เนคเทค สวทช. นำเสนอ “การพัฒนา HPC&AI ของไทย” ในการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครือข่ายการวิจัยและการศึกษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ APAN ครั้งที่ 57

Facebook
Twitter

1 ก.พ. 67 ดร.ปิยวุฒิ ศรีชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (ThaiSC) และ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. นำเสนอ “การพัฒนา AI& HPC ของไทย” ใน Birds of Feather (BoF) ด้านการคำนวณสมรรถนะสูงและปัญญาประดิษฐ์ (Birds of Feather (BoF) on High-Performance Computing and Artificial Intelligence (HPC-AI) ภายใต้การประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครือข่ายการวิจัยและการศึกษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ APAN ครั้งที่ 57 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท

ดร.ปิยวุฒิ เล่าถึง ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (NSTDA Supercomputer Center: ThaiSC) เป็นหนึ่งในหน่วยงาน National Science and Technology Infrastructure (NSTI) ของ สวทช. เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ โดยศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูงมุ่งเน้นการให้บริการระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (High Performance Computing: HPC) แก่งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการคำนวณ (Computational Science) เช่น การทำแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์, งานวิจัยด้าน Computational Chemistry, Bioinfomatics, Climate Change, Artificial Intelligence (AI), Big Data เป็นต้น เพื่อให้มีศักยภาพสามารถรองรับโจทย์ปัญหาขนาดใหญ่ของประเทศได้

พร้อมเล่าถึงไทม์ไลน์ของการพัฒนา HPC ในประเทศไทย และ ThaiSC โดย ได้มีการติดตั้งเครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ “LANTA” เมื่อปลายปี 2565 และได้รับการจัดอันดับเป็นซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ที่มีประสิทธิภาพการคำนวณสูงสุดเป็นอันดับที่ 70 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ในเดือนพฤศจิกายน 2565 นอกจากนี้ LANTA HPC ยังเป็น Supercomputer เครื่องแรกของไทยซึ่่งใช้งานเทคโนโลยี Direct to chip liquid cooling ที่ให้ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานไฟฟ้า (PUE) ดีที่สุดที่สุด (รายละเอียดระบบ LANTA – https://thaisc.io/th/thaisc-resorces/lanta)

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลและคำนวณขั้นสูง ภายใต้ “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570)” ในยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมี “บริการซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ระดับชาติ” เป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญในปี 2567 อีกด้วย (รายละเอียดแผนพัฒนา AI ประเทศไทย (https://ai.in.th/)

Birds of Feather (BoF) on High-Performance Computing and Artificial Intelligence (HPC-AI) โดยเครือข่ายการศึกษาและวิจัยแห่งลังกา (LEARN) ถือเป็นก้าวแรกในการจัดตั้งกลุ่มปฏิบัติการเฉพาะโดยมุ่งศึกษาความก้าวหน้าของเทคโนโลยี HPC และ AI ภายใต้เครือข่าย APAN เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมการวิจัยและนวัตกรรมร่วมกันทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ด้าน ได้แก่

[1] ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาแบบบูรณาการในด้าน HPC และ AI โดยใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญที่หลากหลายของสมาชิก APAN

[2] สร้างแพลตฟอร์มสำหรับการแบ่งปันความรู้ ความก้าวหน้า ความท้าทาย และแนวคิดการวิจัยในด้าน HPC และ AI ในเครือข่าย APAN

[3]เสริมสร้างศักยภาพ ส่งเสริมการการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะด้าน HPC และ AI สำหรับนักวิจัยภายในเครือข่าย APAN