ครม. ผ่าน (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทยระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2565 – 2570)

Facebook
Twitter

ครม. ผ่าน (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทยระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2565 – 2570) ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 15 แผนงาน ซึ่ง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)  และ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เป็นเลขานุการร่วม

26 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ 30/2565 ณ ทำเนียบรัฐบาล มีมติเห็นชอบผ่าน (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทยระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2565 – 2570) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเกิดระบบนิเวศที่ครบถ้วนและเชื่อมโยงแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในปี พ.ศ. 2570” ทั้งนี้ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ในฐานะคณะทำงานและเลขานุการร่วมในคณะทำงานจัดทำร่างแผนฯ ร่วมด้วย ดร.กัลยา อุดมวิทิต (รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ) และ ดร.กุสุมาภรณ์ สมพงษ์ (ผู้ช่วยเลขานุการในคณะทำงานฯ) ได้เข้าร่วมชี้แจงวาระดังกล่าวต่อ ครม. ด้วย

(ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ฯ

(ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ฯ มีเป้าประสงค์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ (1) การสร้างคนและเทคโนโลยี (2) การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ (3) การสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนด้วย 5 ยุทธศาสตร์ 15 แผนงาน ได้แก่

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มศักยภาพบุคลากรและการพัฒนาการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
  • ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบปัญญาประดิษฐ์ในภาครัฐและภาคเอกชน

เมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานตาม (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ในปี พ.ศ. 2570 จะทำให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมต่อประเทศ ได้แก่ มีมูลค่าที่เกิดจากการจ้างงานและสร้างอาชีพในระบบเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีจำนวนทรัพยากรบุคคลที่สามารถปรับทักษะและพัฒนาทักษะใหม่ทางด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรองรับอาชีพและการทำงานในรูปแบบใหม่ในประเทศเพิ่มมากขึ้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมูลค่าของผลิตภัณฑ์และบริการในประเทศเพิ่มสูงขึ้นจากการนำปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ รวมทั้งประชาชนในประเทศมีความเหลื่อมล้ำลดลงทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ เนื่องจากสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม ผ่านกุญแจสู่ความสำเร็จทั้ง 9 ด้านได้แก่

  1. ประชาชนไม่ต่ำกว่า 600,00 คน-ครั้ง เกิดความตระหนักทางด้านปัญญาประดิษฐ์
  2. กฎหมาย/ระเบียบ/ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ถูกประกาศใช้งานไม่ต่ำกว่า 1 ฉบับ
  3. ยกระดับดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาลไทยให้สูงขึ้นไม่ต่ำกว่าลำดับที่ 50 ของโลก
  4. เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลสำหรับสนับสนุนงานด้านปัญญาประดิษฐ์ในภาครัฐและภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี
  5. บุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30,000 คน
  6. ความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพิ่มขึ้น โดยเกิดต้นแบบจากผลงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ไม่ต่ำกว่า 100 ต้นแบบ
  7. ผลงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ถูกนำไปใช้อย่างทั่วถึงและช่วยสร้างผลกระทบในภาคธุรกิจและภาคสังคมได้ไม่ต่ำกว่า 4.8 หมื่นล้านบาทในปี พ.ศ. 2570
  8. เกิดจำนวนหน่วยงานที่มีการใช้งานนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ทั้งในภาครัฐ ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการใหม่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี หรือไม่ต่ำกว่า 600 รายใน 6 ปี 
  9. ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศเพิ่มขึ้น ด้วยมูลค่าตลาดปัญญาประดิษฐ์ที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 6 หมื่นล้านบาทในปี พ.ศ. 2570