กลองนี้ยังใช้เป็นสัญญาณบอกเหตุส่งข่าวเวลามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นตีสั้นตียาวเหมือนสัญญาณนกหวีดหรือสัญญาณควัน การแข่งจะแข่งความดังและส่งสัญญาณได้ดีกว่า ที่ภาคอีสานเรียกว่าการเส็งกลอง ช่วงเข้าพรรษาช่วงน้ำเต็มคลองชาวบ้านก็จะมาเส็งกลองกัน จะนั่งเรื่อเส็งกัน เพราะวัดส่วนใหญ่ที่มีกลองนั้นจะอยู่ตามลุ่มน้ำต่างๆเช่นลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำชีลอง ลุ่มน้ำปะทาว บริเวณที่มีกลองเส็งจะอยู่ทางทิศใต้ของเมืองชัยภูมิ เช่นอำเภอเมืองด้านใต้ บ้านหนองบัวขาว ขี้เหล็กใหญ่ แถบกุดเชือก แหล่งน้ำท่วม เช่นจัตุรัสตามลุ่มน้ำชี ตามสาขาของลุ่มน้ำชี หนองบัวบาน ละหาน บ้านเขว้าจะมีแทบทุกวัด เช่นวัดเจริญผล วัดศาลาลอย วัดเก่าๆจะมีหมด ยกเว้นวัดใหม่ถ้าเจ้าอาวาสหรือชาวบ้านไม่สนใจก็จะหายไป

            จะมีการแข่งในช่วงเข้าพรรษาหลังจากทำนาเสร็จ จะเอาเรือใส่กลองมา เวลาตีจะใช้ขันน้ำบอกยก ก็จะเอาขันน้ำไว้กลาง เมื่อแข่งกันขันน้ำก็จะลอยไปฝ่ายที่ดังน้อยกว่า สมัยก่อนการแข่งนี้แทนที่จะเป็นกีฬาที่สนุกสนานกลับกลายเป็นการทะเลาะเบาะแว้งเนื่องจากการตัดสิน มันไม่มีกติกาแน่ชัด ไม่มีเครื่องวัดเสียง ผู้แพ้ก็คิดว่ากรรมการลำเอียง สมัยนี้จึงใช้เครื่องวัดความดังของเสียงเป็นเครื่องมือในการช่วยตัดสิน จึงไม่มีการทะเลาะเกิดขึ้น เพราะเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่าผลการตัดสินเป็นอย่างไร คนยุคใหม่นี้ส่วนใหญ่ที่จะมีการเส็งกลองก็จะเส็งกันในงานเทศกาลใหญ่ๆ เช่นที่ศาลเจ้าพ่อพระยาแล งานบุญเดือน ๖ นอกจากนั้นก็เป็นที่อำเภอจัตุรัสบ้าง ตามงานวัดใหญ่ๆ บ้านขี้เหล็กใหญ่ก็มีการจัดงานแข่งขันกันมาเรื่อยๆ

            กลองเส็งนี้ถือว่าเป็นของคู่บ้านคู่เมืองเนื่องจาก ในสมัยเจ้าพ่อพระยาแลอยู่บ้านโนนน้ำอ้อม ถือว่าบ้านนี้น้ำท่วมสูงในช่วงน้ำหลาก ในสมัยก่อนฝนจะตกชุกตลอด การไปมาหาสู่กันในสมัยก่อนก็จะไปทางเรือ ทางเดินคล่องตัวแต่ช้าอยู่นิด ทางบกก็คล่องตัวแต่เดินลำบากและยังมีสัตว์ป่าดุร้ายและโรคภัย เช่น ไข้มาลาเรีย ยุคหลังเส้นทางเรืออาจเปลี่ยนไปบ้าง สมัยเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปตีเวียงจันทน์ก็ผ่านชัยภูมิ ก็มีการใช้กลองเส็งในการบอกสัญญาณด้วย ไม้ที่ตีกลองส่วนใหญ่จะหุ้มด้วยตะกั่วหรือเหล็กเพื่อให้เกิดเสียงดังไปไกล เมื่อมีการตีบอกข่าว อีกหมู่บ้านได้ยินก็จะบอกต่อกันเรื่อยๆ ที่บ้านเขว้าจะมีกลองเส็งเยอะ เพราะฉะนั้นกลองในวัดก็จะมีอยู่สองอย่างคือ กลองเพลและกลองเส็งหรือกลองกิ่ง

            กลองเส็ง เป็นกลองสองหน้า ตัวกลองทำด้วยไม้ประดู่ หุ้มด้วยหนัง ดึงให้ตึงด้วยเชือกหนัง มีขนาดต่างกัน ความยาวตัวกลองประมาณ 85 เซนติเมตร ความกว้างของหน้ากลองประมาณ 50 เซนติเมตร ส่วนความกว้างด้านล่างประมาณ 20 เซนติเมตร ชุดหนึ่งจะมีกลอง 2 ลูก ตีด้วยแส้ที่ทำจากไม้เค็ง ยาวประมาณ 85 เซนติเมตร เสียงดังมาก การปรับเสียงจะปรับให้มีเสียงกังวาลมากที่สุด จะตีเป็นคู่ ในภาคอีสานตอนเหนือจะมีการแข่งขันเอาชนะกัน มีกรรมการเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด มักตีในงานบุญต่างๆ การบรรเลงนั้นไม่มีทำนอง แต่จะรัวเป็นยก

ประวัติ
            กลองเส็ง มีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล เรียกว่า กลองกิ่ง เพราะ ตั้งแต่อดีตชาวบ้านได้ไปตัดไม้มาทำกลองเพล กิ่งใหญ่ของต้นไม้ต้นนี้ ท่านได้ตัดมาทำกลองเส็ง จึงเรียกกลองชนิดนี้อีกชื่อหนึ่งว่า กลองกิ่ง ชนิดของไม้เป็นไม้ประดู่เมื่อตัดไม้มาเป็นท่อนแล้วจึงได้ถากเป็นรูปกลองแล้วเจาะข้างในให้กลวงเป็นรูปปลีกล้วย เสร็จแล้วใช้หนังควายเป็นหน้ากลอง สมัยโบราณใช้หนังบิดเป็นรูปเชือกนำไปร้อยหน้าหนังกลอง ทำให้ได้เสียงดัง สมัยนี้ใช้เอกแทนหนัง สมัยก่อน กลองกิ่งใช้ตีเป็นสัญญาณเวลาเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ และใช้ตีเป็นสัญญาณให้ชาวบ้านรู้ว่าเป็นวันพระ
ในปัจจุบันใช้กลองเส็งในเทศกาลต่างๆ โดยให้หลายๆหมู่บ้านมาแข่งกัน เป็นเกมกีฬาของจังหวัดชัยภูมิชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะงานประเพณีบุญเดือนหก ของเจ้าพ่อพญาแลจัดเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังมีการใช้ในงานประจำปี หรืองานเทศกาลต่างๆที่คณะกรรมการเห็นสมควรจัดให้มี ส่วนเรื่องของรางวัล จะเป็นเงินสด

การเส็งกลอง
            การเส็งกลอง คือ การตีกลองแข่งขัน วัดด้วยความแรง ( ดัง ) ของเสียง ในการวัดความดังของเสียง ภูมิปัญญาชาวบ้านดั้งเดิมใช้ภาชนะประเภทกระถางดินปากบานหรือกะละมังดินเผาใส่น้ำให้เต็มตั้งไว้ด้านหน้ากลองที่กำลังตีอยู่ หากน้ำในภาชนะของฝ่ายใดกระเพื่อมออกมามากกว่าถือว่าชนะ แต่ปัจจุบันใช้เครื่องวัดความดังของเสียงเป็นเครื่องวัด ซึ่งค่อนข้างจะเป็นมาตรฐานมากกว่าสมัยก่อน

วิธีเส็งกลอง
            เริ่มต้นด้วยการจับสลากว่าคณะใดจะต้องเป็นคู่แข่งกันเหมือนจัดทีมมวยหรือแข่งกีฬา
ประเภททีม คู่แข่งจะนำกลองมาตั้งในแถวเดียวกัน ( แถวหน้ากระดาน) ห่างกันประมาณ ๑.๕ เมตร คณะละ ๒ ลูก หันด้านที่เจาะรูออกมาด้านหน้า ผู้ที่ได้ตีก่อนจะตีคนเดียว ๒ ไม้ ตีบนกลอง ๒ ลูก กรรมการเป่านกหวีด เปิด - ปิด ให้ตี กรรมการจะวัดความแรงของเสียงบันทึกไว้ ต่อไปให้คู่แข่งตีจับเวลาเช่นเดียวกัน ต่อจากนั้น คณะคู่แข่ง ๒ คู่จะเรียงกันและตีของแต่ละฝ่ายตามสัญญาณ โดยตีไม่พร้อมกันเหมือนตีคนเดียวตอนนี้ไม่ได้วัดเสียงแต่วัดความสามัคคีที่คณะแสดงประกอบเท่านั้น
            ขั้นตอนต่อไปจะมีการสับเปลี่ยนที่ตั้งกลองของทั้งสองฝ่าย เริ่มตีจับเวลาเช่นเดียวกัน นำผลทั้ง ๒ ครั้งมารวมกัน ฝ่ายที่ได้ความดังมากกว่าจะชนะ การตีเป็นทีมส่งท้ายอีกครั้งจะประกาศผล
            เมื่อได้ผู้ชนะในรอบแรก ก็จัดแบ่งในรอบ ๒ ต่อไปจนได้ผู้ชนะเลิศ รองชนะเลิศ ตามลำดับ

คณะกรรมการ
            เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการเส็งกลองนั้น ในการจัดตั้งคณะกรรมการจะใช้คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นกรรมการต้องเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมซึ่งจะใช้หลักเกณฑ์การปฏิบัติ จากมติของคณะกรรมการโดยส่วนรวมในการตัดสิน ซึ่งในเรื่องนี้ยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัว ในการแข่งขันแต่ละงานอาจปรับเปลี่ยนได้

ความสัมพันธ์ระหว่างกลองเส็งกับชาวบ้าน
            กลองเส็งกับวิถีชีวิตชาวอีสานมีความผูกพันธ์กันมาก และมีมานานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ซึ่งชาวอีสานจะมีความเชื่อเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของกลองเส็ง ความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือธรรมชาติและผีสางเทวดา เชื่อโชคลางและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนด้านความสัมพันธ์กับสังคม ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกลองเส็งส่วนใหญ่จะมีมนุษยสัมพันธ์ดี มีน้ำใจ รู้จักช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสังคมอื่นๆ หากเป็นผู้ตีกลอง จะเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ นิสัยร่าเริง รู้จักให้อภัยบุคคลอื่น สำหรับช่างทำกลอง เป็นผู้ที่มีภูมิปัญญา ใช้ความสามารถและเทคนิคต่างๆสร้างสรรค์ประดิษฐ์ตกแต่งวัสดุ ทำให้เกิดเสียงเพื่อเป็นสัญญาณต่างๆ โดยเฉพาะเพื่อให้สังคมโลกได้รู้ว่า นี่คือ สัญลักษณ์อันเป็นมรดกของคนอีสานโดยแท้จริง

แหล่งข้อมูล : นายสุรวิทย์ ศรีพล , นายสุทธิ เหล่าฤทธิ์ , นายวิศิษฐ์ ตั้งใจ , นางวิไล วรรณบุษปวิช ,
นางฉวี อิทธิกุล , นายวีระพล โชติธรวิสุทธิ์ , พระอาจารย์ประมวล และ นางละมัย กำลังฤทธิ์




-------------------------------------------------------------------------
หน้าหลัก
| กลองเส็งสัญญาณรวมพลัง | ภูมิหลัง | การเส็งกลอง |
ขั้นตอนการทำกลองเส็ง | กลองเส็งกับการปรับเปลี่ยนทางสังคม |
กลองเส็งกับภูมิปัญญาชาวบ้าน | ความเชื่อเกี่ยวกับกลอง |
การเก็บรักษากลองเส็ง
| ประเพณีการเส็งกลอง | นิทานที่เกี่ยวข้อง |
โฉลกกลอง
| การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม | นิยามศัพท์เฉพาะ | แหล่งข้อมูล |
-------------------------------------------------------------------------