เดิมทีนั้นการเลี้ยวเบนของรังสีเอ็กซ์เหมาะกับการศึกษาโครงสร้างของคริสตัลที่มีจำนวนอะตอมในหลักสิบหรือหลักร้อยอะตอม แต่เมื่อจำนวนอะตอมเพิ่มมากขึ้นและการเรียงตัวของอะตอมมีความซับซ้อนมากขึ้นอย่างที่พบในสารชีวภาพอย่างโปรตีน การวิเคราะห์ลักษณะการเลี้ยวเบนของรังสีเอ็กซ์เพื่อให้ทราบถึงโครงสร้างของโปรตีนก็ทำได้ยากขึ้น
นอกจากนี้ลวดลายการเลี้ยวเบนของรังสีเอ็กซ์จะมีข้อมูลเฉพาะความเข้มของรังสีเอ็กซ์ที่เลี้ยวเบนออกมาจากอะตอมเท่านั้น ในขณะที่ข้อมูลที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือเฟสของรังสีเอ็กซ์ได้หายไป ในปี ค.ศ. 1953 นี้เองที่ Max Perutz ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก Lawrence Bragg ได้ใส่อะตอมหนักของปรอทลงไปที่ตำแหน่งเฉพาะในโมเลกุลของโปรตีนโดยระวังไม่ให้กระทบกระเทือนต่อตำแหน่งอะตอมอื่นๆ อะตอมหนักนี้จะไปเปลี่ยนความเข้มของรังสีเอ็กซ์ที่เลี้ยวเบนออกมาและทำให้ลวดลายการเลี้ยวเบนของรังสีเอ็กซ์เปลี่ยนไป
เมื่อนำผลการเลี้ยวเบนของรังสีเอ็กซ์ที่เคลื่อนที่ผ่านโปรตีนที่มีอะตอมของโลหะหนักและที่ไม่มีอะตอมของโลหะหนักมาเปรียบเทียบกัน เขาสามารถคำนวณข้อมูลเฟสที่ต้องการได้ และทำให้เขาสามารถหาโครงสร้างของโปรตีนฮีโมโกลบินที่อยู่ในเม็ดเลือดแดงได้สำเร็จ
เพื่อนของ Max Perutz ที่ชื่อ John Kendrew ก็ได้ใช้เทคนิคที่ Perutz ได้พัฒนาขึ้นหาโครงสร้างของโปรตีนที่มีความซับซ้อนมากขึ้นอย่างไมโอโกลบิน (โปรตีนที่อยู่ในกล้ามเนื้อและช่วยให้ออกซิเจนถูกเก็บไว้ในกล้ามเนื้อ) ได้สำเร็จ ซึ่งจะต้องวัดการเลี้ยวเบนของรังสีเอ็กซ์ถึงกว่า 250,000 ครั้งเลยดีเทียว
- ประวัติย่อ : Max Perutz
Max Perutz เกิดที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย ในวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1914 ในครอบครัวที่ทำอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งทางครอบครัวเองตั้งความหวังให้เขาศึกษาทางกฎหมาย แต่ครูใหญ่ที่โรงเรียนทำให้ความสนใจทางเคมีของเขาตื่นขึ้นมา ในปี ค.ศ. 1962 เขาได้เข้าศึกษาต่อที่ Viena University และรู้สึกว่าตัวเองเสียเวลาไปกับวิชาที่เกี่ยวข้องกับเคมีอนินทรีย์วิเคราะห์มากเกินไปพร้อมกับค้นพบตัวเองว่าชอบวิชาทางด้านเคมีอินทรีย์มากกว่า ต่อมาในปี ค.ศ. 1936 ได้ตัดสินใจไปศึกษาต่อที่ Cambridge University โดยได้ทำงานวิจัยร่วมกับ John Bernal ในห้องปฏิบัติการ Cavendish ช่วงที่นาซีบุกยุโรปทำให้เขาขาดการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากทางครอบครัว แต่ Lawrence Bragg ได้ช่วยเขาโดยให้ทำงานในหน้าที่ของผู้ช่วยวิจัยในห้องปฏิบัติการ ความสนใจโครงสร้างฮีโมโกลบินเริ่มจากการสนทนากับ Felix Haurowitz ที่กรุงปราก ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1937 มี Gilbert Adair ทำผลึกของฮีโมโกลบินให้ และ มี John Bernal และ Isidor Fankuchen สอนการบันทึกภาพเลี้ยวเบนของรังสีเอ็กซ์พร้อมทั้งวิธีการแปลผล นอกเหนือจากงานทางด้านโปรตีน เขายังให้ความสนใจกับผลึกของธารน้ำแข็ง เขาใช้เวลาว่างปีนเขา เล่นสกี และ ทำสวน
- ประวัติย่อ : John Kendrew
John Kendrew เกิดที่ Oxford ในวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1917 เขาเข้าศึกษาที่ Trinity College ในช่วงปี ค.ศ. 1936-1939 จากนั้นเข้าทำงานที่ภาควิชาฟิสิกส์เคมีที่ Cambridge University เป็นเวลา 2-3 เดือน หลังจากนั้นได้มีโอกาสทำงานด้านเรดาร์ที่หน่วยวิจัยทางสื่อสาร ระหว่างนี้เกิดสงครามโลกขึ้นและเป็นช่วงเวลาที่เขาเริ่มหันมาสนใจชีววิทยาจากแรงบันดาลใจที่ได้จาก John Bernal และ Linus Pauling ต่อมาเริ่มหันมาทำวิจัยทางด้านโปรตีน ในปี ค.ศ. 1946 เขากลับไปที่ Cambridge University ที่ห้องปฏิบัติการ Cabvendish ทำงานวิจัยร่วมกับ Max Perutz ภายใต้คำแนะนำของ Lawrence Bragg เขาได้รับปริญญาเอกในปี ค.ศ. 1949
แหล่งที่มา
- Nobel Lectures in Chemistry 1942-1962, World Scientific Publishing, January 1999.
- https://nobelprize.org, accessed Feb 2019.
- https://en.wikipedia.org, accessed Feb 2019.
- ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร, โฟโทนิกส์ มหัศจรรย์แห่งแสง, นานมีบุ๊คพับลิเคชัน, กรุงเทพฯ, กุมภาพันธ์ 2549.
บทความที่เกี่ยวข้อง
- แสงกับรางวัลโนเบล ตอนที่ 31 | ค.ศ. 2014 สำหรับการประดิษฐ์หลอดแอลอีดีสีน้ำเงินที่นำไปสู่แหล่งกำเนิดแสงสีขาวที่มีประสิทธิภาพ
- แสงกับรางวัลโนเบล ตอนที่ 32 | ค.ศ. 2017 สำหรับความทุ่มเทและการมีส่วนสำคัญในการสร้าง LIGO และ การสังเกตพบคลื่นแรงโน้มถ่วง
- แสงกับรางวัลโนเบล ตอนที่ 33 | ค.ศ. 2018 สำหรับการค้นคิดคีมจับเชิงแสง และ วิธีการทำให้เลเซอร์พัลส์มีพลังงานสูงและมีความกว้างของพัลส์แคบลง
- แสงกับรางวัลโนเบล ตอนที่ 34 | ค.ศ. 1915 สำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรงควัตถุของพืชโดยเฉพาะคลอโรฟิลล์
- แสงกับรางวัลโนเบล ตอนที่ 35 | ค.ศ. 1936 สำหรับการศึกษาโครงสร้างของโมเลกุลด้วยโมเมนไดโพลและรังสีเอ็กซ์