ส่องฟีเจอร์ใหม่ ! Traffy Fondue 2023 ง่าย สะดวกกว่าเดิม เพิ่มเติมประสิทธิภาพการใช้งาน

Facebook
Twitter

บทความ : ปาลิตา โคนเคน
ภาพประกอบ : ปาลิตา โคนเคน, ศศิวิภา หาสุข
ถ่ายภาพ : กรรวี แก้วมูล

ที่งานประชุมวิชาการของเนคเทค ประจำปี 2565 หรือ NECTEC-ACE 2022 ที่ผ่านมา นอกจากจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัลแล้ว ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจของเนคเทคอีกจำนวนมาก และขาดไปไม่ได้กับผลงานที่กำลังได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างมาก “Traffy Fondue” แพลตฟอร์มรับการแจ้งและบริการจัดการปัญหาเมือง โดยประชาชนสามารถแจ้งปัญหา รวมถึงการติดตามความก้าวหน้าการทำงานต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย ผ่านทาง LINE Application ด้วยเทคโนโลยีแชตบอท รวมถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยจำแนกปัญหาและส่งต่อเพื่อนำมาสู่การแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว โปร่งใส ทำให้ผู้บริหารหน่วยงาน หรือ ท้องถิ่น สามารถเห็นภาพรวมของปัญหา โดยจะแสดงข้อมูลทางสถิติเพื่อใช้วางแผน และพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเรียกว่า Smart Government

การเสวนาหัวข้อ “เปิดตัว Traffy Fondue 2023 และมุมมองประสบการณ์การใช้งานเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาเมืองน่าอยู่” ได้รับเกียรติจากผู้บริหารหน่วยงานที่ได้นำไปประยุกต์ใช้งาน มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองการใช้งาน เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาเมืองน่าอยู่ ร่วมเป็นวิทยากร ดังนี้

  • ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม
    หัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ
    กลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย เนคเทค สวทช.
  • นายชรินทร์ ทองสุข
    รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
  • คุณศนิ จิวจินดา
    ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
  • คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ
    รองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร 
  • พันตำรวจเอก สุกิจ  อรุณฤกษ์ถวิล
    รองผู้บังคับการตำรวจจราจร
    กองบังคับการตำรวจจราจร กองบัญชาการตำรวจนครบาล
  • คุณไกลก้อง ไวทยาการ
    ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายท้องถิ่น มูลนิธิคณะก้าวหน้า
    ร่วมด้วย  ดร. กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. เป็นผู้ดำเนินรายการ

จุดเริ่มต้น! Traffy Fondue แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาสุดล้ำ !

ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าทีมวิจัยผู้พัฒนา Traffy Fondue เล่าถึงจุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์มว่ามาจากการทำ Smart City ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อปี 2558 จากการเรียกร้องเรื่องการบริหารจัดการปัญหาขยะโดยประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขอย่างดี เมื่อปัญหาขยะสามารถแก้ไขได้ ปัญหาอื่นๆ ก็สามารถแก้ไขได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้จุดประสงค์ของ Traffy Fondue คือ การใช้แพลตฟอร์มลดช่องว่างระหว่างผู้ประสบปัญหากับหน่วยงาน เพื่อลดระยะเวลา ค่าใช้จ่าย ช่วยให้เจ้าหน้าที่เห็นข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนในขณะนั้น และพร้อมที่จะไปแก้ไขทันที อีกทั้งยังช่วยให้ผู้บริหารมีข้อมูลภาพรวมของปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา เพื่อนำมาบริหารจัดการเมืองให้ดีขึ้น 

คุณศนิ จิวจินดา กล่าวเสริมว่า หลังจากรองศาสตราจารย์ ชัชชาติสิทธิพันธุ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ Facebook เชิญชวนให้ประชาชนแจ้งปัญหาผ่านทาง Traffy Fondue โดยมีผู้เข้ามาแจ้งปัญหามากถึง 15,000 รายการ  ภายในหนึ่งสัปดาห์ เจ้าหน้าที่ 50 เขตในกรุงเทพมหานคร  รวมถึงสำนักงานเขตย่อย ได้ติดต่อเข้าร่วมการใช้ Traffy Fondue  ปัญหาหลากหลายได้รับความร่วมมือจากหลายองค์กร หน่วยงานต่าง ๆ  เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ทางตำรวจ ทางการไฟฟ้า ทางการประปา เป็นต้น โดย ผู้ว่าฯ ชัชชาติเป็นเจ้าภาพประสานงานกับองค์กรต่างๆ รวมทั้งในกรุงเทพมหานคร 

โดย ดร. วสันต์ ให้ข้อมูลว่าหลังจากมีการเริ่มใช้วันที่ 29 พ.ค. 2565 กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพการแก้ปัญหาเป็นอย่างมาก โดยจะนำผู้บริหารเขต ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เข้ามาช่วยกำกับและติดตามผล หลังจากเกิดกระแสทำให้ประชาชนในเขตพื้นที่อื่นให้ความสนใจมากขึ้น จึงขยายผลต่อยอดไปยังจังหวัดต่างๆ คือ นครราชสีมา อุบลราชธานี ยโสธร เชียงราย และเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีขยายไปยังเทศบาลต่างๆ หน่วยงานที่เข้ามาสมัครใช้ทั้งหมด 8,000 หน่วยงาน สถิติหน่วยงานที่ใช้งานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหมด 2,378 หน่วยงาน แบ่งได้เป็น เทศบาล 298  อบต. 223 หน่วยงาน ใน 166 อำเภอ 58 จังหวัด*

จากทุนสนับสนุนของ กสทช. ทำให้สามารถขยายผลการใช้งาน Traffy Fondue ไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ นอกจากนี้ มีการตั้งศูนย์ประสานงานประจำภูมิภาคอีก 4 แห่ง คือ เชียงราย เพชรบุรี พิษณุโลก และนครราชสีมา สำหรับการอบรมให้คำปรึกษา โดยได้จัดอบรมผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และประชาชนไปแล้ว 16 รุ่น 785 หน่วยงาน 1,714 คน

(*ข้อมูลจากเวทีเสวนา 8 กันยายน 2565)

ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าทีมวิจัยผู้พัฒนา Traffy Fondue
คุณศนิ จิวจินดา ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

การแก้ไขปัญหาบนพื้นที่จริงด้วย Traffy Fondue

ปัจจุบันมีการใช้งาน Traffy Fondue ในหลายเมือง ทั้งจังหวัดภูเก็ต อุบลราชธานี นครราชสีมา และอื่นๆ เทศบาลทั่วประเทศ 357 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 350 แห่ง หน่วยงานด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 96 หน่วยงาน นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 12 แห่ง รวมทั้งส่วนของกรุงเทพมหานคร 50 เขต

จากสถิติการใช้งาน พบว่า ปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดคือ ปัญหาถนนและทางเท้า รองลงมาคือน้ำท่วม และอื่นๆ เช่น ปัญหาขยะ สุนัขจรจัด รวมทั้งหมดกว่า 140,000 เรื่อง มีการบริหารจัดการคือ จำแนกให้เขตและสำนักต่างๆ รวมถึงหน่วยงานภายนอกร่วมกันรับเรื่องโดยใช้ Traffy Fondue และประสานหน่วยงานภายนอกมาช่วยเหลือ โดยกระจายอำนาจให้ผู้อำนวยการเขต กระจายงบประมาณให้มากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเขตที่อยู่ใกล้ประชาชน เข้าถึงการแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น

นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย มีประชากรกว่า 2.7ล้านคน มีความยากลำบากในการบริหารพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงต้องมีหน้าที่ในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาเช่นกัน 

จังหวัดนครราชสีมาพยายามที่จะพัฒนา แก้ไขปัญหา ตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากการใช้แอปพลิเคชัน Traffy Fondue ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการเป็นแอดมินดูแลปัญหา ประกอบไปด้วยส่วนราชการภูมิภาค 35 หน่วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตําบล และองค์การบริหารส่วนตำบล 334 แห่ง ปัจจุบันมีหน่วยงานแอดมินในจังหวัดมากกว่า 400 หน่วย 

แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคจำนวนมาก แต่จังหวัดนครราชสีมาก็ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา โดยมีความตั้งใจนำความรู้ไปใช้ ปัจจุบันยังคงมีปัญหาเชิงระบบส่วนราชการ และปัญหาส่วนจังหวัดในการแบ่งเขตพื้นที่ รวมถึงการแจ้งเตือนให้แก่สถานีตำรวจ สถิติการใช้งานหนึ่งดือน ได้รับแจ้งปัญหาประมาณ 1,900 เรื่อง โดยมีสถานะรอรับเรื่อง กำลังดำเนินการ ส่งต่อ และเสร็จสิ้น โดยสัดส่วนของเรื่องที่เสร็จสิ้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

จังหวัดนครราชสีมามีระบบให้หัวหน้าหน่วยเข้ามาอบรม ในฐานะหน่วยงานราชการจังหวัด สำหรับมอบหมายและกำกับดูแลพื้นที่โคราช 32 อำเภอ รองผู้ว่าราชการจังหวัด 4 ท่าน กำกับดูแลคนละ 8 อำเภอ เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเร่งรัดติดตาม โดยให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลปัญหาให้มากขึ้น

วิธีการที่นครราชสีมาได้ดำเนินการร่วมกับกรุงเทพมหานคร คือ จัดการปัญหาที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนก่อน โดยบางครั้งผู้ร้องเรียนกับผู้ตอบให้ความร่วมมือกัน โดยผู้ร้องเรียนสามารถประเมินความพอใจเป็นจำนวนดาวได้ เป็นความสุขระหว่างผู้ร้องกับผู้ช่วย  นี่คือข้อดีของ Traffy Fondue ที่สะท้อนปัญหาแล้วสามารถแก้ปัญหาให้เห็นผลไปพร้อมกัน

พ.ต.อ.สุกิจ  อรุณฤกษ์ถวิล รอง ผบก.จร.

พ.ต.อ.สุกิจ  อรุณฤกษ์ถวิล รอง ผบก.จร. กล่าวว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมมือกับทางกรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงในสถานที่อื่นๆในอนาคต ปัจจุบันสถานีตำรวจในกรุงเทพมหานคร ตัวแทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ประกอบด้วยสถานีตำรวจจำนวนทั้งสิ้น 88 สถานีที่มี Traffy Fondue นอกจากนี้ ยังมีหน่วยบังคับบัญชากองบังคับการ 9 กองบังคับการ หน่วยงานจราจร 10 หน่วยงาน ที่ใช้ Traffy Fondue เป็นแนวทางในการบริหารจัดการ

ทางสถานีจะมีการแจกแจงงานให้สอดคล้องกับบทบาทของแต่ละส่วนงาน เช่น การร้องเรียนเรื่องบัตรประชาชน หรือ เหตุก่อความเดือดร้อนรำคาญ จะแจ้งหน่วยป้องกันปราบปราม การร้องเรียนเรื่องอบายมุข การพนัน จะแจ้งฝ่ายสืบสวน เป็นต้น เพื่อให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว Traffy Fondue เป็นประโยชน์อย่างมาก ในการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้ข้อมูลข่าวสารในการทำงานของตำรวจได้อย่างดีโดย 85 -90 เปอร์เซนต์ เป็นเรื่องการจราจร ซึ่งแก้ไขแล้วจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 80 เปอร์เซนต์ ระดับความพึงพอใจของประชาชนเกือบ 4  ถือว่าพอใช้ได้ในระดับหนึ่ง 

Traffy Fondue ตอบโจทย์ในด้านการติดตามเรื่อง รู้สถานะการดำเนินการ หรือเสร็จสิ้นการดำเนินการแล้วหรือไม่ เทศบาลแรกเริ่มใช้เดือนพฤษภาคม 2564 หลังจากมีการเลือกตั้งเทศบาลครั้งแรกในรอบ 7 ปี ปัจจุบันมีเทศบาล 15 แห่ง และระดับองค์การบริหารส่วนตำบล.อีก 11 แห่ง ที่เปิดใช้งาน ส่วนใหญ่ระดับเทศบาลจะเป็นเทศบาลตำบล ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพของหน่วยงานที่นำ Traffy Fondue ไปใช้งาน ทำให้เห็นปัญหาได้รวดเร็วขึ้น ลดระยะเวลาการร้องเรียน สำหรับขนาดของหน่วยงานที่มีข้อจำกัดทางด้านบุคลากร อุปกรณ์ และงบประมาณ จึงต้องบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด

Traffy Fondue 2023 กับรูปลักษณ์และฟีเจอร์ใหม่ น่าใช้งานมากขึ้น !

เปิดตัว Traffy Fondue 2023 และฟีเจอร์ใหม่ “Traffy Fondue Manager” แจ้งปัญหาง่ายขึ้น ติดตามเรื่อง ดูสถิติได้ พร้อมกับรูปลักษณ์ที่สวยขึ้น 

  • มีแถบเมนูด้านล่าง ประชาชนสามารถกดปุ่มสีเหลืองเพื่อแจ้งรายงานได้ทันที ส่วนไทม์ไลน์บอกสถานะปัญหา จะเพิ่มความสวยงาม และอ่านง่ายขึ้น 
  • กระบวนการแจ้งปัญหามีความชัดเจนมากขึ้น จากเดิมต้องปัดเลื่อนเพื่อหาหน่วยงานทีละหน้า ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นแถบแนวตั้ง สามารถเลื่อนหาได้สะดวกรวดเร็วในหน้าเดียว เช่นเดียวกับประเภทของปัญหาที่เพิ่มรูปภาพเข้าไป โดยแต่ละประเภทจะปรับแต่งตามแต่ละหน่วยงานได้
  • การยกเลิกการแจ้งปัญหา และการติดตามความก้าวหน้า

พร้อมกันนี้ยังได้เปิดตัว Fondue Manager เพื่อรับเรื่องและบริหารจัดการเรื่องโดยแจ้งผ่าน Chatbot ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถจัดการปัญหาผ่านทาง Line Application ได้ทุกที่ทุกเวลา

  • จัดการสถานะปัญหา เพิ่มข้อความ รายละเอียดปัญหาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
  • แจ้งเตือนเมื่อมีเรื่องใหม่ เจ้าหน้าที่สามารถพูดคุยกับผู้ร้องเพื่อขอรายละเอียด หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
  • ดูสถิติการแก้ปัญหาได้
  • ค้นหารายการแจ้งด้วยเลขเคส / พิกัดตำแหน่ง
    โดยเปิดให้บริการ เมื่อ 10 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

Traffy Fondue รวดเร็ว โปร่งใส ประหยัดค่าใช้จ่าย

การส่งต่อข้อมูลหน่วยงานระหว่างหน่วยงานราชการยังคงใช้หนังสือราชการในการสื่อสาร ทำให้ความเร็วในการแก้ปัญหา หรือ ติดตามปัญหาล่าช้าโดยสะท้อนให้เห็นภาพในระดับมหภาค หากกระจายอำนาจให้หน่วยงานองค์กรท้องถิ่นได้แก้ปัญหาเบ็ดเสร็จจะทำงานได้เร็วขึ้น ซึ่ง Traffy Fondue สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี โดยมีข้อดีคือไม่มีค่าใช้จ่าย ใช้งานง่าย จึงเป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานขนาดเล็กใช้งานได้ ทำให้เกิดรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-goverment) โดยมี Traffy Fondue เป็นจุดเริ่มต้น  

เมื่อมีข้อมูลมากขึ้น จะนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป ซึ่งอาจต้องมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ฐานข้อมูลเป็นพื้นฐาน สำหรับการจัดการทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว อีกทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน และการประเมิน ITA หรือ การประเมินความโปร่งใสด้วยแชตบอท ดังนั้น Traffy Fondue จะเป็นแรงจูงใจให้หน่วยงานอื่นๆ เข้ามาใช้งานมากขึ้น และคะแนนความโปร่งใสจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ในด้านความโปร่งใสนั้น ผู้พัฒนาได้ปรับปรุงเว็บไซต์สำหรับให้ข้อมูลกับประชาชน และเปิดเผยข้อมูลคำร้องขึ้นเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเห็นภาพการทำงานได้ รวมไปถึงแผนที่แสดงมุมมองการบริหารเชิงพื้นที่ โดยแสดงให้เห็นพื้นที่ที่ร้องเรียนบ่อยซึ่งอาจมีปัญหาซ้ำซ้อน เช่น ปัญหาทางกายภาพของพื้นที่ หรือ ปัญหาอื่นๆ  Traffy Fondue อาจเป็นต้นแบบให้หลายๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก สามารถใช้ระบบนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แสดงสถิติให้เห็นถึงการแก้ปัญหา ช่วยให้การแก้ปัญหารวดเร็วขึ้น 

แนวทางขับเคลื่อน Traffy Fondue ควบคู่กับ Smart City อย่างยั่งยืน

คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ ร่วมเสวนาผ่านระบบออนไลน์

รองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ กล่าวถึงแนวทางในการขับเคลื่อน Traffy Fondue สำหรับเสริมการทำงานของกรุงเทพฯ ว่า …

การขับเคลื่อนบริหารราชการต้องตอบรับความต้องการของประชาชน สำหรับ Open Data, Open Contrac หรือ  Innovation ได้เข้ามาช่วยสร้างประสิทธิภาพให้กับกรุงเทพฯ โดยปัจจุบันมีการใช้แพลตฟอร์ม LINE เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้ตอบโจทย์ประชาชนมากที่สุด จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์  Traffy Fondue เป็นต้นแบบแนวคิดในการเปลี่ยนวิธีการสร้างข้อมูลดิจิทัล รวมถึงการปรับฟีเจอร์ให้รองรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน 

เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่จะช่วยแก้ปัญหา แต่การมีส่วนร่วมในสังคมช่วยกันจัดการปัญหา ทำให้การบริหารการจัดการเมืองเร็วและดีขึ้น การนำเทคโนโลยีกับเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาผสมผสานกัน จะทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้น อีกทั้งการพัฒนาให้ Traffy Fondue เข้าถึงง่าย ใช้งานได้สะดวก ให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปแก้ไขได้โดยเร็ว ประเมินการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ 

ใจความสำคัญหลักของ Smart City คือ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะได้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบและวัดประสิทธิภาพได้ 

การนำเทคโนโลยีไปใช้สร้างเมืองน่าอยู่ หรือ Smart City ให้ประสบความสำเร็จ ด้วยการปรับปรุงวิธีการดูแลประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีให้เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ โดยจะแตกต่างไปตามแต่ละพื้นที่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการค้นคว้าร่วมมือหาทางแก้ไขทิศทางของ Traffy Fondue กับการพัฒนาวิธีการสู่เป้าหมายในอนาคต

ฟีเจอร์ใหม่ Traffy Fondue Manager ได้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ Traffy Fondue ยังได้รับรางวัลบริการภาครัฐระดับดีเด่น ประเภทนวัตกรรมบริการอีกด้วย