กล้องจุลทรรศน์มิวอาย (MuEye)

Facebook
Twitter
กล้องจุลทรรศน์เป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่สำคัญในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทำให้มีการพัฒนาความสามารถของกล้องจุลทรรศน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกล้องจุลทรรศน์มีหลากหลายประเภท หลายราคาขึ้นกับจุดประสงค์การใช้งาน สำหรับภารกิจของ เนคเทค สวทช ในแง่มุมการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น การพัฒนาเครื่องมือแลบที่ซับซ้อน ราคาสูง มีขั้นตอนการบำรุงรักษาเยอะ หรือเข้าถึงยาก ให้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานง่าย ราคาตามกลุ่มเป้าหมาย สามารถใช้งานภาคสนามได้ดี หรือแม้กระทั่งมีความจูงใจให้เยาวชน สามารถเข้าใจในวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้น มีความสนุกและมีเจตคติที่ดีต่อการทำงานวิจัย ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายและจะมีประโยชน์ต่อการผลิตกำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ทีมวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้พัฒนากระบวนการผลิตเลนส์พอลิเมอร์ที่มีความทนทานต่อการขึ้นเชื้อรา กำลังขยายสูง เพื่อใช้งานกับกล้องของสมาร์ทโฟน ทำให้บุคคลทั่วไปได้มีโอกาสใช้งานกล้องจุลทรรศน์แบบพกพา เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับโรงเรียนหรือครูที่ไม่สามารถจัดซื้อหรือบำรุงรักษากล้องจุลทรรศน์ราคาแพงสำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ อีกทั้งกล้องสมาร์ทโฟนในปัจจุบันมีสมรรถนะสูง ความละเอียดสูงในราคาถูกกว่าระบบบันทึกภาพที่ใช้เชื่อมต่อกับกล้องจุลทรรศน์ ทำให้โดยรวมแล้ว กล้องจุลทรรศน์มิวอายสามารถตอบโจทย์การใช้งานในโรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาในประเทศไทยได้ดี การผลิตเลนส์พอลิเมอร์ด้วยกระบวนการนี้ได้รับการผลิตและจัดจำหน่ายไปแล้วกว่า 6,000 ชุดกล้องจุลทรรศน์ คิดเป็น 18,000 ชิ้นเลนส์ อีกทั้งทีมวิจัยได้พัฒนาเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขข้อจำกัดในการใช้งานเลนส์ที่มีขนาดเล็ก และโปรแกรมถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟนที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้งานเป็นกล้องจุลทรรศน์เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับประโยชน์สูงสุด

ในปี 2562 ทีมวิจัยได้นำร่องการใช้งานกล้องจุลทรรศน์มิวอายโรโบคิดในโรงเรียนกว่า 250 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสใช้งาน programmable microscope โดยการสั่งการผ่านบอร์ดคิดไบร์ท ( https://www.kid-bright.org) หรือสั่งการด้วยแอพพลิเคชั่นมิวอายผ่านคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้สามารถสั่งการหาระยะโฟกัสอัตโนมัติ และควบคุมการถ่ายภาพมุมกว้างได้ (image stitching function) อันจะเป็นประโยชน์ในการเรียนการสอนในโรงเรียน และการทำโครงงานเพื่อเสริมสร้างทักษะการทำงานวิจัย สอดคล้องกับระบบ STEM Education ที่เน้นการลงมือปฏิบัติของผู้เรียน

Cinque Terre

 

 มิวอายโรโบคิด 

แผนที่แสดงชื่อโรงเรียนที่มีมิวอายโรโบคิดใช้งาน ผ่านการร่วมกิจกรรม (คลิกเพื่อดูแผนที่ขนาดใหญ่)

  1. โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม(FABLAB)
  2. โครงการครูไทย 4.0 ประชันสื่อสร้างสรรค์สอน STEM (KruKid)

การจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์โดยใช้ต้นแบบจากงานวิจัยของทีมวิจัยเทคโนโลยีโฟโนนิกส์ เนคเทค (จัดกิจกรรมโดยเนคเทค และศูนย์หนังสือ สวทช)