รูปแบบการประกวด

เขียนโดย: sittichai เมื่อ: ศ. 20 มี.ค. 2563 - 16.05 น.

1. แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

          1.1 ประเภทนิสิต นักศึกษา หรือ U-YETI : University Young Electronics Technologists and Innovators
 

          1.2 ประเภทนักเรียน หรือ S-YETI : School Young Electronics Technologists and Innovators
 

2. หัวข้อในการส่งผลงานเข้าประกวด (Theme)
          ผู้แข่งขันจะต้องสร้างสรรค์โครงงานอิเล็กทรอนิกส์ โดยนำความรู้ หลักการ ทฤษฎีทางอิเล็กทรอนิกส์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์หรือความรู้ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์มาประยุกต์ เพื่อให้เกิดการนำอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ สำหรับการพัฒนาท้องถิ่น ตัวอย่างสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ได้แก่ วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมภาพถ่าย วิศวกรรมเสียง วิศวกรรมยานยนต์ วิศวกรรมขนส่ง วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างผลงานประยุกต์ ได้แก่ หุ่นยนต์ ระบบสมองกลฝังตัว ระบบจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพพืชและผลผลิตจากพืช เครื่องมือในการเพิ่มมูลค่าและการแปรรูปสินค้าเกษตร เครื่องมือแพทย์ วัสดุสำหรับทำอวัยวะเทียม อุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ระบบการสื่อสารไร้สาย เป็นต้น ทั้งนี้ในปีนี้ ได้กำหนดหัวข้อการแข่งขัน  5 ประเด็นมุ่งเน้นและความเข้มแข็งทางด้านเทคโนโลยี ประกอบด้วย
          1. ด้านเกษตรอัจฉริยะ (Precision Farming)
              การเกษตรแม่นยำ ประกอบด้วยอุปกรณ์ ระบบและเอไอ พร้อมสำหรับการติดตั้งใช้งานในพื้นที่การเกษตรในงบการลงทุนที่เป็นไปได้สำหรับเกษตรกร ได้แก่ Agri-map by What2Grow, Eco Plant Factory, FAARM Series, Aqua Grow, และ Supercane AI

          2. ด้านอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต (Smart Factory)
              อุตสาหกรรมอัจฉริยะที่ประกอบด้วยอุปกรณ์สมองกลฝังตัวแยกเป็นส่วน ๆ ใช้ในการตรวจจับหรือวัดค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม เชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ศูนย์กลางเพื่อใช้ในการบริหารโรงงาน ได้แก่ หน่วยตรวจวัดระยะไกลยูนิเวอร์แซล (uRTU) ระบบวิเคราะห์เสียงน้ำรั่วด้วย AI หุ่นยนต์สแกนและตรวจชิ้นงานแบบ 3 มิติ (Scan Robot & 3D Examiner) และโรงงานอัจฉริยะสำหรับการสาธิต (Smart Factory Demonstration) ซึ่งจะจัดตั้งอยู่ในพื้นที่ ARIPOLIS

          3. ด้านเมืองอัจฉริยะ (Smart City)
              ระบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเมือง เพื่อให้เกิดความน่าอยู่และเพิ่มคุณภาพชีวิต ได้แก่ Tanrabad Platform, Traffy Series, Smart City Data Service Platform และ Lunar หรือแพลตฟอร์มสร้างแผนที่สามมิติด้วยคลื่น Lidar

          4. ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Innovative Education)
              มุ่งเน้นพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบสารสนเทศที่สนับสนุนการเรียนเพื่อยกระดับทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 ระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เช่น ระบบและอุปกรณ์พื้นฐานเพื่อเพิ่มการเข้าถึง ICT สำหรับชุมชน ชนบท และแนวพื้นที่ชายขอบ คลังสารสนเทศ ภูมิปัญญาไทย เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

          5. ด้านสุขภาพครบวงจรและทันสมัย (Smart Health care)
              มุ่งเน้นพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพอัจฉริยะ (Smart Healthcare) และพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (Rehabilitation & Assistive Care) เช่น ระบบสารสนเทศและข้อมูล ด้านสุขภาพตลอดช่วงชีวิต เครื่องมือ/อุปกรณ์การแพทย์อัจฉริยะ ระบบและเครื่องมืออำนวยความสะดวก