สถานภาพและความต้องการกำลังคนด้าน High Performance Computing (HPC) ในประเทศไทย

Facebook
Twitter

โดย ทีมวิเคราะห์ตลาดและเทคโนโลยี
เนคเทค สวทช.

การพัฒนาเทคโนโลยี High Performance Computing

ปัจจุบันโลกถูกขับเคลื่อนด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลปริมาณมหาศาลหรือที่เรียกกันว่า Big Data หากจะต้องทำความเข้าใจ คาดการณ์ วางแผน โดยใช้ข้อมูลที่มีเหล่านั้น องค์กร/หน่วยงานวิจัยทั่วโลกต่างใช้เทคโนโลยีการคำนวณขั้นสูงมาสนับสนุนการประมวลผล วิเคราะห์ และสร้างแบบจำลองจากข้อมูล เพื่อให้เกิดความแม่นยำสมจริง เพื่อทลายขีดจำกัดในการทำวิจัยและพัฒนา การวางแผนการผลิต และให้บริการ ซึ่งอุปกรณ์หลักที่ใช้ในการทำงานประเภทนี้ก็คือ เครื่อง Supercomputer หรือคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ผ่านเทคโนโลยีการประมวลผลสมรรถนะสูง (High Performance Computing: HPC)

เมื่อกล่าวถึงเทคโนโลยีการประมวลผลสมรรถนะสูง (HPC) เราอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ปัจจุบัน HPC ถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนงานในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตแบบเดิม เช่น การประมวลผลเพื่อใช้ผลิตยา เวชสำอาง อาหารทางเลือก อาหารสัตว์ ชีวภัณฑ์ที่ใช้ในภาคการเกษตร การคำนวณคาดการณ์สภาพอากาศ การจำลองภัยพิบัติ หรือคาดการณ์ระดับค่ามลพิษในอากาศ การถอดรหัสพันธุกรรมหรือจีโนมิกส์ (Genomics) เพื่อคาดการณ์การเกิดโรคในมนุษย์  การประมวลผลเพื่อยืนยันสายพันธุ์ของไวรัส Covid-19 เป็นต้น

นอกจากนั้น จากการที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นเทคโนโลยีกำลังได้รับความสนใจ และแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจะมาเปลี่ยนแปลง รวมถึงสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับโลก อย่างไรก็ตามกว่า AI จะได้มาซึ่งความชาญฉลาดนั้น จำเป็นต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ (Training) ด้วยข้อมูลมหาศาลพร้อมการประมวลผลขนาดใหญ่เสียก่อน ซึ่ง HPC คือ เครื่องมือสำคัญในการประมวลผล/ Training ระบบ AI เหล่านั้น การเติบโตของการประยุกต์ใช้ AI จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการพัฒนาความสามารถ / จำนวนของระบบประมวลผล เช่น HPC ตามไปด้วย โดยมีการประมาณการว่าตลาดของ HPC ทั่วโลกจะเติบโตจาก 36.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2022 เป็น 49.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2027 (CAGR of 6.7%) (Markets and markets, 2022)

จากแนวโน้มการเติบโตการใช้งานของ HPC ทำให้เกิดการลงทุนทางด้าน HPC ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยทั้งขนาดเล็กและใหญ่ คาดว่าปัจจุบันมีหน่วยงานที่ใช้ HPC อยู่ 30-40 หน่วยงาน โดย 27 แห่งมีการใช้และมีพนักงานที่ดูแลระบบอย่างชัดเจน ทั้งนี้ในภาพรวมอาจดูเหมือนประเทศไทยมีความพร้อมในการใช้งานด้าน HPC แต่กลับพบว่ามีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดังกล่าวได้ไม่เต็มศักยภาพหรือไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร เนื่องจากมีปัญหาในด้านการขาดแคลนบุคลากรที่มีความพร้อมด้าน HPC Technical Specialist ในขณะที่เกิดโจทย์ความท้าทายใหม่ ๆ ในการใช้งานขึ้นตลอดเวลา

เพื่อให้ทราบถึงสถานภาพบุคลากรด้าน HPC Technical Specialist ในปัจจุบันที่อยู่ในหน่วยงานที่มีทรัพยากรและให้บริการด้าน HPC รวมถึงแนวโน้มความต้องการในอีก 1-3 ปีข้างหน้า ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติจึงจัดทำการสำรวจ “ความต้องการกำลังคนด้าน HPC Technical Specialist ของประเทศไทย” ขึ้นในช่วงเดือนมกราคม 2567 (ผ่านระบบ online) โดยมีสรุปผลการสำรวจ และบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจ สามารถดาวโหลดได้ที่นี่

สถานภาพและความต้องการกำลังคนด้าน High Performance Computing (HPC) ในประเทศไทย

สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลโดย

  • สิรินทร อินทร์สวาท
  • ปณิตา ล่ำซำ

ทีมวิเคราะห์ตลาดและเทคโนโลยี
ฝ่ายพัฒนาเครือข่ายเชิงกลยุทธ์และประเมินผล
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ