รับรอง มาตรฐานไทย หนุนผู้ผลิตสู่เจ้าเทคโนฯ
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

โดยทั่วไปแล้ว คำว่า มาตรฐานโลก คนทั่วไปย่อมเข้าใจตรงกันว่า เป็นที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลก ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมานั้นสามารถส่งออกไปจำหน่ายได้ทั่วโลก เช่น มาตรฐานไอเอสโอ ขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Standards Organization)
ขณะที่ประเทศต่างๆ ก็มีมาตรฐานของประเทศตัวเอง เช่น มาตรฐานแอนซี (American National Standard Institute – ANSI) ของสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของสหรัฐ ที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ ทุกคนน่าจะเคยผ่านหูผ่านตามมาตรฐานสินค้าอื่นๆ เช่น CE (European Conformity) เครื่องหมายรับรองจาก ผู้ผลิต FCC (Federal Communications Commission) หรือคณะกรรมการกลางกำกับ ดูแลกิจการสื่อสาร ตัวแทนรัฐบาลสหรัฐ เป็นต้น

นายกมล เอื้อชินกุล หัวหน้างานรับรองคุณภาพบริภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (ECEC) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ทำความเข้าใจใหม่ว่า มาตรฐานโลกคือ มาตรฐานขั้นต่ำที่สุดที่ทั่วโลกยอมรับกันในหมู่ประเทศสมาชิก 140 กว่าประเทศ และประเทศต่างๆ ยังสร้างมาตรฐานของประเทศตัวเองขึ้นมารองรับการใช้งานในประเทศอีกด้วย
เนื่องจากค่ามาตรฐานโลกบางอย่าง อาจไม่สอดคล้องกับสถานะ สภาพแวดล้อม การอยู่อาศัยของบางประเทศ เช่น ประเทศแถบหนาวยุโรป สหรัฐ พื้นบ้านปูพรม ค่าการรั่วของไฟฟ้าจากเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์จะมีสูงกว่าประเทศแถบร้อน พื้นบ้าน หรืออาคารไม่มีฉนวนกันไฟ สินค้าที่ผ่านมาตรฐานโลกจึงอาจใช้ไม่ได้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของบางประเทศ

ดังจะเห็นได้ว่า มาตรฐานโลกบางข้อ จะต้องมีบางประเทศที่มีอำนาจต่อรองสงวนค่าที่เหมาะสมของประเทศตัวเอง
การจะปรับตัวให้เป็นเจ้าเทคโนโลยี ทำไม่ได้ หากไม่มีมาตรฐานของประเทศ แต่อุปสรรคของการสร้างมาตรฐานประเทศ อยู่ที่การยอมรับ ของผู้ซื้อ ผู้ใช้ และมาตรการของรัฐที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ใช้มาตรฐานประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยจะมีค่านิยมที่ผิด โดยคิดว่าไม่ต้องทำมาตรฐานของตัวเอง คิดว่ามาตรฐานของต่างประเทศดีกว่า ของไทย หากผ่านมาตรฐานต่างประเทศต้อง จ่ายแพงเป็น”สิบล้าน”บาทก็จ่ายได้ แต่ถ้าจ้างคนไทยทำราคา”สิบหมื่น”บาทกลับยอมไม่ได้ แม้เคยมีอยู่ช่วงหนึ่งที่รัฐบาลพยายามสร้างให้เกิดมาตรฐานไทย แต่ก็ถูกผู้ผลิตระดับโลกใช้กลไกกดดัน หรือชั้นเชิงทางธุรกิจบีบให้ใช้เฉพาะมาตรฐานสากล “อุปสรรคของการสร้างมาตรฐานขึ้นมานั้น จะมีผลิตภัณฑ์ระดับโลกใช้กลยุทธ์สกัด เช่น กรณีไทยเคยออกกฎหมายการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของรัฐต้องมีมาตรฐาน มอก. แต่แบรนด์โลกวิ่งเต้นว่า ขัดหลักดับบลิวทีโอ หากไม่เปลี่ยนเงื่อนไขจะตัดสิทธิอื่นๆ ทั้งยังไปพูดว่ามาตรฐาน N ของไทยไม่ดีจริง ระบบตรวจสอบไม่ทำตามมาตรฐานสากล”

นายกมล ยืนยันว่า มาตรฐานเนคเทคเป็นมาตรฐานที่ปรับปรุงมาเทียบเท่าสากล และ ให้บริการด้วยค่าใช้จ่าย 4-5 หมื่นบาท ถึงหลัก ล้านบาทขึ้นกับทดสอบอะไร ส่วนมาตรฐานต่างประเทศราคาเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท
หน่วยงานรับรองคุณภาพ สังกัดเนคเทคแห่งนี้ ให้บริการรับรองต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ หรือบริภัณฑ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบเชิงหน้าที่ บริภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน บริภัณฑ์ส่องสว่าง ระบบเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งระบบหลังนี้เป็นลูกค้าหลักในปัจจุบัน
“มาตรฐานโลก คือ มาตรฐานขั้นต่ำที่สุดที่ทั่วโลกยอมรับร่วมกัน”