หลักการและเหตุผล

เขียนโดย: sittichai เมื่อ: จ. 17 ก.พ. 2563 - 15.45 น.

          ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต คือเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ ซึ่งกำลังมีบทบาทอย่างกว้างขวางในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การบริการ สังคม สิ่งแวดล้อมไปจนถึงด้านการศึกษา จึงนับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีนำสมัยที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน เพราะเทคโนโลยีสารสนเทศ คือ กุญแจสำคัญที่ไขไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพตามความต้องการของประเทศ
          ตามที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Manpower) เผยภาพรวมของประเทศไทย ในปี 2560 มีการจ้างงานผู้ทํางานด้าน ICT ทั่วประเทศรวม 268,065 คน (อัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 6) โดยส่วนใหญ่เป็นช่างเทคนิคด้าน ICT (35%) นักวิชาชีพ ICT (31%) และผู้จัดการ ขาย ฝึกอบรม ให้บริการและติดตั้ง (25%)
          ประเทศไทยมีคนที่จบสาขาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 570,000 คน แต่สัดส่วนของผู้ที่ทํางานด้าน ICT มีเพียงร้อยละ 15.3 ไม่ทํางานด้าน ICT ร้อยละ 81.3 และว่างงานร้อยละ 3.3 สวนทางความต้องการภาคธุรกิจ นอกจากนี้ในปี 2560 มีคนจบปริญญาตรี สาขาคอมพิวเตอร์เกือบ 20,000 คน แต่ว่างงานถึง 7,000 คน ซึ่งสวนทางจากความต้องการแรงงานด้านดิจิทัลที่มีประมาณ 14,000 คน ปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการขาดกำลังคนด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ แม้ในแต่ละปีจะมีคนที่จบสาขาอาชีพนี้เป็นจำนวนมากก็ตาม
          ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เล็งเห็นถึงปัญหาความต้องการกำลังคนทางด้านดิจิทัล ประกอบกับมีความต้องการบุคลากรในการช่วยปฏิบัติงานวิจัย จึงเสนอให้มีการรับนักศึกษาเข้ามาทดลองปฏิบัติงาน ตามรายวิชาสหกิจศึกษาเพื่อพัฒนาให้นักศึกษาสาขาที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ได้รับประสบการณ์การทำงานทางด้านคอมพิวเตอร์ในรูปแบบต่างๆ และสามารถพัฒนามาเป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัย (Non Co-researcher: NCR) ได้ในอนาคต