กลองเส็ง เป็นสัญญาณแห่งความสามัคคีจึงมีวิธีการทำที่ละเอียดอ่อนประณีตบรรจง ผู้ทำจะใส่ความรู้สึกจิตวิญญาณเข้าไปในตัวกลอง ในทุกขั้นตอนที่ทำนับตั้งแต่การเข้าป่าเพื่อเลือกไม้ จะต้องเลือกวันเดือนปี ที่เจ้าป่าเจ้าเขาอยู่ เพื่อขออนุญาตตัดไม้ ซึ่งัวนที่เจ้าป่าเจ้าเขาไม่อยู่ก็คือวันพระนั่นเอง และเมื่อเลือได้ต้นไม้ที่จะตัดแล้ว ก็จะต้องนางไม้ให้ช่วยส่งเสียงให้กลองดัง เมื่อทำเสร็จแล้ว การติดต่อกับรุกขเทวดาก็ต้องกระทำไปพร้อมๆกันกับการขอเจ้าป่าเจ้าเขา เชื่อกันว่าเมื่อทำเช่นนั้นแล้ว กลองจะตีเสียงดัง ทำง่าย ไม่มีอุปสรรคและได้รับชัยชนะในการแข่งขัน ตลอดทั้งเกิดความสมัครสมานสามัคคีของทุกผู้ทกคนที่ได้ยินเสียงกลองเส็ง

ส่วนประกอบของกลองเส็ง
      ในการทำกลองเส็ง ช่างทำกลองจะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ในกระบวนการต่างๆ เป็นอย่างดี อันได้แก่รูปแบบของกลอง เทคนิคในการทำกลอง ตลอดจนความเชื่อเรื่องโชคลางต่างๆ ที่มีส่วนสัมพันธ์กับกลองเส็ง ดังนั้นจึงต้องอาศัยข้อมูลต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อเตรียมที่จะทำกลองให้สมบูรณ์
      ๑. ตัวกลอง มีรูปร่างไม่เหมือนกลองชนิดอื่น คือปากกว้าง ก้นแคบทำจากไม้ประดู่ ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง แต่ถ้าไม่มีไม้ประดู่ให้ใช้ไม้พยุงแทนก็ได้ การเลือกไม้ให้เลือกต้นที่มีขนาดพอเหมาะ คือมีขนาดวัดโดยรอบหนึ่งคนโอบ ประมาณ ๑๐๐-๑๕๐ เซนติเมตร ต้นไม้จะต้องไม่เป็นโพรง หรือมีแมลงเจาะจนเป็นรู ขั้นตอนการทำกลอง เมื่อเลือกไม้ได้ถูกต้องตามความต้องการแล้ว จะต้องจัดทำขันธ์ห้า ประกอบด้วย ดอกไม้สีขาว ๕ คู่ เทียน ๕ คู่ วางใส่ถาดอย่างเหมาะสมเพื่อบูชาเทวดาเจ้า-ป่า นางไม้ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่อยู่ ณ ป่าแห่งนั้น ได้รับรู้ว่าจะมีการตัดไม้ไปทำกลองเส็ง ขออย่าให้มีอุปสรรคใดๆ เมื่อนำไปแข่งขัน แต่จะได้รับชัยชนะตลอดไปดังคำพูดที่เป็นภาษาของชาวบ้านว่า "โอ้น้องนางไม้เอ้ย ผู้ข่าจักขอไม้งาม ๆ ไปเฮ็ดกลองเส็ง แล้วผู้ข่าสิพาไปประชันขันแข่ง ขออย่าให้ตื่นได้ท่วงให้มั่นๆ เหนียวๆ สิบบ้านซาห้าบ้านลือพุ้นเด้อ สาธุ"

       จากนั้นชาวบ้านก็จะใช้เลื่อยใหญ่ตัดต้นไม้และเลือกตัดเป็นท่อนยาวประมาณ ๙0 เซนติเมตร นำท่อนไม้ที่ตัดได้นำมาแล้วใช้เชือกเส้นเล็ก ดินสอ ตะปู หาจุดศูนย์กลางและลากวง-กลมขนาดตามต้องการทั้งหน้ากลองและก้นกลอง หลังจากนั้นจึงใช้เครื่องมือเหล็ก เช่น ขวาน มีด ถากเปลือกไม้ให้เป็น ๘ เหลี่ยมเท่าๆกัน และถากให้เป็น ๑๖ เหลี่ยมแล้วถากลบเหลี่ยมให้กลมทั้งหมด อุปกรณ์ที่ใช้ในการขุดเอาเนื้อไม้ออก ทำให้กลวง ได้แก่ สิ่ว สว่าน เสียมคมๆ หรือเหล็กแหลมเผาไฟให้แดง แล้วทิ่มแทงให้เกิดการทะลุถ้าหากเจาะรูจะใช้ได้สะดวก และง่ายยิ่งขึ้น ในการเจาะภายในตัวกลองจะเจาะไม่ให้ทะลุ ถ้าหากเจาะทะลุจะใช้ส่วนอื่น (น้ำมันยาง) อุดไว้ ขนาดของหน้ากลองเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ก้นกลองจะแคบลง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๐-๓๐ เซนติเมตร จะเป็นเหล็กปิดอยู่ และส่วนรอบของตัวกลองในช่วงล่างนี้จะมีเหล็กเป็นเส้นพันรอบตัวกลองอยู่ เพื่อใช้เป็นตัวยึดเวลาขึ้นหน้ากลอง ความสูงประมาณ ๘๐-๙๐ เซนติเมตร หนาประมาณ ๕-๘ เซนติเมตรจากนั้น ก็จะเจาะรูระบายอากาศให้น้ำกลอง เรียกว่ารูแพ กลอง ๑ ลูกจะมี ๑ รู ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร วัดจากหน้ากลองประมาณ ๒ ฝ่ามือ (๑๕ เซนติเมตร) ในเรื่องสัดส่วนและขนาดนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมความต้องการของบุคลากรแต่ละหมู่บ้าน หรือขึ้นอยู่กับการเลือกต้นไม้ แต่ประการที่สำคัญที่สุดในการขุดแต่งตัวกลองจะต้องให้ช่างที่มีความชำนาญ เพราะจะเป็นวิธีเลือกหาเสียงของกลองได้อีกวิธีหนึ่ง

      ๒. หนังกลอง เป็นวัสดุที่สำคัญใช้ทำหน้ากลอง ในการเลือกหาหนัง ควรเป็นหนังควาย อาจจะเป็นหนังควายสีดำ หรือควายสีเผือกก็ได้ ลักษณะที่ดีคือ มีขนยาว รูขุมขนมีระยะห่างกันพอสมควร ใช้หนังควายตัวเมียที่เคยตกลูกมาแล้ว ๓-๔ ตัว หากเป็นตัวผู้ ควรอายุระหว่าง ๓-๕ ปี จะสังเกตจากความยาวของใบหูซึ่งจะยาวเท่ากัน ก็ถือว่าเหมาะสม ราคากิโลกรัมละ ๕๐ บาท (ตกเป็นแผ่นใหญ่ๆก็ประมาณ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ บาท)
เมื่อได้หนังแล้วกางออกให้เป็นแผ่น หรือกางแผ่ตึงกับกรอบไม้ที่ตีเป็นรูป ๔ เหลี่ยม (โฮง-ไม้ ) ผึ่งแดดให้แห้ง ใช้เวลา ประมาณ ๓-๕ วัน แล้วนำไปแช่น้ำ ๑ คืน ผึ่งแดดอีก ๑ วัน บริเวณที่จะตัดเป็นหน้ากลอง ควรเลือกแผ่นหนังบริเวณสันหลังหรือส่วนสะโพก และส่วนโคนขาหน้า แต่ถ้าควายมีขนมาก ต้องใช้ติวไม้ไผ่คมๆ ขูดออก คว่ำตัวกลองที่แผ่นหนัง แล้วขีดเส้น รอบวงหน้ากลอง โดยใช้สิ่วเจาะรู เป็นระยะเท่าๆ กัน โดยรอบ แผ่นหนังก้นกลอง ประมาณ ๒๘-๓๐ รู เมื่อร้อยเชือกยึดกับหนังเสร็จแล้ว ช่างกลองจะนำลงไปแช่ในน้ำให้อ่อนตัว ประมาณ วัน จึงนำมาแต่งส่วนที่เป็นขอบกลอง
      ๓. หนังร้อย หนังชักหรือหนังริว จะใช้หนังควายส่วนใดก็ได้ โดยใช้มีดปลายแหลมกรีดออกเป็นเส้นๆ กว้างประมาณ ๒-๓ เซนติเมตร ยาวไม่กำหนด การต่อหนังจะต้องต่อกันตอนที่หนังยังไม่แห้ง บิดพันกัน แล้วนำไปตากแดด ๓-๕ วัน ใช้สำหรับร้อยหูกลอง เพื่อโยงหนังหน้ากลองแล้วดึงมาร้อยกับเหล็กส่วนล่างให้ตึง แต่ปัจจุบันเนื่องจากหนังนั้นหายากและมีราคาแพง จึงใช้เป็นเชือกไนล่อนเบอร์ ๑๒ แทน ราคาประมาณกิโลกรัมละ ๘๐ บาท


เครื่องมือที่ใช้ในการขึ้นหน้ากลอง
      ๑. ไม้ขาไซ เป็นวัสดุที่ทำจากไม้ไผ่ ผ่าเป็นซี่ ๆ มีความยาวเท่ากับขนาดกลองกว้าง ๑-๑.๕ เซนติเมตร เหลาปลายอีกด้านหนึ่งให้แหลม ใช้สำหรับสอดแผ่นหนังหน้ากลอง ในการขึ้นหนังหน้ากลอง ก่อนที่จะใช้หนังร้อยตึงหน้ากลอง
      ๒. ไม้ขี้พร้า หรือ ลิ่ม ทำมาจากไม้ไผ่ ผ่าเป็นซีก ความยาวประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ปลายด้านหนึ่ง จะตัดให้เหลือตรงกับข้อไม้ไผ่พอดี จะมีความแข็งเป็นพิเศษ เหลาให้มีลักษณะแบนเล็กน้อย และเรียวไปอีกด้านหนึ่ง ประโยชน์ในการขันชะเนาะหนังร้อย เพื่อตึงหน้ากลองทั้ง ๒ ด้าน
      ๓. ไม้เสิ้ม ทำจากไม้ประดู่หรือไม้เนื้อแข็งชนิดอื่นก็ได้ ยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายค้อนตี ปลายด้านหนึ่งเรียวใช้สำหรับงัดหนังร้อย เพื่อตึงหน้ากลอง ช่างกลองจะนิยมทำเป็นคู่ๆ
      ๔. ไม้มือลิง ทำจากไม้เนื้อแข็ง ๑ คู่ ยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร มีลักษณะปลายเรียวทำเป็นขอเกี่ยวด้านหนึ่งใช้เกี่ยวหนังก่อนที่จะใช้ไม้เสิ้มสอดเข้าไปเพื่อช่วยในการตึงหน้ากลองให้ตึง
      ๕.ไม้กางัด ทำจากต้นไม้เนื้อแข็ง ยาวประมาณ ๖-๘ เมตร ด้านโคนเจาะรูทะลุ ๔ รู รูปสี่เหลี่ยม กว้างประมาณ ๖ เซนติเมตร ยาว ๘ เซนติเมตร แล้วใช้ไม้เนื้อแข็ง ยาว ๒ เมตร สอดเข้าไปเป็นเครื่องหมาย บวก ปลายอีกด้านหนึ่ง เป็นรูปตัวยู สำหรับงัดและบิดให้ตึง

วิธีขึ้นหนังหน้ากลอง
ช่างทำกลองจะต้องระมัดระวังมากในขั้นนี้ เพราะถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญ การหาวิธีประกอบตัวกลองให้ดีที่สุด อาจแบ่งได้ ๓ ระยะ ดังนี้
       ๑. ระยะก่อนขึ้นหนังหน้ากลอง จะนำแผ่นหนังที่แต่งขอบกลองเรียบร้อยและขาวสะอาด เวลาตีจะเสียงสูง เสียงหอง หรือเสียงใส อุปกรณ์ที่ใช้ขูดจะใช้ติวไม้ไผ่ ใช้มีด หรือใช้กระดาษทรายถูก็ได้
       ๒. ระยะขึ้นหนังหน้ากลอง ทำได้โดย นำหนังกลองวางคว่ำที่ปากกลอง ใช้ไม้ขาไซสอดเข้าที่รูหูบักโก ซึ่งเป็นรูที่เจาะรอบๆแผ่นหนังกลองในแนวดิ่งรอบตัวกลองจนครบทุกรู ใช้หนังร้อยสอดไปตามแนวไม้ขาไซ เพื่อคล้องที่หูกลองโยงจากหน้ากลองไปยังเหล็กที่อยู่ส่วนล่างของกลองขึ้นลงในลักษณะฟันปลา แล้วดึงให้ตึง จากนั้นถอดไม้ขาไซออก การดึงหนังชักให้ตึงนั้นต้องใช้ไม้กางัด ใช้ด้านที่เป็นปากกาสอดหนังชัก และออกแรงหมุนบิดเส้นหนังให้ตึงตลอดตัวกลอง หากหน้ากลองยังไม่ตึงจะใช้ไม้ขี้พร้าที่เป็นลิ่มสอดระหว่างเส้นหนังชัก แล้วบิดหมุน ซึ่งคล้ายกับวิธีการขันชะเนาะ หนังหน้ากลองก็จะตึง
       ๓. ระยะหลังจากขึ้นหนังหน้ากลอง จะเป็นการแต่งเสียงกลองให้ดังก้องกังวาลที่สุด แต่ก็ต้องระวังหนังกลองฉีกขาดด้วย จะใช้ไม้เสิ้มและไม้มือลิงเป็นอุปกรณ์ช่วยงัดเส้นหนังร้อยเพื่อหมุนไม้ขี้พร้าบิดหนังร้อย ทำให้หน้ากลองตึงอีกครั้ง

เครื่องมือที่ใช้ในการทำกลองเส็ง
       การทำกลองเส็งจะต้องอาศัยเครื่องมือที่สำคัญต่างๆ เพื่อช่วยในการทำและตกแต่งให้ถูกต้องตามลักษณะและเพื่อความสวยงาม ซึ่งต้องอาศัยสิ่งต่อไปนี้
       ๑. เหล็กหลาว ทำด้วยเหล็ก ปลายเรียวแหลม สำหรับเปิดรูแผ่นหนังหน้ากลอง ซึ่งเรานิยมเรียกว่า รูหูบักโก เพื่อจะได้สอดหนังหรือเชือกร้อยได้สะดวก
       ๒. คีมปากนกเค้า ใช้สำหรับคีบหนังริวดึงให้ตึง
       ๓. เหล็กแหลม รมไฟให้แดง แล้วใช้เจาะตัวกลอง เพื่อให้ง่ายในการขุดเจาะตัวกลอง
       ๔. เสียม หรือเหล็กที่ตีเป็นลักษณะแบนๆ คล้ายเสียมสำหรับขุดเจาะตัวกลอง ใช้ควบคู่กับเหล็กแหลม
       ๕. สิ่ว ใช้ขุดเจาะตัวกลอง และเจาะรูแผ่นหนังหน้ากลอง
       ๖. ขวาน ใช้ถากตกแต่งตัวกลองให้เข้ารูปร่าง
       ๗. เลื่อยใหญ่ ใช้ตัดต้นไม้ เพื่อนำมาทำตัวกลอง
       ๘. กบไสไม้ มีด มีดปลายแหลม ใช้เก็บรายละเอียดต่างๆในการทำกลอง

อุปกรณ์ในการตีกลอง
       ๑. ไม้ตีกลอง ทำจากไม้เค็ง ซึ่งจะเหนียวเป็นพิเศษ ไม่หักง่าย จะเหลาให้กลบขนาดปลายนิ้วก้อย ยาวประมาณ ๑ ศอก ที่ด้ามถือจะพันด้วยผ้าประมาณ ๒-๓ รอบ เพื่อไม่ให้เจ็บมือ หลุดมือ และจะทำให้กระชับมือยิ่งขึ้น ในขณะตีแข่งขัน ช่างจะทำไว้หลายๆคู่ แต่ระหว่างแข่งขันนั้นจะใช้เพียงคนละ ๑ คู่เท่านั้น ไม้จะมีทั้งแบบเป็นไม้และเหล็ก ส่วนหัวไม้ก็จะมี่ทั้งเป็นยางและตะกั่ว ราคาคู่ละประมาณ ๑๐๐ บาท
       ๒. ขาหยั่ง เรียกอีกอย่างว่า ขาตั้ง หรือไม้ขาดุ่ง ทำจากไม้เนื้อแข็ง เส้นผ่าศูนย์กลาง ๖ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๒ เซนติเมตร ใช้ไม้ ๑๒ ท่อน ตีประกอบลักษณะไขว้กากบาท จัดเป็นที่สำหรับผูกกลอง เพื่อตีแข่งขันสำหรับคู่แข่งทั้งสองทีม สำหรับขาหยั่งจะเป็นหน้าที่ของกรรมการจัดเตรียมไว้ในหารแข่งขัน

แหล่งข้อมูล : พระอาจารย์ประมวล , นายสุรวิทย์ ศรีพล , นายสุทธิ เหล่าฤทธิ๋ ,
นายวิศิษฐ์ ตั้งใจ , นางวิไล วรรณบุษปวิช , นางฉวี อิทธิกุล     และ นางละมัย กำลังฤทธิ์




-------------------------------------------------------------------------
หน้าหลัก
| กลองเส็งสัญญาณรวมพลัง | ภูมิหลัง | การเส็งกลอง |
ขั้นตอนการทำกลองเส็ง | กลองเส็งกับการปรับเปลี่ยนทางสังคม |
กลองเส็งกับภูมิปัญญาชาวบ้าน | ความเชื่อเกี่ยวกับกลอง |
การเก็บรักษากลองเส็ง
| ประเพณีการเส็งกลอง | นิทานที่เกี่ยวข้อง |
โฉลกกลอง
| การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม | นิยามศัพท์เฉพาะ | แหล่งข้อมูล |
-------------------------------------------------------------------------