภาพขนาดเล็ก ด้วยระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผู้พัฒนา | ด.ญ.นาง คำจันทร์, น.ส.สุทัตตา คำแก้ว
ครูที่ปรึกษา | ว่าที่ ร.ต.สุวิชา จิตบาล โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์

ด้วยปัญหาของโรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ที่มีนักเรียนจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อรับประทานอาหารแล้วจะมีเศษอาหารเหลือทิ้งจำนวนมาก จึงต้องมีการจัดการกับเศษอาหารนั้น ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นวัตถุดิบในการผลิตก๊าซชีวภาพได้ ประกอบกับที่โรงเรียนมีห้องเรียนคหกรรม จึงสามารถนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาใช้ในการเรียนในรายวิชาคหกรรมได้ ทำให้ประหยัดงบประมาณ และยังใช้พลังงานหมุนเวียนมาช่วยในการผลิตก๊าซชีวภาพด้วย

โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของจุลินทรีย์ในถังหมักก๊าซชีวภาพขนาดเล็ก โดยการควบคุมค่า pH ให้อยู่ระหว่างค่า 6.5 – 7.5 ค่าอุณหภูมิให้อยู่ในช่วง 35 – 55 องศาเซลเซียส ควบคุมการกวนใบพัด วันละ 2 ครั้ง เวลา 6.00 น. และเวลา 18.00 น. ครั้งละ 10 นาที และใช้เศษอาหารเป็นวัตถุดิบในการผลิตก๊าซชีวภาพ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2

โครงการระบบรับชื้อขวดพลาสติกอัตโนมัติ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร
ผู้พัฒนา | ด.ญ.ธนัชชา แก้วมีสี และด.ญ.สุภัทรา ไร่รัตน์
อาจารย์ที่ปรึกษา | นางสาวรมิตา พิมพะไสย์  จาก โรงเรียนอนุกูลนารี

ปัญหาขยะขวดพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาในโรงเรียนอนุกูลนารีที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน เนื่องจากนักเรียน มักนำขยะขวดพลาสติกไปทิ้งรวมกับขยะชนิดอื่นๆ ทำให้ขวดเปรอะเปื้อน ยากต่อการคัดแยก โรงเรียนจึงได้จัดตั้งธนาคารขยะ ขึ้นมาเพื่อรับซื้อขวดพลาสติก ซึ่งเปิดทำการเป็นเวลา มีเจ้าหน้าที่ให้บริการ และนักเรียนจะต้องสะสมขวดให้ได้เป็นจำนวนมาก ถึงจะนำไปขายได้ ทำให้การขายไม่สะดวกและสิ้นเปลืองพื้นที่ จัดเก็บขวดในห้องเรียน นักเรียนจึงไม่ค่อยนำขวดพลาสติกไปขาย กลุ่มผู้พัฒนาจึงมีแนวคิดที่จะทำให้การขาย ขวดพลาสติกทำได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยจัดทำระบบรับซื้อขวดพลาสติก อัตโนมัติ ช่วยเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการขายขวดน้ำพลาสติก สามารถขายได้ตลอดเวลาไม่สิ้นเปลืองพื้นที่ ในการสะสม ขวดพลาสติก

รางวัลชมเชย

โครงการไม่แตะก็ติดสวิตช์อัจฉริยะ จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผู้พัฒนา | ด.ญ.ณัฐณิชา เซียห้วน และน.ส.ฤทัยชนก เกษตรเจริญ
นักศึกษาพี่เลี้ยงโครงงาน | นายชาคริต แอสบิลลี่
อาจารย์ที่ปรึกษา | นายเทียนชัย สังขพันธ์

พลังงานมีความสำคัญอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของมนุษย์ จึงทำให้เกิดปัญหาการใช้พลังงานไป อย่างสิ้นเปลือง ซึ่งหนึ่งสาเหตุของปัญหาการใช้พลังงานสิ้นเปลืองมาจากการเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้ หรือการเปิดไฟในขณะที่มีแสงสว่างเพียงพอ และในปัจจุบันยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุส่วนหนึ่งของการติดเชื้อ มาจากการสัมผัสสิ่งของสาธารณะ หรือสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน อย่างเช่น การเปิด-ปิดสวิตช์ การเปิด-ปิดก๊อกน้ำ เป็นต้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้จัดทำจึงมุ่งเน้นพัฒนาสวิตช์อัจฉริยะขึ้น

โครงการกล่องอัจฉริยะช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้ป่วยเมื่อเกิดอุบัติเหตุในห้องน้ำ
ผู้พัฒนา | ด.ช.จิรภัทร แก้วด้วง และด.ช.ธนาทรัพย์ ภู่ทิม
ครูที่ปรึกษาโครงงาน | นางสาว เกศทิพย์ จ้อยศิริ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา
อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ | ผศ.ดร.ดุสิต ธนเพทาย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน

จากการศึกษาทางคณะผู้จัดทำพบว่าผู้สูงอายุและผู้ป่วยในขณะที่เข้าห้องน้ำนั้น อาจเกิดอุบัติเหตุได้ เนื่องมาจากปัญหา ด้านสุขภาพเองของผู้สูงอายุ หรือปัญหาห้องน้ำที่ชำรุดต่างๆที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้สูงอายุและอาจถึงแก่ชีวิตได้ ทางคณะผู้จัดทำได้เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงทำสิ่งประดิษฐ์กล่องอัจฉริยะช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้ป่วย ขณะเกิดอุบัติเหตุ ในห้องน้ำเพื่อช่วยในการแจ้งเตือนให้กับผู้ดูแล ในการใช้ห้องน้ำเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น และลดความรุนแรงที่เกิดกับตัวผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 

รางวัลพิเศษจาก EGAT Special Award

โครงการระบบป้องกันไฟป่า (Watch Eagle Forest Fire Protection System) จากมหาวิทยาลัยบูรพา
ผู้พัฒนา | ด.ช.วรพล สุเมธโสภณ และด.ช.กฤษฎ์ เทพพันธ์
อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน | นายรุ่งขจร โลเกตุ โรงเรียนวัฒนานคร สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว

ระบบป้องกันไฟป่า Watch Eagle เป็นระบบที่มีส่วนประกอบการทำงาน 3 ส่วน คือ (1) ระบบเฝ้าติดตามและ ตรวจจับแบบ real time วัดอุณหภูมิและความชื้นและGPS หรือภาพถ่ายโดยใช้ UAV ระบบเซนเซอร์ตรวจจับความร้อนและควัน (2) ระบบสั่งการและแจ้งเตือนใช้บอร์ด KidBright ระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน NB-IoT ระบบเก็บข้อมูลผ่าน NETPIE  3.ระบบดับไฟจำลองปั้มน้ำและสปริงเกอร์ 

รางวัล Popular Vote

โครงการสุขาแห่งความสุข จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผู้พัฒนา | ด.ช.อริยะ ถาวรวงษ์ และด.ช.พรรษกร นักฟ้อน
ครูที่ปรึกษา | นางสาวระวิวรรณ ทิพย์พันธ์
อาจารย์ที่ปรึกษา | ผศ.ดร.ปรมินทร์ เณรานนท์ และผศ.ดร.ดุจดาว บูรณะพาณิชย์กิจ

จากปัญหาห้องน้ำสาธารณะโดยทั่วไปมักจะมีกลิ่นไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น และมีการเปิดหลอดไฟทิ้งไว้ตลอดเวลา ซึ่งทำให้เกิดการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า ส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ผู้จัดทำจึงมุ่งเน้นพัฒนาระบบอัตโนมัติ ในการเปิดไฟ กำจัดกลิ่น และเพิ่มสุนทรียภาพในการใช้ห้องน้ำโดยมีเพลงบรรเลงเมื่อมีการเข้าใช้ห้องน้ำ ทำให้ผู้ใช้ห้องน้ำสามารถเข้าใช้ห้องน้ำสาธารณะได้อย่างมีความสุข ระบบอัตโนมัติที่ใช้จะแก้ไขปัญหาหลัก ๆ ของการเข้าใช้ห้องน้ำสาธารณะ ได้แก่ การกำจัดกลิ่น การประหยัดพลังงานไฟฟ้า และการเพิ่มสุนทรียภาพในการเข้าใช้ห้องน้ำผ่านเสียงดนตรี