เนคเทค สวทช. รับฟังผลการใช้งาน IDA Platform พร้อมหารือโอกาสนำเทคโนโลยียกระดับการผลิต บริษัท ผลิตภัณฑ์ สมุนไพรไทย จำกัด

Facebook
Twitter
14 มิถุนายน 2565: คณะผู้บริหาร นักวิจัย และบุคลากร เนคเทค สวทช. นำโดย ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ดร.รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรมสมัยใหม่ สวทช. ดร.พรพรหม อธีตนันท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี เดินทางไปเยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการ IDA Platform ณ บริษัท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด จ. พระนครศรีอยุธยา โดยมี นายแพทย์ศิริชัย ลิ้มสกุล ผู้อำนวยการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและผู้จัดการบริษัทฯ ให้การต้อนรับ นำชมพื้นที่ติดตั้ง IDA Platform และร่วมอภิปราย แลกเปลี่ยนมุมมองจากการความร่วมโครงการ เพื่อการพัฒนาต่อไป
บริษัท ผลิตภัณฑ์ สมุนไพรไทย จำกัด เผยว่า หลังจากได้เข้าร่วมเป็น 1 ในโครงการนำร่องโครงการ IDA Platform โดยการติดตั้งอุปกรณ์ ณ Main Distribution Board (MDB) ที่ควบคุมไฟฟ้าหลักภายในโรงงาน และ เครื่องหล่อเย็น (Chiller) ทำให้ทราบข้อมูลของการใช้พลังงานไฟฟ้าโดยอัตโนมัติผ่าน Dashboard ไม่ว่าจะเป็น Load Factor (LF) ค่าพลังงาน ค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่จะมีการกำหนดเวลาให้พนักงานจดข้อมูล
คณะผู้จัดการฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บริษัท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด และ คุณศรัณย์ ศรีพิพัฒน์ ผู้ติดตั้งและที่ปรึกษาโครงการ (SI) ได้แลกเปลี่ยนกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็น “พลังของข้อมูลจาก IDA Platform” ที่นอกจากจะทำให้บริษัททราบสถานะของอุปกรณ์แล้ว ยังช่วยชี้เป้าให้บริษัทเกิดข้อสังเกตเกี่ยวกับเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ สามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างตรงจุดเพื่อเพิ่ม Productivity แก่โรงงานอุตสาหกรรม หรือวางแผนการซ่อมบำรุงได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงรักษาเครื่องจักรในโรงงาน
ยกตัวอย่าง เครื่องหล่อเย็น (Chiller) ที่ชำรุดจากท่อทำน้ำเย็นแตก เมื่อตรวจสอบข้อมูลค่าอุณหภูมิของน้ำภายในเครื่องพบว่าค่าอุณหภูมิค่อย ๆ ลดต่ำลงจนถึงระดับที่ทำให้น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง เป็นสาเหตุให้ท่อเกิดการขยายตัวและแตกในที่สุด ดังนั้นในอนาคตหากมีการทำระบบแจ้งเตือนอุณหภูมิของน้ำจะสามารถป้องกันการเกิดปัญหาในจุดนี้ได้ ในลักษณะ Preventive Maintaince หรือเพิ่มถังพักน้ำเพื่อรักษาค่าอุณภหภูมิให้คงที่ เป็นต้น
ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่า เครื่องหล่อเย็น 2 เครื่องที่มีการตั้งค่าอุณหภูมิแต่ละเครื่องเท่ากัน แต่ข้อมูลการใช้พลังงานต่างกันถึง 20% ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างดังกล่าว เพื่อจะลดค่าพลังงานดังกล่าว
อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ข้อมูลจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านพลังงานเพื่อทำการวิเคราะห์ เชื่อมโยงหรืออ่านค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ เพื่อนำมาสู่การพัฒนา ป้องกัน หรือ แก้ปัญหาการจัดการในโรงงานต่อไป ซึ่งโครงการฯ ได้จัดให้มี SI พร้อมด้วยทีมวิจัยและวิศวกรรมของโครงการฯ ร่วมปรึกษา เพื่อรับโจทย์ และออกแบบระบบร่วมกันกับโรงงานตลอดระยะเวลาโครงการ โดยประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการข้อมูลในเชิง Visualization ทำให้เนคเทค สวทช. มองเห็นโอกาสในการพัฒนาต่อยอด IDA Platform ในอนาคต ด้วยการเพิ่มส่วนการวิเคราะห์ข้อมูล
นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือความร่วมมือในอนาคต จากโจทย์ความต้องการเพิ่มเติมของบริษัท โดยคณะนักวิจัยเนคเทค สวทช. ร่วมเยี่ยมชมพื้นที่การผลิต และคลังสินค้า เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ที่จะเข้ามาปิดช่องว่าง เสริมประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตให้กับโรงงานได้ นำโดย ทีมระบบไซเบอร์-กายภาพ (CPS) ได้แก่ คุณรุ่งโรจน์ พันธุ์โภคา วิศวกร และ คุณไพบูลย์ ขอมเดช วิศวกร ทีมวิจัยสมองกลอัจฉริยะและความจริงเสมือน (SMR) ได้แก่ ดร. กิตติพงศ์ เอกไชย หัวหน้าทีมวิจัย และ ดร.พิเชษฐ์ บุญหนุน นักวิจัย พร้อมด้วย คุณสิรีพัชร อานพรหม นักวิเคราะห์ ฝ่ายบริหารโครงการวิจัย และ คุณวิชชุดา เอกพันธ์ นักวิเคราะห์ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) 
ในช่วงท้าย ดร.พนิตา ดร.รวีภัทร์ และ ดร.พรพรหม ยังได้นำเสนอบริการและสิทธิประโยชน์ของการเป็นสมาชิกศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ที่สามารถตอบโจทย์โรงงานที่ต้องเพิ่มศักยภาพกระบวนการผลิตไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้เป็นอย่างดี
ติดตามรายละเอียดสมัครสมาชิก SMC > https://www.nectec.or.th/smc/services-membership/
สิทธิพิเศษสำหรับผู้สมัคร รับทันทีสมาชิกภาพ 2 ปี!!! พร้อมสิทธิประโยชน์อีกมากมาย
เฉพาะผู้ที่สมัครวันนี้ – 30 มิถุนายน 2565 เท่านั้น