“MiniiScan” นวัตกรรมเครื่องตรวจหาหินปูนในชิ้นเนื้อจากเต้านม โดย มอ. ร่วมกับ สวทช.

Facebook
Twitter

miniScan ตรวจมะเร็งเต้านม

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เปิดตัว เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเพื่อตรวจขอบเขตทางรังสีของก้อนเนื้อเต้านมในห้องผ่าตัด หรือ MiniiScan เครื่องแรกของโลก ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้การผ่าตัดที่รวดเร็ว และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2561 รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตรวจขอบเขตทางรังสีของก้อนเนื้อเต้านมในห้องผ่าตัด หรือ MiniiScan เครื่องแรกของโลก ณ ห้องประชุมเฉลิมพระบารมี ชั้น 12 อาคารเฉลิมพระบารมี โดย รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติและเครื่องถ่ายรังสีสองมิติ และคณะนักวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ร่วมกันแถลงผลสำเร็จของความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเพื่อตรวจขอบเขตทางรังสีของก้อนเนื้อเต้านมในห้องผ่าตัด หรือ MiniiScan

miniScan ตรวจมะเร็งเต้านม

ปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรม (Mammography) มีการตรวจอย่างกว้างขวาง เนื่องจากขณะนี้อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จากการตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกทำให้ผลการรักษาดีขึ้น และการผ่าตัดมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกทำให้ไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออก ผู้ป่วยจำนวนมากได้รับการผ่าตัดเฉพาะก้อนเนื้อมะเร็งและเนื้อเยื่อรอบก้อนออกโดยไม่จำเป็นต้องตัดเต้านม (Breast conservative surgery) การผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้อมะเร็งเต้านมในขนาดเล็กจำเป็นต้องกำหนดตำแหน่งที่แม่นยำโดยเฉพาะก้อนขนาดเล็กมากที่ไม่สามารถคลำได้ การกำหนดตำแหน่งเพื่อก้อนผ่าตัดที่แม่นยำ การตรวจสอบระหว่างการผ่าตัดว่าผ่าตัดได้ถูกตำแหน่ง ทำให้ลดอุบัติการณ์การผ่าตัดซํ้าข้อจำกัดในการผ่าตัดโดยทั่วไป การตรวจว่ามีตำแหน่งหินปูนในก้อนเต้านมระหว่างการผ่าตัดนั้น ศัลยแพทย์จะต้องส่งชิ้นเนื้อไปตรวจเอกซเรย์ภายนอกห้องผ่าตัด ว่าผ่าตัดถูกตำแหน่งหรือไม่ ทำให้เสียเวลา เนื่องจากสถานที่ผ่าตัดและห้องตรวจเอกซเรย์เต้านมอยู่ห่างไกลกันมาก จึงต้องเสียเวลารอนาน หรือโรงพยาบาลบางแห่งอาจจะไม่มีการตรวจสอบระหว่างผ่าตัด ข้อจำกัดอีกด้านหนึ่งของการตรวจเอกซเรย์ชิ้นเนื้อจากเครื่องตรวจโดยทั่วไป คือ ตรวจโดยระบบ 2 มิติ ซึ่งอาจจะทำให้การตรวจคลาดเคลื่อนเนื่องจากการวางตำแหน่งก้อนในแต่ละระนาบทำให้ได้ภาพที่แตกต่างกัน การแปลผลผิดปกติจะทำให้ผ่าตัดก้อนหินปูนออกไม่หมด

miniScan ตรวจมะเร็งเต้านม

รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวว่าการสร้างเครื่องตรวจเอกซเรย์ 3 มิติ เพื่อตรวจหาตำแหน่งหินปูนในก้อนชิ้นเนื้อ จะสามารถแก้ปัญหาของการตรวจแบบเดิม คือ สามารถตรวจได้ทุกระนาบ ทำให้ลดความคลาดเคลื่อนจากการวางชิ้นเนื้อในทิศทางที่แตกต่างกัน ซึ่งทางคณะแพทยศาสตร์ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ หรือ MiniiScan ซึ่งเป็นเครื่องขนาดเล็กเครื่องแรกของโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการวินิจฉัยขอบเขตทางรังสีของก้อนเนื้อเต้านมแบบสามมิติ สามารถแยกแยะบริเวณที่เป็นมะเร็งหรือมีหินปูนผิดปกติ พบว่าให้ผลการตรวจที่รวดเร็วและมีความแม่นยำสูง และยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยหวังผลสู่ระดับนานาชาติ

miniScan ตรวจมะเร็งเต้านม

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ในฐานะผู้อำนวยการโครงการเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติและเครื่องถ่ายรังสีสองมิติ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเด่นของเครื่องตรวจ MiniiScan นี้คือ เครื่องมีขนาดเล็กสามารถวางไว้ในห้องผ่าตัดได้และการทำงานของเครื่องแตกต่างจากเครื่องซีทีสแกนเครื่องใหญ่ เครื่องตรวจเอกซเรย์โดยทั่วไป คือ สิ่งที่ต้องการจะตรวจจะอยู่กับที่และเครื่องผลิตรังสี (X-ray source) และจอรับภาพ (Detector) เป็นตัวหมุนรอบวัตถุทำให้กินพื้นที่จากการหมุนกว้างมาก แต่เครื่องตรวจชิ้นเนื้อที่สร้างขึ้นใหม่นี้จะใช้การหมุนของแท่นวางชิ้นเนื้อแทนทำให้ประหยัดพื้นที่ เครื่องตรวจจึงมีขนาดเล็กสามารถเคลื่อนย้ายได้ นำไปไว้ในห้องผ่าตัดได้ สามารถตรวจชิ้นเนื้อได้ง่าย ผู้ใช้สามารถทำได้ด้วยตนเองและประมวลผลได้รวดเร็ว เนื่องจากเครื่องติดตั้งและใช้งานภายในห้องผ่าตัด หลังจากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดชิ้นเนื้อจะถูกส่งตรวจได้ทันที เครื่องนี้ใช้เวลาในการประมวลผลภาพประมาณ 5 นาที จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า สามารถลดระยะเวลาการตรวจชิ้นเนื้อได้ถึง 15 นาที นอกจากนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเนื้อเยื่อของอวัยวะอื่นที่ต้องการตรวจขอบเขตความห่างจากพื้นผิวของก้อน เช่น ตับ ตับอ่อน เป็นต้น เครื่องตรวจหาหินปูนขนาดเล็กที่ผลิตโดยความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และทีมนักวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สวทช.) เป็นเครื่องต้นแบบที่ได้ทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยเบื้องต้นไปแล้ว พบว่ามีความแม่นยำและสามารถพัฒนาต่อยอดไปใช้ทางคลินิก นับเป็นความสำเร็จในการร่วมมือกันทำงานนวัตกรรมของเครื่องตรวจเช่นนี้เป็นเครื่องแรกของโลก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการผลักดันให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพและเทคโนโลยีให้สามารถนำไปใช้ในวงกว้าง โดยเบื้องต้นเครื่องนี้จะนำไปทดสอบประสิทธิภาพที่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อผลักดันเข้าสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป

miniScan ตรวจมะเร็งเต้านม
miniScan ตรวจมะเร็งเต้านม

คณะวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

  1. รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์
  2. นพ.ศุภวัฒน์ เลาหวิริยะกมล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรม

คณะนักวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.)

  1. ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติและเครื่องถ่ายรังสีสองมิติ
  2. ดร.กฤษณ์ไกรพ์ สิทธิเสรีประทีป หัวหน้าโครงการส่วนฮาร์ดแวร์
  3. ดร.เสาวภาคย์ ธงจิตรมณี หัวหน้าโครงการส่วนซอฟต์แวร์
  4. ดร.พสุ สิริสาลี นักวิจัย
  5. ดร.ดนุ พรหมมินทร์ นักวิจัย
  6. ดร.วลิตะ นาคบัวแก้ว นักวิจัย
  7. นายสรพงศ์ อู่ตะเภา ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส
  8. นางสาวชาลินี ธนทรัพย์สมบัติ ผู้ช่วยวิจัย
  9. นายก้องยศ วังคะออม ผู้ช่วยวิจัย
  10. นายปริญญา จันทร์หุณีย์ วิศวกรอาวุโส
  11. นายอัฐศักดิ์ เกียงเอีย วิศวกร
  12. นายทศพล จันทร์คีรี วิศวกรอาวุโส
  13. นายธนพล ศรีวงษา วิศวกรอาวุโส
  14. นางสาวดวงกมล บรรณสาร วิศวกร