ระบบบริหารอะไหล่กังหันก๊าซ(Gas Turbine Spare Parts Management System)

Facebook
Twitter

โดย ทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบวัดและควบคุมระยะไกล
กลุ่มวิจัยการควบคุมและอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง

ระบบบริหารอะไหล่กังหันก๊าซ เป็นความร่วมมือของเนคเทคและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ต้องการบริหารจัดการชิ้นส่วนสำรองและระบบคลังของโรงไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ ให้มีปริมาณอะไหล่ที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้งาน

การวางแผน จัดซ่อม จัดหา บริหารงบประมาณ ฯลฯ ของอะไหล่กังหันก๊าซ เป็นภารกิจรับผิดชอบดูแลของฝ่ายโรงงานและอะไหล่ (อรอ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เนคเทคดูแลระบบบริหารอะไหล่กังหันก๊าซให้กับโรงไฟฟ้าอะไหล่กังหันก๊าซของ กฟผ. มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 โดยเริ่มต้นพัฒนาในปี 2554 ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2555 ให้บริการด้านการบำรุงรักษาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในปีแรกสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ 4.9 ล้านบาท ปี 2563 สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ 525 ล้านบาท และในปี 2565 ระบบดังกล่าว สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ ติดอันดับมูลค่าสูงสุด 899 ล้านบาท จากการประเมินของสวทช.

ระบบบริหารอะไหล่กังหันก๊าซเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อบริหารจัดการอะไหล่กังหันก๊าซให้กับโรงไฟฟ้า ซึ่งอะไหล่มีราคาแพงและมีจำนวนมาก ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทำให้ต้องใช้ระยะเวลานาน

จากเดิมผู้ปฏิบัติงานใช้โปรแกรม Excel ในการเก็บข้อมูล เพื่อคำนวณ วางแผนการใช้ ซ่อม ซื้ออะไหล่ เมื่อพบว่ามีข้อจำกัดในเรื่องของข้อมูลที่มีจำนวนมาก ข้อมูลที่ไม่อัปเดต เนื่องจากมีผู้ใช้งานหลายคน ประกอบกับ การคำนวณแผนการใช้งานมีความซับซ้อนยุ่งยาก ทำให้ ใช้เวลาในการคำนวณมากซึ่งหากเกิดความผิดพลาดในการวางแผนงาน อาจเป็นผลทำให้เกิดการซ่อม หรือสั่งซื้ออะไหล่อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันใช้ตามรอบของการบำรุงรักษาเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทำให้มีราคาแพงมากกว่าปกติ หรือแม้กระทั่งดำเนินการโดยนำอะไหล่ที่หมดอายุเข้าไปทดแทน อาจนำมาซึ่งความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินได้

สนับสนุนการทำงานของผู้ปฏิบัติงานด้วย Web Base Application

เพื่อให้การบริหารอะไหล่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และมีอะไหล่ในคลังที่เหมาะสม ทีมวิจัยจึงพัฒนาให้ระบบบริหารอะไหล่กังหันก๊าซ เป็น Web Base โดยใช้เทคโนโลยีโอเพ่นซอร์ส เพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้บฏิบัติงานได้ดียิ่งขึ้น และออกแบบให้เป็นเวิร์กโฟลว์ที่มีความสามารถในการส่งต่อเอกสารต่าง ๆ ในระบบ เพื่อขออนุมัติการทำงานในแต่ละขั้นตอน ทำให้ข้อมูลมีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น ประกอบด้วย 4  ระบบ

Workflow การวางแผนการใช้อะไหล่

1. ระบบลงทะเบียนอะไหล่ เป็นระบบที่ใช้เก็บข้อมูลอะไหล่ สเปกอะไหล่ เพื่อใช้ในการวางแผน การบำรุงรักษา รวมไปถึงอะไหล่ที่ต้องเปลี่ยน เป็นต้น

2. ระบบวางแผนงาน เป็นระบบที่ใช้ในการบริหาร จัดการ และคำนวณแผนการใช้ ซ่อม ซื้อ อะไหล่  รวมไปถึงการติดตามแผน และการนำอะไหล่เข้า-ออก ไปใช้จริง

3. ระบบบริหารสัญญา เป็นระบบที่ใช้สำหรับติดตามกระบวนการทำสัญญา

4. ระบบบริหารงานคลัง เป็นขั้นตอนการบริหารจัดการลำดับสุดท้ายในการวางแผนการรับส่ง อะไหล่ไปยังจุดหมายได้ทันตามและทำการอัปเดตข้อมูลอะไหล่เมื่อมีการทำงานตามกิจกรรมต่างๆ ของคลัง เช่น การซื้อ การซ่อม ผสมอะไหล่ เป็นต้น

ตัวอย่างการบริหารจัดการอะไหล่

Workflow การวางแผนการซ่อมและซื้ออะไหล่ 

ตัวอย่างการวางแผนใช้ซ่อมซื้ออะไหล่

ประโยชน์ที่ได้จากการใช้งานระบบ

  1. ลดภาระงานในการวางแผนเพื่อช่วยจัดการอะไหล่ไปได้ร้อยละ 90 จากเดิมใช้เวลา 3-5 วัน ลดเหลือครึ่งวัน
  2. ลดความเสียหายที่เกิดจากการวางแผนผิด นำอะไหล่หมดอายุไปใช้งาน เกิดความเสียหายกับเครื่องจักรไปได้ ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20
  3. การใช้ระบบ Workflow  สะดวกต่อการติดตามงาน  สามารถติดตามสถานะของอะไหล่ และ สถานะของกิจกรรมที่มีการดำเนินงานได้ อย่างถูกต้อง แม่นยำ
  4. ข้อมูลในระบบมีความแม่นยำ ค้นหาง่าย และสามารถระบุสถานะของอะไหล่ได้ชัดเจน 
  5. มีรายงานสรุปข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งโปรแกรมได้ทำการวิเคราะห์เชื่อมโยงแต่ละโมดูล 
  6. มีการ Backup ข้อมูล ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลไม่สูญหาย กรณีเครื่องเซิร์ฟเวอร์มีปัญหาของระบบ

การบริหารอะไหล่กังหันก๊าซให้กับการไฟฟ้าแห่งประเทศไทยเป็นการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน เพิ่มประสิทธิผลต่อการปฏิบัติงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ส่งมอบงานได้รวดเร็วมีความถูกต้อง และยังเพิ่มคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้ดีขึ้น และที่สำคัญระบบฯ ยังเป็นผลผลิตเชิงคุณภาพที่สนับสนุนการนำผลงานวิจัยและพัฒนา ถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง

*อ้างอิง : ข้อมูลภาพและเนื้อหาบางส่วนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย