จับสัญญาณเทคโนโลยี Wearable AI จะยกระดับคุณภาพชีวิตได้ดีแค่ไหน?

Facebook
Twitter

โดย ทีมวิเคราะห์ตลาดและเทคโนโลยี
เนคเทค สวทช.

Wearable AI Technology คืออะไรและมีประโยชน์กับชีวิตเราอย่างไร?

Wearable AI Technology or Devices เทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ที่สวมใส่บนร่างกายที่ใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ เป็นอุปกรณ์ที่สวมใส่บนร่างกายแล้วช่วยเก็บข้อมูล ติดตามการเคลื่อนไหวได้ด้วยการติดตั้งเซ็นเซอร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์เหล่านี้รวบรวมข้อมูลจากสภาพแวดล้อมจากการสวมใส่ และผ่านอัลกอริธึมการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning algorithms) ที่ฝังไว้ จึงให้ข้อมูลเชิงลึก ข้อเสนอแนะและคำแนะนำต่าง ๆ ที่แม่นยำแก่ผู้ใช้งาน โดยใช้เซ็นเซอร์ไบโอเมตริกซ์และเทคโนโลยีสวมใส่อื่น ๆ (biometric sensors and other wearable technologies) ซึ่งรวมถึงไมโครโฟนและเซ็นเซอร์หลากหลายประเภท (microphones and other sensors) [1]

เชื่อกันว่า Wearable AI เข้ามาเป็นตัวช่วยตั้งแต่สุขภาพ การแพทย์ ผู้สูงอายุ จนถึงวิทยาศาสตร์การกีฬา โดยแอปพลิเคชันมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานทั่วไป เช่น การติดตามสุขภาพ (health monitoring) ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ความเหนื่อยล้า ความเครียด การติดตามการออกกำลังกาย (fitness tracking) และติดตามการนอนหลับ (sleep tracker) รวมถึงสำหรับติดตามผู้สูงอายุ หรือทางด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์การกีฬา (sport science) โดยมีการเชื่อมต่อกับระบบนิเวศอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น เสื้ออัจฉริยะ นาฬิกาอัจฉริยะ แว่นตาอัจฉริยะ รองเท้าอัจฉริยะ โดยเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้จะเก็บข้อมูลและประมวลผลได้เร็วเนื่องจากมีไมโครชิปช่วยเพิ่มความสามารถในด้านต่างๆ ทำให้สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น [2]

เจาะกระแสแนวโน้มตลาดทั่วโลกและไทย

มูลค่าตลาด Wearable AI ทั่วโลก เติบโตแบบฉุดไม่อยู่

Grandview research[3] บริษัทวิจัยตลาด ระบุว่าตลาด Wearable AI ทั่วโลกมีมูลค่า 21.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7.7 แสนล้านบาท ในปี 2022 และคาดว่าจะขยายตัวที่อัตราการเติบโต (CAGR) 29.8% ตั้งแต่ปี 2023 ถึง 2030 ตลาดนี้กำลังเติบโตอย่างมากเนื่องจากการประยุกต์กับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และสมาร์ทโฟน 5G ฯลฯ โดยการเพิ่มขึ้นของการใช้ Smart Wearable ที่รองรับ AI นั้น เกิดมาจาก

(1) ความก้าวหน้าของ IoT
(2) การบูรณาการของ Wireless technology 
(3) ความนิยมการใช้ Smart watch ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มคนรุ่น Millennials และ Gen Z

จุดยืน Wearable Technology ไทยในตลาดโลก

แม้ประเทศไทย ยังไม่มีการสำรวจมูลค่าตลาด Wearable AI แต่พบว่า แนวโน้มตลาด Smart wearable ไทยเติบโตและตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย โดย Economic Intelligence Center ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB EIC ระบุว่าแนวโน้มตลาดที่ผ่านมา Smart wearable ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย โดยมียอดขายที่สูงขึ้นเฉลี่ยอย่างน้อย 23% ต่อปี[4] โดยเฉพาะกลุ่มอุปกรณ์ประเภทเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีการพัฒนาทั้งด้านประสิทธิภาพการใช้งาน ความแม่นยำ รูปลักษณ์ที่หลากหลาย โดย Smart wearable ที่รู้จักคุ้นเคยที่สุดคือ Smart watch ซึ่งจากการสำรวจ พบว่าคนไทยในปัจจุบันใส่ Smart Watch กันมากถึง 19% หรือเกือบ 1 ใน 5[5] ส่วนหนึ่งเพราะนอกจาก Apple Watch แล้วยังมีแบรนด์อื่น ๆ ที่เข้ามาทำตลาดในราคาถูก ๆ มากมาย อย่าง Xiaomi Mi Band ก็เป็นแบรนด์หนึ่งที่คนไทยนิยมไม่น้อย นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงเสื้อผ้าที่ใช้ใยพิเศษในการทอเพื่อวัดปฏิกิริยาทางไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อของผู้สวมใส่ หรือชุดชั้นในที่สามารถตรวจหามะเร็งเต้านมได้ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เฉพาะเจาะจงและหลากหลายมากขึ้น

นอกจากนั้น 6Wresearch บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านการตลาด ได้เผยแพร่รายงานเมื่อเดือนกรกฏาคม 2023[6] วิเคราะห์ว่าตลาด Wearable Technology ในประเทศไทยกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้บริโภคหันมาใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์อัจฉริยะ Wearable Technology ที่สามารถผสมผสานเข้ากับชีวิตประจำวัน อาทิเช่น Smart watches, Fitness trackers, Smart clothing ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเก็บข้อมูลสุขภาพและการออกกำลังกายที่สำคัญได้ ทั้งนี้ COVID-19 ก็เป็นอีกแรงส่งหนึ่งให้ตลาดนี้เติบโต ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งานและการเร่งการนำเทคโนโลยีมาใช้ ส่งผลให้การใช้ Wearable Technology ถูกเร่งนำมาใช้ เช่น ใช้ติดตามสุขภาพ การออกกำลังกาย โรคภัยไข้เจ็บ และติดต่อสื่อสารกันมากขึ้น ซึ่งการเติบโตของตลาดนี้มาจากปัจจัยขับเคลื่อน ได้แก่

  • กระแสการตระหนักเรื่องสุขภาพที่เพิ่มขึ้น: กระแสนี้แสดงให้เห็นได้ชัดจาก SCB EIC สำรวจว่ามูลค่าตลาดสุขภาพและเวลเนส (Health & Wellness) ของไทยมีขนาดใหญ่มากอยู่ที่ราว 1.5 ล้านล้านบาทในปี 2019 คิดเป็น 8% ของ GDP ไทย[7] อีกทั้งมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจาก 4 เมกะเทรนด์สุขภาพ ได้แก่ การก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์, พฤติกรรมการใส่ใจสุขภาพมากขึ้นของผู้บริโภค, อัตราการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มสูงขึ้น และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะสร้างโอกาสให้แก่ภาคธุรกิจในการเกาะกระแสที่กำลังเติบโต และ SCB EIC ได้สำรวจผู้บริโภคชาวไทย พบว่าผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแล รักษา และป้องกันสุขภาพมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ธุรกิจด้านนี้ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคค่อนข้างสูง[8] ดังนั้นจึงเป็นโอกาสทำให้คนไทยหันมาใช้ Wearable Technology เพื่อติดตามสุขภาพและการออกกำลังกายกันมากขึ้น
  • การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society):  ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยสถิติในปี 2022 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน [9] ประกอบกับในปี 2023 ค่าเฉลี่ยอายุคนไทยที่สูงถึง 40.1 ปี ถือว่าเป็นประชากรวัยกลางคนขึ้นไป เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่แค่ 30.4 ปี ถือว่าต่างกันสูงมาก[10] จึงส่งผลให้มีความต้องการอุปกรณ์ Wearable Technology สำหรับติดตามดูแลสุขภาพตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป และตัวช่วยเรื่องความปลอดภัยของผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น
  • ความต้องการไลฟ์สไตล์ที่สะดวกและมีการเชื่อมต่อ (Trend of connected lifestyles): ผู้บริโภคต้องการความสะดวกและการเชื่อมต่อของอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้ Wearable Technology กลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากขึ้น ซึ่งเสริมปัจจัย Connectivity นี้ด้วยสถิติพฤติกรรมของคนไทยมีมือถือที่สามารถเล่นอินเทอร์เน็ตถึง 95.3% ในปี 2023[11]  
  • การเข้าสู่ยุคดิจิทัล: ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยมีนโยบายภาครัฐให้การสนับสนุน Digitalization มีสัดส่วนคนไทยที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้สูงถึง 85.3% นั่นหมายความว่าแทบทุกคนในประเทศล้วนออนไลน์กันหมดแล้ว นอกจากนี้ การขยายตัวของตลาดสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักที่เชื่อมต่อกับ Wearable Technology ทำให้ตลาดนี้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดความต้องการด้านเทคโนโลยีส่วนบุคคล
  • เทคโนโลยีเข้าถึงง่ายขึ้น ฟังก์ชันหลากหลาย: การนำเซ็นเซอร์ขั้นสูง (Integration of advanced sensors) มาผสมผสานใน Wearable Technology ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและฟังก์ชั่นการใช้งาน กระตุ้นความสนใจได้มากขึ้น

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม

ติดตามเรื่องราวเจาะลึกของ เทคโนโลยี Wearable AI กันต่อที่...

บทความโดย

ดร.จิรพรรณ เชาวนพงษ์
ฝ่ายพัฒนาเครือข่ายเชิงกลยุทธ์และประเมินผล
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)