AI & Big Data โอกาสและความท้าทายใหม่ เพิ่มศักภายภาพผู้ประกอบการไทย สู่ Industry 4.0

Facebook
Twitter
10 พ.ค. 66 สวทช. โดย อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ บริษัท ดิจิทัลสโตร์เมช จำกัด จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “ปัญญาประดิษฐ์ และข้อมูลขนาดใหญ่ สำหรับอุตสาหกรรม 4.0” ในงาน INTERMACH 2023 เพื่อให้ความรู้ แลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทย ได้เห็นถึงที่มาความสำคัญ และแนวโน้มของเทคโนโลยี AI&Big Data ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อตลาดและการดำเนินธุรกิจ พร้อมวิเคราะห์เจาะลึกให้เห็นถึงภาพรวมสถานการณ์ตลาดในประเทศไทยที่เป็นอุปสรรคของผู้ประกอบการ รวมถึงชี้เป้าในการตั้งรับ เร่งปรับตัวให้ทันต่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI&Big Data ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการวิเคราะห์ข้อมูล วางแผนการดำเนินธุรกิจได้อย่างเหมาะสม ที่จะเป็นโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ สร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค สวทช. และอุปนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ผศ.ดร.วสิศ ลิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.อัครวุฒิ ตาคม อาจารย์ประจำวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ.ดร.วสิศ ลิ้มประเสริฐ ได้เล่าถึง สถานการณ์และความท้าทายของธุรกิจไทยในปัจจุบันที่ต้องเผชิญการแข่งขันและต้นทุนกับสินค้าจากประเทศจีน อีกทั้ง e-commerce รายใหญ่ของประเทศเริ่มขาดทุน และทยอยถอนทุนคืนผ่านการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้แพลตฟอร์มกับเจ้าของธุรกิจมากขึ้น รวมถึงการแข่งขันกับรูปแบบธุรกิจและการขนส่งแบบใหม่ ๆ เช่น Direct to consumer (D2C) ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก หรือ Ondemand Commerce การขนส่งอย่างรวดเร็วภายในพื้นที่ โดยคนในพื้นที่ สำหรับด้านเทคโนโลยี SMC ไทยส่วนใหญ่ยังขาดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการผลิตและดำเนินการ อย่างไรก็ตามการจะลงทุนเทคโนโลยีเข้ามาในธุรกิจ SME ไทยก็ยังต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่สูงสำหรับแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยังมีข้อจำกัดและข้อกังวลเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของแพลตฟอร์ม โดย ผศ.ดร.วสิศ ได้แนะนำเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ธุรกิจควรนำมาปรับใช้ เช่น ERP หรือ Enterprise Resource Planning ซอฟต์แวร์และระบบที่ใช้ในการวางแผนจัดการห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด โดยควรเลือก ERP ที่สามารถสื่อสารกับระบบนิเวศของไทยได้
ด้าน ดร.อัครวุฒิ ตาคม กล่าวว่า ในโลกธุรกิจความเข้าใจลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญ โดยลูกค้ามีคอนเทนต์หลากหลาย อาจเรียกว่า โดเมน หนึ่งโดเมนสามารถขยายไปได้อีกหลายแขนง ดังนั้น การผนวกเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั้งในศาสตร์ Machine Learning และ Deep Leraning รวมถึงข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาสร้างกราฟความรู้ Knowledge Graph จึงสำคัญ เพราะ องค์ความรู้ใหม่ๆเกิดขึ้นมหาศาลและรวดเร็วเช่นเดียวกับจำนวนคู่แข่งในภาคธุรกิจ ดังนั้นฐานความรู้หรือแหล่งข้อมูลที่สำคัญ หรือ ที่เรียกว่า Knowledge Graph จะทำให้ธุรกิจสามารถเกาะไปกับกระแสไม่ตกขบวนความก้าวหน้าของโลกได้ โดยผู้ประกอบการจะต้องเตรียมแผนรับมือโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการลงทุน รวมถึงเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ตอบโจทย์กับธุรกิจหรือไม่อย่างไร
ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ได้เล่าถึง งานวิจัยด้าน Natural Language Processing หรือ NLP ซึ่งเป็นหนึ่งในงานวิจัยด้าน AI ที่เนคเทค สวทช. ให้ความสำคัญ เนื่องจากภาษาเป็นองค์ประกอบสำคัญการสื่อสารของมนุษย์ โดยได้ยกตัวอย่างผลงาน เช่น Questions Answering, Text Summarization, Image Captioning, Machine Translation, Conversational Agents, Chatbots เป็นต้น โดยเนคเทค สวทช. ได้รวบรวมผลงานด้าน AI ในแพลตฟอร์ม AI for Thai เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงและใช้งาน โดยได้ยกตัวอย่าง Generative AI ที่กำลังมีบทบาทกับตลาดโลกในปัจจุบัน โดยสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง เช่น งานศิลปะ งานเขียน โฆษณา บทเพลง ไปจนถึงการสร้างกระบวนการ แผนงานต่าง ๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้กับธุรกิจต้องคำนึงถึงโจทย์ของธุรกิจให้ชัด ความโดดเด่นแตกต่างของธุรกิจ รวมถึงระบบการสะสมจัดเก็บข้อมูลในบริษัท

โดยในช่วงท้ายของการสัมมนาได้มีการสาธิต (Demo) InnovateTH เทคโนโลยีล่าสุดในการประมวลผลข้อมูลที่ถูกพัฒนามาเพื่อส่งเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจด้วยเครื่องมือวิเคราะห์เทรนด์ตลาดและค้นหาไอเดียใหม่ ๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมและความได้เปรียบทางธุรกิจอีกด้วย