เนคเทค-สวทช. ร่วมกับ สภาพัฒน์ พัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า ‘TPMAP’

Facebook
Twitter
tpmap

19 ธันวาคม 2561 เวลา 14.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้กำหนดและติดตามประเมินผลการจัดสวัสดิการภาครัฐ และการนำระบบบริหารการจัดการข้อมูลแบบชี้เป้า (TPMAP) ระหว่างกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ รวม 11 หน่วยงาน เพื่อยกระดับการให้บริการสวัสดิการภาครัฐให้เข้าสู่ยุค 4.0 ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้บริหารจัดการฐานข้อมูลสวัสดิการภาครัฐอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริงได้ถูกตัว

tpmap
tpmap

ภายในงานได้มีพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านการบูรณาการข้อมูลภาครัฐระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐให้เป็นฐานเดียว เพื่อให้ภาครัฐสามารถนำข้อมูลสวัสดิการดังกล่าวบริหารจัดการและประเมินผลได้อย่างสะดวก สามารถช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้ได้รับการบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นและมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ นอกจากนี้ยังจะทำให้ภาครัฐมีข้อมูลที่สมบูรณ์และเชื่อมโยงกันได้มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน สามารถนำมาศึกษา วิเคราะห์ และประเมินการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตและการจัดสรรสวัสดิการที่รัฐให้แก่พี่น้องประชาชน นำไปสู่การดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และป้องกันการทุจริตได้มากขึ้น และการจัดสรรสวัสดิการที่เป็นไปอย่างเหมาะสม ตรงกลุ่มเป้าหมาย เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างตรงจุด

tpmap
tpmap

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการ “สร้างสุขทุกช่วงวัย สวัสดิการแห่งรัฐ” เพื่อเผยแพร่และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสวัสดิการภาครัฐที่สำคัญ ๆ ของคนไทยในแต่ละช่วงวัย ได้แก่

  1. เด็กและครอบครัว
  2. วัยเรียน
  3. วัยแรงงาน
  4. ผู้พิการ
  5. ผู้สูงอายุ
  6. สุขภาพ
  7. บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
  8. ระบบบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลสวัสดิการภาครัฐ
tpmap

ในโอกาสนี้ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการเนคเทค ดร.สุทธิพงศ์ ธัชยพงษ์ หัวหน้าทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค พร้อมทีมนักวิจัยระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า Thai People Map and Analytics Platform หรือ TPMAP ร่วมให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะ พร้อมนำเสนอผลงานวิจัยและพัฒนาในรูปแบบนิทรรศการพร้อมสาธิตการใช้งานระบบฯ สู่การนำไปใช้งาน นำร่องทดสอบในพื้นที่จริง คาดหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้พร้อมพัฒนาเพิ่มเติม กระจายสู่ระดับจังหวัด ภูมิภาค มุ่งสู่การกำหนดเป็นนโยบายภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาอย่างแท้จริง โดยปัจจุบันได้มีการนำไปใช้แก้ไขปัญหาจริงในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม จ.ปทุมธานี จ.เชียงใหม่ อบรมรมการใช้งานระบบฯ ดังกล่าวแล้ว ณ จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร โดยที่มาของ TPMAP คือ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ในคราวการประชุม ครั้งที่ 5/2560 มีมติเห็นชอบการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบ Big Data ของภาครัฐ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นเจ้าภาพในการดำเนินงาน และต่อมาคณะทำงานฯ ได้มีการมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันพัฒนาระบบ TPMAP (Thai Poverty Map and Analytics Platform) ซึ่งเป็นระบบ Big Data ของภาครัฐ ในประเด็นการแก้ปัญหาความยากจนที่สามารถระบุปัญหาความยากจนในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น/ท้องที่ จังหวัด ประเทศ หรือปัญหาความยากจนรายประเด็น ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาความยากจนตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นและสามารถออกแบบนโยบาย โครงการในการแก้ปัญหาความยากจนให้ตรงกับความต้องการหรือสภาพปัญหาได้ ต่อมาได้พัฒนาเป็น Thai People Map and Analytics Platform หรือ TPMAP คือ ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า ให้สามารถครอบคลุมปัญหาที่กว้างขึ้น เช่น เด็กแรกเกิด การศึกษา ผู้สูงอายุ การพัฒนาสภาพที่อยู่อาศัย

ซึ่งในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2561 นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบให้นำรายงานความก้าวหน้าการนำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินฯ และตัวอย่างระบบเบื้องต้น TPMAP ให้คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ) เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

tpmap

TPMAP เป็นการทำงานโดยใช้ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ). จากกรมการพัฒาชุมชน และข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐจากกระทรวงการคลังมายืนยันซึ่งกันและกัน ใช้วิธีการ Multidimensional Poverty Index (MPI) คิดค้นโดย Oxford Poverty & Human Development Initiative และ United Nation Development Programme ซึ่ง สศช. ได้นำมาปรับใช้กับประเทศไทย โดย MPI คือ ดัชนีความยากจนหลากมิติ โดยอาศัยหลักการที่ว่าคนจนคือผู้ที่มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์คุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่ง TPMAP พิจารณาจาก 5 มิติ ได้แก่ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านการเงิน ด้านความเป็นอยู่ และด้านการเข้าถึงบริการรัฐ

tpmap

ปัจจุบัน TPMAP สามารถนำมาใช้ช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้โดยสามารถใช้ช่วยระบุปัญหาที่เกี่ยวกับความยากจน โดยสามารถใช้ตอบคำถาม 3 ข้อได้แก่ คนจนอยู่ที่ไหน? คนจนมีปัญหาอะไร? จะพ้นความยากจนได้อย่างไร? *** สามารถใช้งานได้ที่ https://www.tpmap.in.th

tpmap

คนจนอยู่ที่ไหน?

สามารถระบุได้คนจนเป้าหมายคือ คนจนในข้อมูล จปฐ. ที่มาลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่ง TPMAP สามารถแสดงผลผ่าน Dashboard www.tpmap.in.th แสดงข้อมูลเชิงจำนวนคนจนและสัดส่วนคนจนเชิงพื้นที่ตั้งแต่ระดับประเทศ จังหวัด อำเภอ ตำบล ทราบว่าแต่ละพื้นที่มีคนจนกี่คน สามารถจัดลำดับพื้นที่ตามจำนวนและสัดส่วนคนจน เพื่อพิจารณาพื้นที่ๆต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน

tpmap

คนจนมีปัญหาอะไร?

สามารถระบุได้ว่าคนเหล่านั้นมีปัญหาในมิติอะไรบ้าง ได้แก่ สุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ การเข้าถึงบริการรัฐ โดยคำนวณจากจำนวนคนในครัวเรือนที่มีปัญหาในข้อมูล จปฐ. เป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น

  • ด้านสุขภาพ พิจารณาจาก จำนวนเด็กแรกเกิดมีน้ำหนักเฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์
  • ด้านการศึกษา พิจารณาจาก เด็กอายุ 3-5 ปีได้รับการเตรียมพร้อมก่อนวัยเรียนหรือไม่ มีเด็กอายุ 6-14 ปีไม่ได้รับการศึกษาภาคบังคับกี่คน มีเด็กกี่คนที่จบมัธยม 3 แล้วไม่ได้เรียนต่อมัธยม 4 มีคนอายุ 15-59 ปีกี่คนที่อ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้
  • ด้านรายได้ พิจารณาจาก มีคนอายุ 15-59 ปีกี่คนที่ไม่มีอาชีพหรือรายได้ คนเกษียณที่ไม่มีอาชีพหรือรายได้
  • ความเป็นอยู่ พิจารณาจาก ครัวเรือนมีน้ำใช้เพียงพอหรือไม่ ที่อยู่อาศัยมั่นคงถาวรหรือไม่
  • การเข้าถึงบริหารรัฐ พิจารณาจากจำนวนคนที่ผู้พิการ ผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการดูแล
tpmap

นอกจากนั้น TPMAP สามารถเปรียบเทียบข้อมูลตั้งแต่ปี 2556 จนถึง 2561 ซึ่งจะช่วยในการวิเคราะห์ปัญหาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เช่น พื้นที่ใดมีปัญหาข้อไหนซ้ำซ้อน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาแบบตรงเป้ามากขึ้นทั้งที่เกี่ยวกับการพัฒนาคน การช่วยเหลือผู้สูงอายุ การพัฒนาสภาพที่อยู่อาศัย เป็นต้น

จะพ้นความยากจนได้อย่างไร?

ข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์กับผู้กำหนดนโยบาย เและหน่วยงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้สามารถออกนโยบายและปฎิบัติเพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด ในอนาคตจะผนวกรวมข้อมูลจากมิติอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อให้การวิเคราะห์ครอบคลุมและแม่นยำขึ้น

TPMAP สู่การนำไปใช้จริง

ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) สามารถใช้ระบุปัญหาความยากจนในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น/ท้องที่ จังหวัด ประเทศ หรือปัญหาความยากจนรายประเด็น ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นและสามารถออกแบบนโยบาย โครงการในการแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการหรือสภาพปัญหาได้ TPMAP เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

บทความที่เกี่ยวข้อง

วันที่เผยแพร่ 19 ธันวาคม 2561 16:00