โครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ได้รับพระราชทานรางวัลโครงการดีเด่นของชาติ พ.ศ.๒๕๕๖ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

Facebook
Twitter
reward1

 

ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานรางวัลเกียรติบัตร และเข็มเชิดชูเกียรติจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี แทนพระองค์ ในวันอังคารที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ศาลาดุสิดาลัยสวนจิตรลดา จากผลงาน “โครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย” ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับพระราชทานรางวัลโครงการดีเด่นของชาติ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี ดร.กว้าน สีตะธนี ร.ผศอ. คุณกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผช.ผพว. ดร.กัลยา อุดมวิทิต ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารและสนับสนุนงานวิจัย และคุณเจษฎา จงสุขวรากุล หัวหน้างานพัฒนาวิชาชีพและเยาวชนไอที ร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ

คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกบุคคล หน่วยงาน และโครงการดีเด่นของชาติ ได้คัดเลือกบุคคล หน่วยงานและโครงการที่ทำคุณประโยชน์เป็นที่ประจักษ์ต่อประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาประกาศยกย่องให้เป็นผลงานดีเด่นของชาติ ผลงานของผู้ได้รับรางวัลนี้จะเป็นแบบอย่างต่อสังคม และประเทศชาติซึ่งผู้ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่านี้ จะได้รับเกียรติอันสูงสุด โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานรางวัลเกียรติบัตร และเข็มเชิดชูเกียรติจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้รับโล่เกียรติคุณนายกรัฐมนตรี

reward1

 

ในปี ๒๕๕๖ มีบุคคล หน่วยงาน และโครงการดีเด่นของชาติที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน ๑๑ ราย ซึ่งบุคคล ผู้แทนหน่วยงาน และผู้แทนโครงการดีเด่นของชาติจะเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี แทนพระองค์ เพื่อรับพระราชทานรางวัลเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติทองคำ ในวันอังคารที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ศาลาดุสิดาลัยสวนจิตรลดา และในวันพุธที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๘.๐๐ น. ผู้ได้รับรางวัลผลงานดีเด่นของชาติ ทั้ง ๑๑ ราย จะเข้ารับโล่เกียรติคุณนายกรัฐมนตรี ในงานประกาศเกียรติคุณบุคคล หน่วยงานและโครงการดีเด่นของชาติ ประจำพุทธศักราช ๒๕๕๖ ณ อาคารถกลพระเกียรติ สวนหลวง ร.๙ กรุงเทพมหานคร โครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติโครงการดีเด่นของชาติ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยเริ่มโครงการเมื่อปี ๒๕๓๗ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้เล็งเห็นว่าคอมพิวเตอร์มีบทบาทสำคัญมากในชีวิตประจำวัน เพื่อกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ได้พัฒนาทักษะในการเขียนโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ เป็นการช่วยสร้างนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีความสามารถสูงให้กับวงการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไทย โครงการนี้ถือได้ว่าเป็นเวทีการประกวดซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เพื่อสร้างโอกาสให้กับเยาวชนไทยอย่างต่อเนื่องมานานถึง ๒๐ ปี

reward1

 

 

รายละเอียดโครงการ

โครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย
The National Software Contest: NSC
เว็บไซต์ (Website) https://www.nectec.or.th/nsc/

ผู้รับผิดชอบโครงการ

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

คอมพิวเตอร์มีบทบาทสำคัญมากในชีวิตประจำวันและนับวันยิ่งมีบทบาทยิ่งขึ้นในทุกขณะ การพัฒนาทักษะในการเขียนโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์นั้น ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ แต่การผลิตบุคลากรที่จะมาพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้เพียงพอนั้น จำต้องอาศัยบุคลากรจำนวนมากเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศ จากความจำเป็นดังกล่าว ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ จึงได้จัดทำโครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาได้มีโอกาสพัฒนาทักษะการพัฒนาซอฟต์แวร์และนำเอาความรู้ที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยสนับสนุนเงินทุนเพื่อเป็นแรงจูงใจและกระตุ้นให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาทำการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วยตนเองและเปิดโอกาสให้มีการประกวดแข่งขันชิงเงินรางวัลในระดับประเทศ อันจะเป็นการสร้างเวทีสำหรับเยาวชนและผู้ที่สนใจในการพัฒนาความรู้สู่การเป็นนักวิจัยระดับอาชีพต่อไป

โครงการนี้ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ภายใต้ชื่อ “โครงการสนับสนุนการพัฒนาซอฟต์แวร์ขนาดเล็ก” ในระยะแรกดำเนินโครงการโดยการให้ทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ในระดับนักเรียนและนักศึกษา โดยเน้นโครงการที่มีนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์และสามารถประยุกต์ใช้งานจริงได้ ซึ่งได้รับความสนใจมีผู้ส่งผลงานการพัฒนาซอฟต์แวร์เข้าร่วมประกวดเพิ่มขึ้นทุกปี โดยข้อเสนอและผลงานโครงการจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเยาวชนจะได้รับการพัฒนาทักษะโปรแกรมคอมพิวเตอร์และการบริหารจัดการโครงการ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินโครงการโดยจัดให้มีเวทีการแข่งขันในระดับประเทศเพื่อสรรหาผลงานดีเด่นในระดับชาติ และเปลี่ยนชื่อเป็น “การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest – NSC)” ซึ่งผู้ชนะเลิศในแต่ละประเภทจะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นับแต่เริ่มดำเนินโครงการจนถึงปัจจุบัน มีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนไปแล้วทั้งสิ้นรวม ๗,๗๗๗ โครงการ ทั้งนี้จากจำนวนข้อเสนอโครงการที่นักเรียน นิสิต และนักศึกษาส่งเข้ามาร่วมในโครงการรวม ๑๕,๕๐๖ ข้อเสนอโครงการ จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศจำนวนกว่า ๑๕๐ สถาบัน

reward1

 

เพื่อให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผลยิ่งขึ้น และเพื่อกระจายโอกาสไปยังเยาวชนในส่วนภูมิภาค ศูนย์ฯ จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาค จัดตั้งศูนย์ประสานงานของโครงการระดับภูมิภาคขึ้น ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๔๔ เพื่อช่วยดำเนินการและประสานงานในโครงการ ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ การมอบทุน การพิจารณาโครงการ รวมทั้งการสนับสนุนทางด้านเทคนิค การฝึกอบรมระยะสั้น จำนวน ๖ ภูมิภาค ได้แก่

  • ภาคเหนือ: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น
  • ภาคใต้: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา
  • ภาคตะวันออก: มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี
  • ภาคตะวันตก: มหาวิทยาลัยศิลปากร จ.นครปฐม
  • ภาคกลาง: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จ.ปทุมธานี

การดำเนินงานโครงการที่ผ่านมา ศูนย์ฯ พบว่า จำนวนโครงการที่ส่งเข้าประกวดมากขึ้นทุกๆ ปี และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ข้อเสนอโครงการมีความหลากหลาย จึงมีความจำเป็นในการสรรหาผู้ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญ เพื่อเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการให้พอเพียงเพื่อให้โครงการดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพ และได้มีการกำหนดหัวข้อในการสนับสนุนไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการนำผลงานไปประยุกต์ใช้ และ/หรือเผยแพร่ตามเป้าหมายของโครงการ นอกจากนี้ยังคำนึงถึงเทคโนโลยีที่อยู่ในกระแสความนิยมเพื่อทำให้การแข่งขันเป็นไปด้วยความเข้มข้นยิ่งขึ้น ตลอดการดำเนินงานที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าแนวทางการสนับสนุนโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ศูนย์ฯ ได้ดำเนินการมาแล้วนั้นประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากปริมาณข้อเสนอโครงการที่เสนอเข้ามาเพื่อขอรับทุนเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี คุณภาพโครงการที่ผ่านการพิจารณามีการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับหัวข้อที่ศูนย์ฯ มุ่งเน้นและกระตุ้นให้เกิดการคิดในเชิงสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ หน่วยงานภายนอกทั้งทางภาครัฐและเอกชน ได้ให้ความสนใจและยินดีเข้าร่วมในสนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่อง โครงการนี้นับว่ามีส่วนสำคัญยิ่งในการผลักดันและยกระดับผลงานเยาวชนให้ปรากฏสู่สาธารณชนและสู่ภาคเอกชน เป็นการริเริ่มและกระตุ้นให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตระหนักและเห็นคุณค่าของการพัฒนาซอฟต์แวร์ รวมถึงกระตุ้นให้กลุ่มเยาวชนที่เป็นฐานกำลังในการพัฒนาของประเทศสร้างเสริมทักษะการเรียนรู้คอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ นอกจากนี้ยังเป็นตัวกลางในการสร้างเวทีสำหรับผู้ที่สนใจในงานการพัฒนาซอฟต์แวร์ อันจะเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งต่อการสร้างนักวิจัยและการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป

reward1

 

นอกจากนั้น ในปีพ.ศ. ๒๕๔๖ ศูนย์ฯ ได้ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย ส่งผลงานซอฟต์แวร์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเข้าร่วมการประกวดในงาน Asia Pacific ICT Alliance Awards (APICTA) ในประเภทนักเรียน และนิสิต นักศึกษา ซึ่งงาน APICTA นี้ เป็นการประกวดผลงานด้านซอฟต์แวร์ในด้านต่างๆ สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมด้านไอซีทีของประเทศในภูมิภาค เปิดโอกาสให้มีการนำเสนอผลงานซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ และศักยภาพทางธุรกิจและการตลาดจากผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญ ภาคการศึกษา และนักเรียน นิสิต นักศึกษา โดยประเทศในภูมิภาคผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ โดยเยาวชนสามารถคว้ารางวัลจากเวทีระดับนานาชาติดังกล่าว ตลอดจนเวทีการแข่งขันอื่นๆ และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องทุกปี ถือได้ว่า โครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ได้เฟ้นหา บ่มเพาะ และสร้างสรรค์โอกาสให้กับเยาวชนไทยในการพัฒนาผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่องเกือบ ๒ ทศวรรษ