พลังของข้อมูล สู่นโยบายขับเคลื่อนประเทศ กับการอบรมการใช้งาน TPMAP ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า

Facebook
Twitter

 

 
tpmap-policy-workshop
เรื่อง | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
ภาพ | กรรวี แก้วมูล

เนคเทคจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การใช้งานระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) เพื่อการวิเคราะห์เชิงนโยบาย” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบายมีความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นในการใช้ประโยชน์และวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบ TPMAP เพื่อการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต การพัฒนาเชิงสังคม รวมทั้งการแก้ไขความยากจนและเหลื่อมล้ำได้อย่างบูรณาการต่อไป เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 63 ณ ห้อง Auditorium บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

tpmap-policy-workshop
ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเปิดการอบรมฯ ว่า

“ประเทศไทยต้องขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยมี “TPMAP” เป็นจุดเริ่มต้น ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาแห่งการทำงานอย่างทุ่มเทของเนคเทค-สวทช. และขับเคลื่อนโดยสภาพัฒน์ฯ สิ่งที่เรากล่าวเสมอมา คือ ในวันนี้ประเทศไทยสามารถรู้ได้ว่ากลุ่มคนเปราะบางอยู่ที่ไหน การพัฒนาคนไทยคนใดคนหนึ่งต้องการอะไรบ้าง สะท้อนถึง “พลังของข้อมูล” และในอนาคตหวังเป็นอย่างยิ่งว่า TPMAP จะครอบคลุมข้อมูลของคนไทยครบทุกคนทุกมิติจากการบูรณาการข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น สู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติโดยมีเป้าหมายร่วมกันได้อย่างแท้จริง”

การขับเคลื่อนประเทศด้วยข้อมูล

tpmap-policy-workshop
ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร รักษาการรองผู้อำนวยการเนคเทค – สวทช. กับการบรรยายในหัวข้อ “Thailand as a data-driven country”

โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการขับเคลื่อนองค์กรและประเทศไทยด้วยข้อมูลต้องคำนึงถึงแหล่งที่มาและรูปแบบข้อมูล เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล การเก็บข้อมูลในที่ที่เหมาะสม พร้อมด้วยการมีนโยบายและแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยไม่ขัดขวางกฎหมายและระเบียบ พร้อมกันนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน สู่การขับเคลื่อนองค์กรและประเทศด้วยข้อมูล

พร้อมยกตัวอย่างงานวิจัยด้านการใช้ข้อมูลขับเคลื่อนการทำงานขององค์กรและประเทศ เช่น ระบบตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน 14 เขื่อนทั่วประเทศ | eMENSCR ระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ | Thai School Lunch ข้อมูลโครงการอาหารกลางวันเพื่อวิเคราะห์สำรับอาหารกลางวันของนักเรียนและช่วยบริหารจัดการงบประมาณอาหารกลางวัน | ระบบวิเคราะห์เชื่อมโยงข้อมูลความมั่นคง ที่เชื่อมโยงข้อมูลหลักฐานต่อเหตุการณ์ หรือ บุคคล | Argri-Map แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก | การบูรณาการข้อมูลสถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นต้น

“การขับเคลื่อนประเทศด้วยข้อมูลเราไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ ขอให้ตั้งต้นจากข้อมูลที่มีอยู่ และเกิดการบูรณาการสู่ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และทันสมัย นำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลสร้างนโยบายการแก้ปัญหาต่อไป” ดร.ศรัณย์ กล่าวทิ้งท้าย
tpmap-policy-workshop

TPMAP กับก้าวสู่การเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการวิเคราะห์คุณภาพชีวิตและการพัฒนาคน

tpmap-policy-workshop
ดร.สุทธิพงศ์ ธัชยพงษ์ หัวหน้าทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (SAI) เนคเทค – สวทช. กับการบรรยายในหัวข้อ “TPMAP กับก้าวสู่การเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการวิเคราะห์คุณภาพชีวิตและการพัฒนาคน”

โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของ TPMAP ตั้งแต่การตั้งโจทย์ตอบ 3 คำถามเกี่ยวกับกลุ่มคนเปราะบาง คือ อยู่ที่ไหน มีปัญหาอะไร และจะช่วยเหลืออย่างไร เพื่อนำไปสู่นโยบายแก้ปัญหาที่ตรงประเด็น ปฏิบัติและติดตามผลได้ โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ฐานข้อมูลจปฐ. ฐานข้อมูลกระทรวงการคลัง สู่การบูรณาการและวิเคราะห์ข้อมูล และแสดงผลแบบ Data Storytelling บน www.tpmap.in.th ให้ทุกคนเข้าถึงได้

หลังจากที่ TPMAP ได้ขับเคลื่อนสู่การใช้จริงในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศส่งผลให้เกิดการพัฒนา TPMAP Logbook แฟ้มบ้านพัฒนาคนไทย เพื่อสามารถติดตามปัญหาความยากจนได้อย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการข้อมูลเพิ่มขึ้นลงลึกถึงครัวเรือนรายบุคคล สามารถบันทึกข้อมูลปัญหาได้อย่างละเอียด พร้อมบันทึกกิจกรรมการให้ความช่วยเหลือ และออกรายงานการติดตามผลได้ และได้ขยายผลใช้จริงพร้อมอบรมการใช้งานระบบ TPMAP ทั่วประเทศเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน TPMAP ใช้งานจริงใน 71 จังหวัดทั่วประเทศ เกิดหลากหลายโครงการที่แต่ละจังหวัดนำ TPMAP ไปใช้ เช่น โครงการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม กิจกรรมพัฒนาอาชีพและรายได้ของคนยากจน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่า 6,600 ครัวเรือน | โครงการคู่เสี่ยว เกี่ยวก้อย แก้จน คนขอนแก่น | โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือนแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ภายใต้โครงการพัฒนากระบวนการแก้ไขปัญหาความยากจน | โครงการหมู่บ้านคชานุรักษ์ | โครงการความร่วมมือแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการระหว่างกรมพัฒนาชุมชน กับ ปอเต๊กตึ๊ง เป็นต้น

“เราพยายามทำให้ TPMAP สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยทุกท่านทุกหน่วยงานเป็นส่วนสำคัญในการนำข้อมูล จาก TPMAP ไปใช้ สู่การสร้างนโยบายปฏิบัติจริงเพื่อลงไปช่วยเหลือพัฒนาคนไทยแบบตรงเป้าต่อไป” ดร.สุทธิพงศ์ กล่าว
tpmap-policy-workshop
ดร.อานนท์ แปลงประสพโชค นักวิจัย ทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (SAI) เนคเทค – สวทช. ได้เล่าถึงภาพรวมของฐานข้อมูล TPMAP กรณีศึกษาการใช้งานจริง และภาพอนาคตของ TPMAP
tpmap-policy-workshop

โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับภาพรวมของฐานข้อมูลของระบบ TPMAP ที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลสำรวจและฐานข้อมูลทะเบียนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันซึ่งมีศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อออกนโยบายได้หลากหลาย อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามที่มาพร้อมกับจินตนาการและสมมุติฐาน โดย TPMAP มีเครื่องมือที่สนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นได้ นอกจากนี้ดร.อานนท์ ยังกล่าวถึง Framework การวิเคราะห์ข้อมูลประชากร ในกรณีศึกษาเรื่องการช่วยเหลือกลุ่มประชากรที่หลากหลายระหว่างวิกฤติ COVID-19 และประมาณการติดเชื้อ COVID-19 ด้วยข้อมูลจปฐ. อีกด้วย

“การวิเคราะห์หรือการบูรณาการข้อมูลต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนก่อน นำไปสู่การค้นหากระบวนการทำ มองความพร้อมของข้อมูล และเครื่องมือที่เหมาะสม ก่อนลงมือปฏิบัติจริง อย่างไรก็ตามข้อมูลอาจมีความผิดพลาดขัดแย้งในตัวเองหรือข้ามฐานข้อมูล ซึ่งอาจเกิดจากกระบวนการบันทึกข้อมูล โดยการนำข้อมูลไปใช้จริงจะทำให้เกิดการเรียนรู้ ตรวจสอบ ยืนยัน และทำให้เกิดกระบวนการเก็บข้อมูลที่ดีขึ้น สำหรับอนาคตของ TPMAP ขอฝากเอาไว้ในมือนักนโยบายทุกท่านที่จะนำข้อมูลจาก TPMAP ไปใช้สร้างนโยบายโดยมีฐานที่มาจากข้อมูล” ดร.อานนท์ กล่าว
tpmap-policy-workshop

สร้างนโยบายจากข้อมูลจริง | Data Driven Evidence Based Policy

การอบรมฯ ในช่วงบ่าย ผู้เข้าร่วมการอบรมฯ ทุกท่านได้ลงมือสร้างนโยบายโดยมีฐานจากข้อมูลจริงจากระบบ TPMAP ในหัวข้อ “Data Driven Evidence Based Policy” โดย คุณชัชวาล สังคีตตระการ นักวิจัย ทีมวิจัยการเข้าใจเสียงและข้อความ (STU) เนคเทค – สวทช.

tpmap-policy-workshop

โดยผู้เข้าร่วมการอบรมฯ ได้แบ่งกลุ่มและช่วยกันสร้างนโยบายที่สอดคล้องกับหน่วยงานของตนพร้อมการนำเสนอผลงานและอธิบายที่มาที่ไปของปัญหาและข้อมูลที่ทำมาใช้เป็นฐานสร้างนโยบายของแต่ละกลุ่ม นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัล popular vote และขวัญใจทีมงานสร้างบรรยากาศที่สนุกสนานสำหรับการอบรมฯ ในช่วงท้าย

tpmap-policy-workshop

โดยการอบรมฯในครั้งนี้มีหน่วยงานร่วมการอบรมทั้งสิ้น 12 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานธนานุเคราะห์ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

บทความที่เกี่ยวข้อง