หน้าแรก | กิตติกรรมประกาศ | วัตถุประสงค์ | บทคัดย่อ | ขั้นรวบรวมข้อมูล | ที่มาและความสำคัญ | อัตชีวประวัติสุนทรภู่ | ผลการศึกษา | สรุปผลการศึกษา | ทีมงาน
 
 
 
 
     
บ่ายประมาณโมงครึ่งก็ถึงวัด ออกแออัดผู้คนอยู่ล้นหลาม
ลงหยุดปลงไอยราริมอารามี่ สมภารตามเชิญเสด็จให้คลาไคล ...

 
ไฟตะเกียงเรียงรอบพระมณฑป   กระจ่างจบจันทร์แจ่มแอร่มผา
ดอกไม้พุ่มจุดงามอร่ามตา จับศิลาแลเลื่อมเป็นหลายราย ...
   

 
 
 
พี่กลัวตายชายชวนไปชมอื่น   ร่มระรื่นรุกขาขึ้นขนานี
ถึงบ่อหนึ่งมีน้ำคำบูราณี ว่าบ่อพรานล้างเนื้อที่ในไพร
พิเคราะห์น้ำสมคำบูราณกล่าว   ยังมีคาวเหม็นหืนจนคลื่นไส้
ถนอมหอนกลิ่นนุชเป็นสุดใจ   โอ้เป็นไรจึงไม่ติดอุรามา

สุนทรภู่มาถึงบ่อพรานล้างเนื้อก็มีอาการคลื่นไส้เพราะกลิ่มคาวเหม็นบ่อพรานล้างเนื้ออยู่ห่างจากวัดพระพุทธบาท 1 กิโลเมตร เชื่อกันว่าพรานบุญ ผู้ซึ่งค้นพบรอยพระพุทธบาท ได้เคยล้างเนื้อในบ่อนี้จึงมีผู้นับถือกันว่าเป็นเป็นบ่อน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่ง และในบริเวณใกล้เคียงกันยังมีบ่อปักหอก ซึ่งมีสภาพเป็นรูเล็ก ๆ ปรากฏอยู่บนหิน เชื่อกันว่าพรานบุญได้ใช้บ่อนี้เป็นที่ปักหอกไว้ บ่อน้ำนี้จะมีน้ำเต็มอยู่ตลอดเวลา มีผู้นับถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะชาวจีนซึ่งพากันเดินทางเพื่อจะได้น้ำในบ่อนี้ไปบริโภค
บ่อพรานล้างเนื้อ

บ่อพรานล้างเนื้อ เชื่อกันว่าพรานบุญล้างเนื้อในบ่อนี้

สำหรับประวัติพระพุทธบาทที่ควรกล่าวถึงดังนี้
“ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีพระภิกษุสงฆ์ชาวไทยคณะหนึ่ง พากันเดินทางไปยังลังกาทวีป ด้วยหวังจะสักการบูชาพระพุทธบาท ณ เขาสุมนกูฏ การไปคราวนั้นประจวบกับเป็นเวลาที่พระสงฆ์ชาวลังกาทวีปกำลังขวนขวายสอบสวนประวัติ และที่ตั้งแห่งรอยพระพุทธบาททั้งปวงตามที่ปรากฏอยู่ในตำนานว่ามีถึง 5 แห่ง ภายหลังสืบ ได้ความว่าภูเขาที่ชื่อว่า สุวรรณบรรพตมีอยู่ในสยามประเทศ ครั้นเมื่อได้พบกับพระภิกษุสงฆ์ชาวไทยในคราวนั้นต่างพากันสอบถามว่ารอยพระพุทธบาท ที่มีอยู่ 5 แห่ง ในสถานที่ต่าง ๆ กันนั้น ปรากฏว่ามีที่เขาสุวรรณบรรพตแห่ง 1 ก็ภูเขาลูกนี้อยู่ในประเทศไทยแท้ ๆ ไฉนจึงไม่พยายามสืบเสาะไปนมัสการ กลับพากันมาถึงลังกาทวีป เป็นการหมดเปลืองเวลาโดยใช่เหตุ เมื่อพระภิกษุสงฆ์ไทยคณะนั้นได้รับคำบอกเล่าดังนี้แล้ว กลับมาสู่ประเทศไทย จึงนำความขึ้นถวายพระพรแต่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตรงสั่งบรรดาหัวเมืองทั้งปวง ให้เที่ยวตรวจตราค้นดูตามภูเขาต่าง ๆ ว่าจะมีรอยพระพุทธบาทอยู่ ณ ที่แห่งใด
* บุญเลิศ เสนานนท์ นักภาษาโบราณ 7 ว.หอสมุดแห่งชาติ
ครั้งนั้น เจ้าเมืองสระบุรี สืบได้ความจากนายพรานบุญว่า ครั้งหนึ่งออกไปล่าเนื้อในป่าใกล้เชิงเขา ยิงถูกเนื้อตัวหนึ่งเจ็บลำบากหนีขึ้นไปบนไหล่เขา ซุกเข้าเชิงไม้หายไป พอบัดเดี๋ยวก็เห็นเนื้อตัวนั้น วิ่งออกจากเชิงไม้เป็นปกติอย่างเก่า นายพรานบุญนึกประหลาดใจ จึงตามขึ้นไปดูสถานที่บนไหล่เขาที่เนื้อหนีขึ้นไป ก็พบรอยปรากฏอยู่ในศิลา มีลักษณะเหมือนรูป รอยเท้าคน ขนาดยาวประมาณสักศอกเศษ และ ในรอยนั้นมีน้ำขังอยู่ด้วย นายพรานบุญเข้าใจ ว่าบาดแผลของเนื้อตัวที่ถูกตนยิง คงหายเพราะดื่มน้ำในรอยนั้น จึงวักน้ำลองเอามาทาตัวดู บรรดาโรคผิงหนังคือ กลากเกลื้อน ซึ่งเป็นเรื้อรังมาช้านานแล้ว ก็หายหมดสิ้น เจ้าเมืองสระบุรี จึงสอบสวนความจริงดู ก็ตรวจค้นพบรอยนั้น สมดังคำบอกเล่าของนายพรานบุญ จึงมีใบบอกแจ้งเรื่องเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา 
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไป ณ ที่เขานั้น ทอดพระเนตรเห็นรอยนั้นแล้ว จึงทรงพระราชวิจารณ์ตระหนักแน่นพระราชหฤทัยว่าคงเป็นรอยพระพุทธบาท เพราะมีลายลักษณ์กงจักร ประกอบด้วยอัฏฐุตตรสตมหามงคลร้อยแปดประการ ตรงกับเรื่องที่ชาวลังกาทวีปแจ้งเข้ามาด้วย เกิดพระราชศรัทธาปราโมทย์โสมนัสเป็นกำลัง โดยทรงพระราชดำริเห็นว่ารอยพระพุทธบาทย่อมจัดเป็นบริโภคเจดีย์แท้ เพราะเป็นพุทธบทวลัญช์อันเนื่องมาแต่พระพุทธองค์ ย่อมประเสริฐยิ่งกว่าอุเทสิกเจดีย์ เช่น พระพุทธรูป และพระสถูปเจดีย์ อันเป็นสิ่งที่สมมติสร้างกันขึ้น สมควรจะยกย่องบูชาเป็นพระมหาเจดียสถาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างก่อเป็นคฤหหลังน้อย สวมรอยพระพุทธบาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อนแล้ว ครั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับมายังราชธานี จึงทรงเริ่มงานสถาปนายก ที่พระพุทธบาทขึ้นเป็นเจดียสถานเป็นการใหญ่ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมณฑปยอดเดี่ยวสวมรอยพระพุทธบาทกำหนดเป็นพุทธเจดีย์ และสร้างอารามวัตถุอื่น ๆ เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ เสนาสนสงฆ์ เป็นต้น จัดเป็นสังฆาราม ให้เป็นที่สำหรับพระภิกษุอยู่แรมพรรษา”
คณะของพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ และสุนทรภู่ได้มากราบนมัสการพระพุทธบาทเป็นเวลา 4 วัน ก็เดินทางกลับโดยพรรณาไว้ในบทสุดท้ายว่า
 
“แต่รอยบาทอนุญาตไว้ยอดเขา   บุญของเราได้มาเห็นก็เย็นเศียร
บังคมคัลวันละสองเวลาเวียนี แต่จำเนียรนับไว้ได้สี่วัน
จอมนรินทร์เทวราชประภาษสั่ง   จะกลับยังอาวาสเกษมสันต์
วันรุ่งแรมสามค่ำเป็นสำคัญ   อภิวันท์ลาบาทพระชินวร”