SAIWAT (Saving And Intelligent softWare for Automatic measurement Technology) เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วิชันกับงานตรวจสอบขนาดอาหารสัตว์ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์น้ำ ช่วยให้กระบวนการผลิตได้ขนาดอาหารเม็ดที่มีขนาดตามมาตรฐาน โดยในระหว่างการผลิตหากพบว่าขนาดอาหารต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งอาจเกิดจากแม่พิมพ์อุดตันหรือสึกกร่อนหรือพบว่าใบมีดด้าน การดำเนินการแก้ไขที่กระบวนการผลิตจะรวดเร็วมากขึ้น “สายวัด” ได้แทนที่แรงงานคนในการตรวจสุ่มวัดทีละเม็ดด้วยวงเวียนเวอร์เนีย ทำให้ช่วยลดเวลาการทำงานและได้ผลของการตรวจวัดขนาดที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
คุณสมบัติ
- วัดขนาดอาหารที่มีขนาดเล็กมาก ซึ่งยากในการใช้มือจับวัด
- วัดได้พร้อมกันตั้งแต่ 100-1,000 เม็ด โดยใช้เวลาไม่นาน ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของอาหารเม็ด (ประมาณ 1-3 นาที)
- ทำงานต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานๆ ได้
- วัดความสูงและเส้นผ่านศูนย์กลางของอาหารเม็ดอย่างอัตโนมัติ
- สรุปรายงานการตรวจสอบคุณภาพ ออกเป็นไฟล์ pdf , excel หรือ word ได้
- สามารถเพิ่มสเปคอาหารได้ไม่จำกัด
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
สายวัดเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งที่ช่วยในการส่งออกสัตว์น้ำ และอาหารสัตว์น้ำ
- การผลิตอาหารส่งออกได้มาตรฐาน ช่วยลดโอกาสการเกิดความผิดพลาดในกระบวนการผลิต
- การส่งออกสัตว์น้ำ สัตว์น้ำที่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารที่ได้มาตรฐานจะมีขนาดการเติบโตไล่เลี่ยกัน และไม่สิ้นเปลืองอาหาร จึงถือได้ว่าขนาดอาหารเม็ดมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ และมีผลต่อการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำ
ทรัพย์สินทางปัญญา
- “อุปกรณ์และวิธีการวัดขนาดวัตถุเพื่อการควบคุมคุณภาพการผลิตอาหารสัตว์โดยใช้เทคโนโลยีประมวลผลภาพ (Apparatus and Method for Size Inspection in Feed Manufacture by Image Processing)” 10 มิถุนายน 2553 ยื่นคำขอสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 1001000855
- “วิธีการจำแนกวัตถุวงกลมและวัตถุสี่เหลี่ยมโดยใช้เทคโนโลยีประมวลผลภาพ (Method for Discriminating between Irregular Circle and Rectangle in Noisy Image)” 25 มิถุนายน 2553 ยื่นคำขอสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 1001006933
- “วิธีการหาตำแหน่งแกนตั้งและแกนนอนของวัตถุรูปร่างสี่เหลี่ยมอัตโนมัติ (Method for Automatic Orientation Detection of Rectangular Shape)” 28 กรกฎาคม 2554 ยื่นคำขอสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 1101001314
- “วิธีการจำแนกวัตถุวงกลมและวัตถุสี่เหลี่ยมอัตโนมัติด้วยการแปลงเรดอน” 29 พฤศจิกายน 2555 ยื่นคำขอสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 12010062074
*เงื่อนไขและข้อจำกัดของโปรแกรม
- ใช้กับอาหารเม็ดที่มีลักษณะปกติ ไม่สามารถนำมาวัดขนาดอาหารเม็ดที่บิดเบี้ยวและหัก
- อาหารเม็ดไม่ได้ถูกนำมาวัดขนาดได้ทุกเม็ด อันเนื่องมาจากประสบปัญหาและอุปสรรคดังนี้
- ในกรณีเม็ดติดกัน ซอฟต์แวร์จะตัดเม็ดเหล่านั้นทิ้ง ไม่นำมาคำนวณหาขนาด เนื่องจากยังไม่สามารถใช้เทคนิคในการแยกเม็ดติดกันออกเป็นเม็ดเดียวได้
- เม็ดอาหารสัตว์บางครั้ง ไม่สามารถแยกกลมเหลี่ยมได้ถูกต้อง อันเนื่องมาจากเม็ดตั้ง แต่เนื่องจากมีรูปทรงเอียง ทำให้เห็นด้านข้างของทรงกระบอกจนเกิดเป็นเหลี่ยมขึ้นมา เพราะฉะนั้นเม็ดเหล่านี้จะถูกตัดทิ้งไม่นำมาคำนวณ
วิจัยและพัฒนาโดย
- ทีมวิจัยการประมวลผลและเข้าใจภาพ (IPU)
หน่วยวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (AINRU)
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
อีเมล : ipu[at]nectec.or.th
โทรศัพท์ : 02-564-6900 ต่อ 2246