หลักการและเหตุผล

เขียนโดย: sittichai เมื่อ: ศ. 25 ต.ค. 2562 - 15.50 น.

          ตามที่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) มีโครงการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรุ่นเยาว์ซึ่งดำเนินการขึ้นสืบเนื่องจากโครงการสำคัญ 2 โครงการของทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ชื่อเดิมของ อว.) คือ FabLab และ KidBright ซึ่งเกิดขึ้นตามแนวคิด Big Rock ของรัฐบาลในปี 2561 นั้น โดยรัฐบาลได้มอบให้ สวทช. เป็นเจ้าภาพในการประสานงานและมอบเครื่องมือวิทยาศาสตร์สำหรับใช้ในห้องปฎิบัติการเชิงวิศวกรรม อาทิ เครื่องตัดเลเซอร์เครื่องพิมพ์สามมิติ รวมทั้งบอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright ที่เนคเทคพัฒนาขึ้น ให้แก่โรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ
          จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว สวทช. มีความตั้งใจจะส่งเสริมให้เกิดการใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ ทางวิศวกรรมและบอร์ดสมองกลฝังตัว ที่ได้มอบให้โรงเรียนต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะทางวิศวกรรมและทักษะด้านโค้ดดิ้ง (Coding) ในกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา อีกทั้งนักเรียน/นักศึกษาและครู สามารถนำครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ นั้นไปประยุกน์ใช้ เพื่อเป็นตัวช่วยในการสร้างหรือพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์/ส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ สำหรับชุมชนโดยเยาวชนในท้องถิ่นอีกด้วย
          ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา สวทช. ได้มีโอกาสร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดอบรมบอร์ดสมองกลฝังตัว และเทคโนโลยี IoT ให้แก่นักเรียน/นักศึกษาและครู ในสังกัดอาชีวศึกษาจำนวน 180 แห่ง รวมทั้งกลุ่มโรงเรียนอาชีวศึกษาในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาที่สำคัญของรัฐบาลดังนั้น สวทช.และ สอศ. จึงได้เห็นพ้องกันว่าควรจัดให้มี โครงการพรวนฝันนวัตกรรุ่นเยาว์สู่ชุมชน (Young Creative Innovator for Community 2020: YCIC 2020) เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มนักเรียน/นักศึกษาอาชีวศึกษาเกิดทักษะด้านวิทยาการคำนวณ (Computational Thinking) ภายหลังการอบรม ก็ควรจะได้มีกิจกรรมฝึกหัดให้ครูและนักเรียน/นักศึกษา ได้มีโอกาสลงมือปฎิบัติจริงผ่านกิจกรรมการประกวดโครงงานที่มีโจทย์จากสิ่งรอบตัวหรือปัญหาในชุมชน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนาจากความคิด จากการประกวด สู่การพัฒนาเป็นผลงานใช้ได้จริง โดยที่ สวทช. จะจัดให้มีที่ปรึกษาหรือโค้ช (Coach) ที่สามารถเติมเต็มความรู้ที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้นักเรียนอาชีวศึกษา เป็นนวัตกรรุ่นเยาว์ที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไปในอนาคต
          ในการนี้ สวทช. ได้รับการสนับสนุนจาก กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป (KASIKORN Business-Technology Group: KBTG) ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกร อีกทั้งมีความสนใจในการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาแก้ไขปัญหารอบตัวหรือปัญหาด้วย โดยโครงการนี้ จะเริ่มจากกลุ่มโรงเรียนอาชีวศึกษาที่มีผลงานหรือสิ่งประดิษฐ์ ที่สร้างสรรค์และพัฒนาขึ้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 70% เป็นจุดเริ่มต้น