คุณสมบัติและเงื่อนไข

เขียนโดย: sittichai เมื่อ: อ. 17 ส.ค. 2564 - 17.18 น.

คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ
          1. เป็นนักเรียน/นักศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการอาชีวศึกษาตามกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ
          2. เป็นคณาจารย์และบุคลากรด้านการศึกษา ที่สังกัดอยู่ในสถาบันการอาชีวศึกษาตามกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ
          3. มีความสนใจ และมีความคิดสร้างสรรค์ ในการพัฒนาผลงานหรือ เพื่อประยุกต์ใช้งานด้านการเกษตรต่างๆ สำหรับแก้ปัญหา หรือช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
          4. มีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการฯ และสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ตามกำหนดการของโครงการฯ ได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการฯ

เงื่อนไขในการสมัครเข้าร่วม
          1. รับสมัครเป็นทีม ทีมละ 4 ท่าน/ทีม (นักศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาด้านเทคโนโลยีเกษตร 2 ท่าน นักศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และด้านสารสนเทศ หรือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 2 ท่าน) และสามารถมีคณาจารย์/บุคลากรด้านการศึกษาอีก 2 ท่านเป็นที่ปรึกษา
          2. คิดผลงานสิ่งประดิษฐ์/เทคนิค/กระบวนการในการช่วยแก้ปัญหาหรือช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลผลิตที่มีคุณภาพ ส่งเข้าร่วมโครงการฯ โดยจะเป็นผลงานที่คิดสร้างสรรค์ และพัฒนาอยู่ก่อนแล้ว หรือคิดสร้างสรรค์ใหม่ก็ได้
          3. ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ต้องสรรหาเกษตรกรในชุมชน หรือเกษตรในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานศึกษา หรือที่พำนักของทีมผู้สมัคร ที่มีความสนใจให้นำผลงานสิ่งประดิษฐ์ หรือแนวความคิด (Idea) ของผู้สมัครไปทดลอง/ทดสอบการใช้งานยังพื้นที่การเกษตรของตนเอง มาก่อนเข้าร่วมโครงการฯ
          4. เตรียมข้อมูลตามผลงานที่จะส่งสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ในรูปแบบของ “ข้อเสนอแนวทางในการพัฒนาผลงาน” (Proposal) เพื่อชี้แจงให้คณะกรรมการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทราบถึงแนวทาง รูปแบบในการพัฒนา และการนำผลงานสิ่งประดิษฐ์ไปใช้งาน (สามารถเข้าดูรายละเอียดในก Proposal ได้ที่นี่ )
          5. กรอกใบสมัคร Online พร้อมส่ง “ข้อเสนอแนวทางในการพัฒนาผลงาน” ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านทางเว็บไซต์หลักของโครงการฯ ภายในวัน และเวลา ที่โครงการฯ กำหนด
          6. สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ครบตามวัน และเวลา ที่โครงการฯ กำหนด โดยจะมีการลงนามใน “ข้อตกลงการรับทุนสนับสนุนพัฒนาผลงาน” ของโครงการฯ ระหว่างผู้พัฒนา (ทีมผู้พัฒนาผลงานที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกให้ได้รับทุนสนับสนุนพัฒนาผลงาน) และผู้ให้ทุน (ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ)
          7. ผลงานของทีมใดมีการนำ "ระบบเกษตรอัจฉริยะ" (Handy Sense) มาใช้งานเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ หากมีเรื่องที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับเงื่อนไขการสมัครเข้าร่วมที่ไม่อยู่ในทั้ง 7 ข้อข้างต้นนี้ ให้ถือผลการพิจารณาของคณะทำงานโครงการ "ต่อกล้าอาชีวะ" ประจำปี 2564 เป็นที่สิ้นสุดตามแต่ละกรณี

การสมัครเข้าร่วมโครงการ    
          1. เปิดรับสมัคร โดยผู้สมัครต้องกรอกใบสมัคร Online (เท่านั้น) ตั้งแต่บัดนี้ - 8 ตุลาคม 2564 ผ่านทางเว็บไซต์หลักของโครงการฯ
          2. ก่อนทำการสมัคร ควรมีข้อมูลข้อผู้ร่วมทีม อาจารย์ที่ปรึกษา และข้อเสนอแนวทางในการพัฒนาผลงาน ให้พร้อม เพื่อความสะดวกในการกรอกใบสมัคร

คุณสมบัติเพิ่มเติม (คลิปวิดีโอ)
          สำหรับผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกรอบแรกแล้ว ต้องจัดทำคลิปวิดีโอ ความยาว 5-7 นาที ในการนำเสนอผลงาน เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการในการพิจารณาในการรับทุนสนับสนุนพัฒนาผลงาน โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
          1. ผลงานที่สมัครเข้าร่วมคืออะไร ได้ไอเดีย หรือแรงบันดาลใจมาจากอะไร
          2. แนะนำทีมงานผู้พัฒนาผลงาน และอาจารย์ที่ปรึกษา
          3. พัฒนาผลงานนี้ขึ้นเพื่อประโยชน์อะไร / ใช้แก้ปัญหาใดให้แก่เกษตรกร
          4. วัสดุอุปกรณ์ / เทคโนโลยี ที่นำมาใช้ มีอะไรบ้าง (ควรมีภาพประกอบ)
          5. อธิบายการทำงาน/การใช้งาน มาให้เข้าใจ
          6. กรณีมีการนำไปทดลอง ทดสอบ การใช้งานกับผู้ใช้งานจริง รบกวนช่วยยกตัวอย่างประกอบ (ถ้ามี)
          7. ปัญหาและอุปสรรคที่คาดว่าจะมี